กศน. ปัตตานี เดินตามรอยพ่อ เผยแพร่ “เศรษฐกิจพอเพียง”

ปัจจุบัน รัฐบาลได้น้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” มาประยุกต์ใช้ปฏิรูปการศึกษาสู่ยุคศตวรรษที่ 21 ผ่านโครงการส่งเสริมการศึกษานอกระบบ โดยใช้ “กศน. ตำบล” เป็นกลไกขับเคลื่อนการจัดการศึกษาเพื่อสร้างโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตในชุมชน

และส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ ผู้สูงอายุ สตรี และเด็ก ภายใต้การเชื่อมโยงศูนย์เรียนรู้ทั้ง 4 ประเภท ได้แก่ ศูนย์เรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ประจำตำบล ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาประชาธิปไตยประจำตำบล ศูนย์ดิจิทัลชุมชน และศูนย์การศึกษาตลอดชีวิตในชุมชน เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศสืบไป

คุณเรวัฒน์ เพ็ชรสงฆ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัดปัตตานี

อยากรู้เรื่อง “ศาสตร์พระราชา” แวะหาคำตอบได้ที่ สำนักงาน กศน. จังหวัดปัตตานี ซึ่งได้ขับเคลื่อนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และกระบวนการเรียนการสอน “ศาสตร์พระราชา” สู่สถานศึกษา โดยจัดอบรมความรู้ให้ครู กศน. ให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และศาสตร์พระราชา เพื่อช่วยในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของครู รวมทั้งพานักศึกษาไปทัศนศึกษาดูงาน ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส

นิทรรศการพระราชประวัติ รัชกาลที่ 10

สำนักงาน กศน. จังหวัดปัตตานี เผยแพร่หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านการเรียนรู้ที่หลากหลาย เน้นการทำงานเป็นทีมและการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย เพื่อให้ประชาชนได้รับโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต

หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมีคุณค่าอย่างมาก เหมาะสำหรับนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน คุณเรวัฒน์ เพ็ชรสงฆ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน. จังหวัดปัตตานี ได้จัดแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งภายในสำนักงาน กศน. จังหวัดปัตตานี สร้างศูนย์เรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อพัฒนาอาชีพและทักษะชีวิต เน้นหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่บูรณาการกับวิถีชีวิตของชุมชน เช่น การปลูกพืชผัก ผลไม้ การเลี้ยงปลา การทำบัญชีครัวเรือน ฯลฯ โดยแบ่งเป็นฐานการเรียนรู้ต่างๆ มากมาย

บ่อเลี้ยงปลาทับทิมในกระชัง

เกษตรทฤษฎีใหม่

“เกษตรทฤษฎีใหม่” หรือ ทฤษฎีใหม่ในการพัฒนาการเกษตร คือแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร อันเป็นหลักการบริหารพื้นที่ประกอบอาชีพการเกษตรแบบผสมผสานรูปแบบหนึ่ง ที่มุ่งเน้นการเป็นแหล่งผลิตอาหารเพื่อการดำรงชีวิตในครอบครัว ในชุมชนเหลือแล้วขาย และแนวทางการปฏิบัติในการดำรงชีวิตอยู่อย่างพอเพียง มีลักษณะเป็นเกษตรกรรมทางเลือกที่มีความยั่งยืน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม

คุณเรวัฒน์ เพ็ชรสงฆ์ นำชมแปลงปลูกเสาวรส

กศน. ปัตตานี ได้สร้างแบบจำลองการจัดสรรพื้นที่อยู่อาศัยและที่ทำกินตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ (ขั้นต้น) แบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน ตามอัตราส่วน 30:30:30:10 โดยใช้พื้นที่ 30% สำหรับขุดสระเก็บกักน้ำ 30% ใช้ปลูกข้าวในฤดูฝน 30% ใช้ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก พืชไร่ พืชสมุนไพร และ 10% ใช้เป็นที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ และโรงเรือนอื่นๆ

ระบบน้ำวนในนาข้าว

ระบบน้ำวนในนาข้าว คือระบบการไหลเวียนของน้ำที่เป็นสัญญาณของความมีชีวิต การเคลื่อนที่ การแลกเปลี่ยนสารอาหารระหว่างพืช เพื่อการเพิ่มผลผลิตของข้าว ด้วยระบบชลประทานที่มีประสิทธิภาพ เปรียบเสมือนกับระบบไหลเวียนเลือดของร่างกาย การเคลื่อนที่ การแลกเปลี่ยนสารอาหารระหว่างเซลล์

บ้านพอกิน พอใช้ มีเก็บ

กศน. ปัตตานี ได้สร้างแบบจำลอง ในลักษณะบ้านพอกิน พอใช้ พอเก็บ เพียงพอสำหรับดำรงชีวิต เช่น มีการส่งเสริมระบบการผลิตบริเวณครัวเรือนแบบพอเพียง เช่น ปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงเป็ด ไก่ ปลา ทำปุ๋ยชีวภาพไว้ใช้เอง

โอ่งการออม

และนำเสนอ “โอ่งการออม” หรือ “โอ่งชีวิต” ซึ่งเป็นเครื่องมือช่วยวิเคราะห์เศรษฐกิจของชุมชน หรือบุคคล ว่ามีสิ่งใดเป็นรายรับ สิ่งใดเข้ามาเป็นประโยชน์หรือเข้ามาสนับสนุนชุมชน และมีสิ่งใดเป็นรายจ่าย สิ่งใดรั่วไหลออกไป หรือเป็นต้นทุนที่ต้องจ่าย หากรู้ที่มาของรายรับ และที่ไปของรายจ่ายก็จะเป็นข้อมูลในการจัดการด้วยการเพิ่มรายรับและลดรายจ่ายต่อไป

คอกเลี้ยงแพะ

หากใครอยากเลี้ยงแพะนม สำนักงาน กศน. จังหวัดปัตตานี เสนอแนวคิดให้สร้างโรงเรือนคอกแพะที่มีความสูง 3 เมตรขึ้นไป เพื่อให้โปร่งและมีการระบายอากาศได้ดี ทั้งนี้ ผู้สนใจอาจประยุกต์สร้างโรงเรือนคอกแพะโดยใช้สังกะสีหรือกระเบื้องลอนก็ได้ พื้นคอกควรเป็นพื้นซีเมนต์ ด้านข้างคอกก่อซีเมนต์บล็อกสูง ยกเว้นทางเข้าคอกทำเป็นลูกกรงเหล็กกลมมีกลอนหรือที่ล็อกประตูปิด-เปิดได้ จัดทำร่องระบายน้ำออกไปภายนอกตรงทางเดินสำหรับพื้นคอกปูด้วยฟางแห้งเพื่อซับความชื้น

การเลี้ยงไก่เบตง

ไก่เบตง เป็นไก่พื้นเมืองดั้งเดิมของอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ที่มีลักษณะเฉพาะตัวคือ ทั่วทั้งตัวจะมีขนน้อยมาก ขนมีสีทอง หางสั้น ตลาดมีความต้องการสูง เนื่องจากไก่เบตงมีเนื้อนุ่ม หนังกรอบ จึงเป็นสินค้าขายดีที่นิยมของผู้บริโภคทั่วไป สำหรับผู้สนใจเลี้ยงไก่เบตง ควรเลือกซื้อพันธุ์ไก่เบตงจากฟาร์มที่ได้รับการรับรองและเชื่อถือได้ ไก่พ่อแม่พันธุ์ต้องมีลักษณะตรงตามพันธุ์ โดยแม่พันธุ์จะต้องมีคุณสมบัติไข่ดก แข็งแรง น้ำหนักตัวไม่น้อยกว่า 1.4 กิโลกรัม พ่อพันธุ์ต้องมีขนาดตัวใหญ่ แข็งแรง มีเนื้อมาก น้ำหนักตัวไม่น้อยกว่า 2 กิโลกรัม สายพันธุ์ที่นิยมคือ สายพันธุ์สีเหลืองทอง

การเลี้ยงไก่เบตง ควรใช้โรงเรือนแบบกึ่งขังกึ่งปล่อย มีลานดินหรือบริเวณล้อมด้วยอวนหรือตาข่าย อาจจะเลี้ยงแบบรวมฝูงทั้งหมดหรือแบ่งเป็นห้องย่อยๆ อุปกรณ์ภายในโรงเรือนควรมีรางน้ำ รางอาหาร รังไข่ให้พร้อม กรณีเลี้ยงเพื่อฟักลูกไก่ออกจำหน่าย ต้องมีตู้ฟักไข่ และคอกอนุบาล รวมทั้งอุปกรณ์ให้ความอบอุ่นสำหรับกกลูกไก่เพื่อจำหน่าย ส่วนอาหารควรใช้อาหารสำเร็จรูปที่มีคุณค่าอาหารครบถ้วนตามความต้องการของไก่ในแต่ละช่วงอายุ และเสริมด้วยอาหารตามธรรมชาติในขณะปล่อยเลี้ยงในลานปล่อย

การเลี้ยงไก่เบตง เริ่มเลี้ยงด้วยไก่พ่อแม่พันธุ์ ในอัตราการผสมพันธุ์ 1 ต่อ 6 การเลี้ยงใช้วิธีกึ่งขังกึ่งปล่อย ไก่สามารถออกกำลังและหาอาหารที่มีตามธรรมชาติกินได้ด้วย จะเริ่มเก็บไข่เข้าฟักหลังไก่ไข่ไปแล้ว 3 สัปดาห์ แม่ไก่ 1 ตัว จะสามารถให้ลูกไก่ได้ประมาณ 4 รุ่น ต่อปี โดยแต่ละรุ่นจะมีไก่เลี้ยงรอดประมาณ 10-20 ตัว ผู้สนใจสามารถเลี้ยงไก่เบตงเพื่อจำหน่ายหรือเลี้ยงเป็นไก่เนื้อจำหน่ายให้ผู้บริโภคได้

การป้องกันโรค ควรทำวัคซีนป้องกันโรคที่สำคัญ ได้แก่ โรคนิวคาสเซิล โรคหลอดลมอักเสบติดต่อ ฝีดาษและอหิวาต์ รวมทั้งถ่ายพยาธิภายในก่อนนำไก่เข้าฟาร์มและถ่ายซ้ำทุกๆ 6 เดือน การเลี้ยงไก่เบตงมีค่าตอบแทนการเลี้ยงโดยคิดเปรียบเทียบค่าอาหารในระหว่างการทดลอง โดยใช้อาหารไก่พื้นเมือง คิดเป็นกิโลกรัมละ 13.66 บาท เปรียบเทียบกับราคาไก่มีชีวิต ในราคากิโลกรัมละ 80 บาท

จะเห็นได้ว่า ราคาขายเมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนค่าอาหารแล้ว ยังเหลือผลกำไรค่อนข้างสูง โดยเฉพาะไก่ตัวผู้ จะมีผลตอบแทนต่อตัวสูงกว่าไก่ตัวเมีย เมื่อเปรียบเทียบกับอายุและน้ำหนักไก่ที่พร้อมชำแหละหรือจำหน่าย ควรอยู่ในช่วง 16-20 สัปดาห์ เพราะเป็นขนาดที่ตลาดต้องการ เนื่องจากไก่เบตงมีขนาดตัวไม่เล็กหรือใหญ่จนเกินไปและราคาก็ไม่สูง

การปลูกไผ่หวาน

กศน. ปัตตานี แนะนำให้ผู้สนใจปลูกไผ่หวานในช่วงต้นฤดูฝน โดยขุดหลุมขนาด 30x30x30 เซนติเมตร ก่อนปลูกควรรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก 3 กิโลกรัม ต่อหลุม ระยะปลูก 4×4 เมตร ใช้ส่วนข้อลำต้นในการปลูก โดยการแยกหน่อหรือกอที่มีอายุ 1-1 ปีครึ่ง ตัดโดยวัดความยาวจากโคนขึ้นมาประมาณ 50 เซนติเมตร

หลังปลูก 8 เดือน ต้นไผ่หวานจะเริ่มให้หน่อ หลังปลูก 2-3 ปี จึงจะเริ่มให้ผลผลิตเต็มที่ ไผ่หวานเป็นไผ่ที่ออกหน่อดกมาก จึงต้องการอาหารมากตามไปด้วย ยิ่งให้น้ำ ให้ปุ๋ยมาก ยิ่งเป็นปุ๋ยหมักชีวภาพสูตรสำหรับไผ่ตงหวาน ยิ่งให้ผลผลิตเร็วขึ้น การตัดแต่งต้นไผ่ ไม่ควรให้มีลำไผ่หรือลำไผ่แก่เกิน 3 ลำ ต่อกอ หากไว้มากกว่านั้นจะทำให้ต้นไผ่ออกหน่อช้าเพราะมีอาหารบำรุงต้นไม่พอ และหน่อมีขนาดเล็ก ขายไม่ได้ราคา

การดูแลให้ไผ่ออกนอกฤดู หลังจากตัดแต่งกิ่งและลำไผ่ให้เหลือ 2-3 ลำแล้ว ให้ใส่ปุ๋ยหมักชีวภาพหรือปุ๋ยคอกรอบๆ ต้น ประมาณ 30 กิโลกรัม ต่อต้น แล้วคลุมด้วยฟางหรือแกลบดำเพื่อรักษาความชื้น ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 และ สูตร 46-0-0 สลับกันทุกๆ 2 สัปดาห์ โดยใส่ครั้งละ 2 กำมือ ต่อกอ และเสริมด้วยน้ำหมักชีวภาพสูตรเร่งหน่อ เร่งใบ และรดน้ำให้ชุ่มอยู่เสมอ หากเป็นช่วงฤดูแล้ง ควรให้น้ำวันเว้นวัน โดยใช้สปริงเกลอร์รดให้ทั่วบริเวณ ไม่ใช่เฉพาะโคนต้น เพื่อให้รากไผ่เจริญเติบโตทั่วบริเวณนั่นเอง

หลังปลูก 5 เดือน จะเริ่มเก็บผลผลิตออกขายได้วันเว้นวัน หลังจากปลูก 6 เดือน จะเก็บผลผลิตออกขายได้ทุกวัน จะได้ผลผลิตประมาณ 10 กิโลกรัม ต่อวัน ต่อไร่ ใช้มีดปลายแหลมตัดให้ความสูงของหน่อประมาณ 35 เซนติเมตร หรือตามต้องการของตลาด

การปลูกแก้วมังกรในบ่อซีเมนต์

กศน. ปัตตานี แนะนำให้ปลูกแก้วมังกรในช่วงฤดูฝน โดยขุดหลุมขนาด 50×50 เซนติเมตร นำเสาที่เจาะรูแล้วใส่ลงไปในหลุม ใช้ปูนซีเมนต์กลบหลุม นำปุ๋ยคอกใส่ลงไปในหลุมจนเกือบเต็มหลุม นำต้นแก้วมังกร 2-3 ต้นปลูกรอบๆ โคนเสา แล้วใช้ดินกลบให้เต็มหลุม ใช้เชือกฟางมัดต้นแก้วมังกรไว้เพื่อไม่ให้ต้นล้มหรือหัก

ต้นแก้วมังกร เป็นต้นไม้ประเภทเดียวกับกระบองเพชร มีนิสัยไม่ชอบน้ำ ควรให้น้ำสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ใส่ปุ๋ยคอกปีละ 3 ครั้ง ถ้าต้นแก้วมังกรออกยอดสูงพ้นเสานิดหน่อย ให้ใช้มือเด็ดปลายยอดทิ้ง เพื่อทำให้แก้วมังกรแตกยอดออกมากๆ

คุณเรวัฒน์ เพ็ชรสงฆ์ โชว์การปลูกแก้วมังกรในบ่อซีเมนต์

หญ้าที่ขึ้นใกล้โคนต้นควรถอนออกประจำเพื่อให้ต้นแก้วมังกรได้รับอาหารเต็มที่ การเก็บผลผลิตต้องให้ต้นแก้วมังกรมีผลแดงทั่วทั้งผล ทั้งนี้ อายุของผลแก้วมังกรตั้งแต่ออกดอกจนถึงเก็บผลได้ อยู่ประมาณ 2 เดือน เมื่อผลแก้วมังกรสุกเต็มที่แล้ว ให้ใช้กรรไกรตัดกิ่งตัดผลออกจากกิ่ง เพื่อไม่ให้กิ่งเสียหาย

คุณเรวัฒน์ คาดหวังว่า ศูนย์แห่งนี้จะช่วยจุดประกายการเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงให้กับประชาชนทั่วไป ที่ผ่านมา กศน. ปัตตานี ได้ฝึกอบรมสร้างแกนนำหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบทั่วทั้งจังหวัด เพื่อพัฒนาหมู่บ้านตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง

คณะครู กศน. จังหวัดปัตตานี

ดังนั้น ใครอยากเรียนรู้เพิ่มเติมเรื่องการปลูกผัก ก็ไปคุยกับปราชญ์ชาวบ้านด้านการปลูกผักที่อำเภอสายบุรี อยากรู้เรื่องการปลูกมะพร้าวน้ำหอมและแก้วมังกร ก็ไปคุยกับปราชญชาวบ้านที่อำเภอหนองจิก อยากรู้เรื่องการเลี้ยงสัตว์ก็ไปคุยกับปราชญชาวบ้านที่อำเภอแม่ลาน เพื่อนำความรู้เรื่องหลักเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริฯ ไปใช้ในชีวิตประจำวัน และพัฒนาต่อยอดอาชีพด้านการเกษตรได้อย่างยั่งยืน