“นิพนธ์ คนขยัน” นายก อบจ.บึงกาฬ จัดสุดยอดงานยางแดนอีสาน

ในปี 2561 จังหวัดบึงกาฬ ก้าวเข้าสู่วัย 8 ขวบ แม้จะเป็นจังหวัดน้องใหม่แต่เศรษฐกิจของจังหวัดบึงกาฬเติบโตแข็งแรง เพราะมีรายได้ก้อนโตจากธุรกิจยางพารา สร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงให้แก่ชุมชนท้องถิ่นแล้ว จังหวัดบึงกาฬยังได้ ผู้นำคนเก่งอย่าง “คุณนิพนธ์ คนขยัน” นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ (อบจ.บึงกาฬ) เข้ามาช่วยพัฒนาจังหวัด ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สาธารณสุข การอาชีพ และระบบสาธารณูปโภค ในปี 2561 คุณนิพนธ์ เตรียมแผนพัฒนาบึงกาฬให้เป็นสังคมแห่งความสุข รวมทั้งพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดบึงกาฬให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง  

 

ทุ่ม 30 ล้าน สร้างถนนยางพาราทั่วจังหวัด

ในปี 2560 อบจ.บึงกาฬ ได้ส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาล โดยนำยางแผ่นมาทำสนามยางพารา สนามกีฬาตะกร้อ สนามกีฬาวอลเลย์บอล ล้อจักรยาน ล้อจักรยานยนต์ และก่อสร้างถนนยางพาราสายแรกของจังหวัดบึงกาฬ ที่อำเภอเซกา จังหวัดบึงกาฬ ซึ่งเป็นนวัตกรรมการสร้างถนนยางพารารูปแบบใหม่แห่งเเรกในประเทศไทย

ถนนยางพาราเส้นแรกของจังหวัดบึงกาฬ เป็นผลงานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เรียกว่า ถนนลาดยางพาราโพลิเมอร์ดินซีเมนต์ โดยใช้วิธีผสมน้ำยางพาราราดลงบนถนนดินลูกรัง ช่วยให้ถนนยางพารามีความคงทนเเละมีลักษณะการอุ้มน้ำคล้ายถนนคอนกรีต แต่น่าเสียดายที่รูปแบบถนนยางพาราดังกล่าวยังไม่ผ่านการรับรองอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานรัฐบาล ทำให้โครงการถนนยางพาราของจังหวัดบึงกาฬในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาไม่คืบหน้าเท่าที่ควร

ปัจจุบัน รัฐบาลมีนโยบายแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ โดยเร่งรัดการใช้ยางพาราภายในประเทศ และส่งเสริมการแปรรูปยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ล่าสุดรัฐบาลได้ประกาศใช้มาตรา 44 แก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ โดยสั่งการให้หน่วยงานรัฐ รับซื้อน้ำยางทำถนน ตั้งเป้าเพิ่ม 2 แสนตัน ซึ่งเป็นข่าวดีสำหรับการแก้ปัญหายางพาราตกต่ำอย่างเป็นรูปธรรม

คาดว่า ภายในเดือนมกราคม 2561 กรมการปกครองส่วนท้องถิ่นจะทำหนังสือสั่งการยืนยันคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่เห็นชอบในหลักการให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ที่เปิดโอกาสให้หน่วยงานภาครัฐจัดซื้อยาง 2 แสนตันไปทำถนนได้ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ อบจ.แต่ละจังหวัดสามารถจัดสรรงบประมาณที่มีอยู่มาใช้ก่อสร้างถนนยางพาราได้

อบจ.บึงกาฬ วางแผนก่อสร้างถนนยางพารา ตามมาตรฐานข้อกำหนดของสถาบันวิจัยยาง กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ซึ่งเป็นผู้ออกแบบถนนยางมะตอยผสมยางพารา โดยใช้ยางพาราเข้ามาเป็นส่วนผสมในยางแอสฟัลต์ ประมาณ ร้อยละ 5 ถนนยางมะตอยผสมยางพาราดังกล่าว ถือว่ามีคุณภาพ มาตรฐาน มีความทนทานใช้งานได้ยาวนาน ประหยัดค่าซ่อมบำรุงถนนได้ค่อนข้างมาก

ในปีนี้ อบจ.บึงกาฬ ได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 30 ล้านบาท สำหรับก่อสร้างถนนยางพารารอบจังหวัด เพื่อสนองนโยบายรัฐบาลเช่นเดียวกับ อบจ.ทั่วประเทศ ส่วนแผนการจัดสร้างถนนยางพาราในจังหวัดบึงกาฬ จะพิจารณาจากคำร้องขอของประชาชนในแต่ละท้องถิ่นเป็นหลัก

การร่วมมือร่วมใจช่วยกันก่อสร้างถนนยางพาราทั่วประเทศครั้งนี้ คาดว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำได้ดี ทำให้ราคายางพาราภายในประเทศกลับมามีเสถียรภาพราคามากขึ้นในอนาคต

 

นโยบายการจัด “งานวันยางพาราบึงกาฬ”  

เป้าหมายการจัดงานวันยางพาราบึงกาฬที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีนั้น ทาง อบจ.บึงกาฬไม่ได้มุ่งส่งเสริมอาชีพการทำสวนยางของเกษตรกรชาวสวนยางในจังหวัดบึงกาฬเพียงอย่างเดียว แต่มุ่งจัดงานดังกล่าว เพื่อเป็นเวทีกลางเชื่อมโยงตลาดการค้ายางพารา และส่งเสริมอาชีพการทำสวนยาง ให้กับเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศไปพร้อมๆ กัน เช่น จัดประกวดแข่งขันการกรีดยางระดับประเทศ เป็นต้น ขณะเดียวกัน ใช้เวทีการจัดงานวันยางพาราบึงกาฬ เป็นกระบอกเสียงบอกเล่าความเดือดร้อนของชาวสวนยางทั่วประเทศไปถึงภาครัฐบาลได้รับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้น

บึงกาฬ แม้เป็นจังหวัดน้องใหม่ ไม่ได้ปลูกยางมานานเหมือนกับพื้นที่ภาคใต้ แต่ผมก็ภาคภูมิใจที่ อบจ.บึงกาฬได้เป็นเจ้าภาพจัดงานวันยางพาราบึงกาฬ เพื่อเป็นเวทีกลางแลกเปลี่ยนข้อมูลการค้าและส่งเสริมอาชีพการทำสวนยางอย่างยั่งยืนให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ

การจัดงานวันยางพาราบึงกาฬ มีจุดเริ่มต้นจากความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจของหน่วยงานภาครัฐ เอกชนทุกฝ่ายในจังหวัดบึงกาฬ ต้องขอขอบคุณผู้สนับสนุนหลักในการจัดงานดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง คือ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ และ คุณพินิจ จารุสมบัติ ซึ่งผลงานและชื่อเสียงการจัดงานวันยางพาราบึงกาฬ เป็นที่รู้จักของวงการค้ายางพาราทั้งในประเทศและต่างประเทศ

คุณวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยกย่องจังหวัดบึงกาฬว่า เป็นแบบอย่างที่ดี ตามแนวทาง “ประชารัฐ” ที่หน่วยงานภาครัฐ เอกชน อบจ. ประชาคม และสหกรณ์ต่างๆ ร่วมมือร่วมใจแก้ไขปัญหายางพาราอย่างยั่งยืน โดยลงทุนก่อสร้างโรงงานแปรรูปยางของชาวสวนยางแห่งแรกของภาคอีสาน ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า “บึงกาฬโมเดล” ในปัจจุบัน

สำหรับการจัดงานวันยางพาราบึงกาฬในปีนี้ ทาง อบจ.ได้เชิญ อบจ.จากทั่วประเทศเข้าร่วมงาน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการค้าและการตลาดร่วมกันในอนาคต นอกจากนี้ ยังได้เชิญ คุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล เข้ามาร่วมพิธีเปิดงาน เพื่อให้รัฐบาลได้รับทราบสถานการณ์ยางพารา ตั้งแต่ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ รวมทั้งปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยางพาราในปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้รัฐบาลเข้าใจปัญหาและยื่นมือเข้ามาดูแลแก้ไขปัญหาของเกษตรกรชาวสวนยางทั้งประเทศได้อย่างตรงจุดมากขึ้น

 

ขายหมอนยางราคาถูก

การจัดงานวันยางพาราบึงกาฬในปีนี้ ทางชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ จำกัด เตรียมนำสินค้าหมอนยางพารามาจำหน่ายในราคาพิเศษ เพียงใบละ 360 บาท จากราคาปกติที่ขายใบละ 500 บาท โดยจำหน่ายสินค้าจำนวนจำกัดเพียงแค่ 10,000 ใบ ในช่วงการจัดงานวันยางพาราปีนี้เท่านั้น เพื่อคืนกำไรสังคมให้ผู้บริโภคได้ซื้อหมอนยางพาราราคาถูกไปทดลองใช้ที่บ้าน

ราคาน้ำยางสดในวันนี้ (20 ธันวาคม 2560) อยู่ที่กิโลกรัมละ 33 บาท หมอนยาง 1 ใบ ใช้น้ำยางสดประมาณ 2.5 กิโลกรัม ต้นทุนค่าน้ำยางสด ต่อหมอนยาง 1 ใบ ยังใช้ไม่ถึง 100 บาท ขายหมอนยางในราคาใบละ 300 บาท หักต้นทุนค่าบริหารจัดการต่างๆ แล้ว ยังเหลือผลกำไรจากการขายหมอนยางถึงใบละ 100 บาท

ทุกวันนี้ ชาวบึงกาฬกว่า 70% ปลูกและกรีดยางด้วยตัวเอง โดยมีพื้นที่ทำกินครอบครัวละ 5-30 ไร่ น้ำยางสดถูกขายให้กับชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ จำกัด เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หมอนยาง ในอนาคต หากคนไทยหันมาสนับสนุนผลิตภัณฑ์หมอนยางพาราของบึงกาฬเพิ่มมากขึ้น เท่ากับช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยางมีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง

 

ธุรกิจแปรรูปยางของชาวสวนยางบึงกาฬ

สหกรณ์ชาวสวนยาง 13 แห่งของจังหวัดบึงกาฬ ได้รวมกลุ่มกันจัดตั้ง “ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ จำกัด” เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองราคาขายยางก้อนถ้วยกับกลุ่มพ่อค้า ต่อมาได้รับงบประมาณสนับสนุนแบบให้เปล่าจากรัฐบาล จำนวน 193,575,000 บาท เพื่อจัดตั้งโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์จากยางพารา ประกอบด้วย โรงงานผลิตน้ำยางข้น โรงงานผลิตยางแผ่นรมควันชั้น 3 โรงงานผลิตยางแท่ง (เอสทีอาร์ 20) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้ายางพารา เพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศ ลดความผันผวนราคายางพาราในตลาดโลก

ปัจจุบันโรงงานแปรรูปยางเสร็จสมบูรณ์ ทางชุมนุมสหกรณ์ฯ วางแผนขยายตลาดส่งออกหมอนยางไปต่างประเทศ เช่น จีน เวียดนาม ฯลฯ แต่ติดขัดในเรื่องขาดแคลนเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ ตอนแรก ทางชุมนุมสหกรณ์ฯ ได้ยื่นขอเงินกู้จาก ธ.ก.ส. แต่ไม่ได้รับอนุมัติ ผมในฐานะที่ปรึกษาชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ ก็อาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัวกับพันธมิตร ขอกู้เงินในนามส่วนตัวเพื่อให้ชุมนุมนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อดำเนินกิจการต่อไป

ในอนาคต ทางชุมนุมสหกรณ์ฯ วางเป้าหมายพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ยางแปรรูปให้มีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสการขาย เช่น ผลิตที่นอนยางพารา ยางลูกขุน ยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน รองเท้าบู๊ต รองเท้าแตะ ฯลฯ โครงการแปรรูปยางของชุมนุมสหกรณ์ฯ ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางพาราในท้องถิ่น ช่วยขยายโอกาสทางการตลาด และสร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางไปพร้อมๆ กัน ผลกำไรที่เกิดขึ้นจะถูกนำไปเฉลี่ยคืนให้กับเกษตรกรที่ขายน้ำยางสด ผู้ถือหุ้น และเป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับขยายกิจการของชุมนุมสหกรณ์ฯ ในอนาคต

 

 

ฝากการบ้าน “รัฐบาล”

ผมขอขอบคุณรัฐบาลที่อนุมัติงบประมาณ 193 ล้านบาท แบบให้เปล่า แก่ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ จำกัด สำหรับใช้ก่อสร้างโรงงานและอุปกรณ์แปรรูปยางพารา เพื่อให้โครงการดังกล่าวเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง อยากให้ภาครัฐบาลสนับสนุนเทคโนโลยีการแปรรูปและช่วยพัฒนาตลาดผลิตภัณฑ์ยางแปรรูปจากโรงงานดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เช่น ส่งเสริมการแปรรูปยางแผ่นสำหรับทำสนามกีฬายางพารา ส่งเสริมการผลิตยางล้อจักรยานยนต์ ยางล้ออีแต๊ก ซึ่งนิยมใช้มากในพื้นที่ภาคอีสาน

ทุกวันนี้ หน่วยงานภาครัฐ เช่น โรงพยาบาล สถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กรมกองทหารต่างๆ ต้องหาซื้อหมอน ที่นอนสำหรับใช้ในหน่วยงานต่างๆ เป็นประจำอยู่แล้ว จึงอยากให้รัฐบาลสั่งการให้หน่วยงานต่างๆ ช่วยรับซื้อผลิตภัณฑ์สินค้ายางแปรรูป จากผลงานของชุมนุมสหกรณ์ฯ เพื่อสนับสนุนการสร้างงาน สร้างอาชีพที่มั่นคงให้กับเกษตรกรชาวสวนยางอีกทางหนึ่ง