ประสบการณ์บังคับ มะนาว ออกหน้าแล้งอย่างไร ให้ขายได้ราคาแพงทุกปี

ต่อจากฉบับที่แล้ว

  1. ทำไม ต้องงดน้ำ เพื่อให้มะนาวออกดอก ในช่วงกลางเดือนกันยายน หากไม่มีฝนตกต่อเนื่อง ก็ไม่ต้องรดน้ำต้นมะนาวเลย เป็นการเร่งให้ต้นมะนาวเกิดความเครียด จะออกดอกได้ง่าย ตามธรรมชาติแล้ว หากมะนาวขาดน้ำซักระยะแล้ว ได้รับน้ำใหม่ติดต่อกัน ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ก็จะออกดอกตามมา ถ้าต้นมะนาวยังไม่ออกดอก แนะนำให้ใช้สูตรการเร่งการสะสมอาหารและสูตรเร่งการออกดอก โดยอาจจะเติมสารโพลีเอไซม์ อัตรา 50 ซีซี กับ เทรนเนอร์ อัตรา 10 ซีซี ฉีดร่วมกับปุ๋ย สูตร 10-52-17 อีก 1-2 ครั้ง
  2. ต้นเดือนตุลาคม เร่งการออกดอก ในการเร่งการออกดอกนั้น ต้นมะนาวจะต้องพร้อม โดยให้สังเกตที่ใบมะนาวเป็นหลัก ใบมะนาวที่พร้อมจะออกดอก จะต้องมีสีเขียวเข้ม ใบยกตั้งขึ้นคล้ายผีเสื้อ หากเรามองไปในแปลงจะมองเห็นท้องใบมะนาวเป็นสีขาว อาการแบบนี้ จะดึงดอกได้ง่าย การดึงดอกจะใช้ปุ๋ยโพแทสเซียมไนเตรต (13-0-46) อัตรา 250 กรัม ร่วมกับฮอร์โมนกลุ่มสาหร่าย-สกัด เช่น แอ็กกรีน อัตรา 20 ซีซี ฉีดพ่น 1-2 ครั้ง มะนาวจะออกดอกตามมา หลังเปิดตาดอกจะต้องให้น้ำติดต่อกันทุกวัน เป็นเวลา 2-3 สัปดาห์ มะนาวจะเริ่มพัฒนาตาดอก โดยดอกของมะนาวจะออกตามใบอ่อนชุดใหม่ หรือออกดอกที่ซอกใบแก่ก็ได้
การออกดอกของมะนาวแป้นดกพิเศษหลังการฉีดปุ๋ยเปิดตาดอก

ช่วงออกดอก จะพบศัตรูทำลายดอกที่สำคัญ คือ เพลี้ยไฟ จะเข้าทำลายดอกตั้งแต่ดอกตูม จะทำให้ดอกแตกผสมไม่ติด นอกจากนั้น เพลี้ยไฟจะลงทำลายผิวของผลอ่อน ทำให้ผิวผลเป็นรอยสีน้ำตาล ผิวไม่สวย เสียหาย ถ้าลงทำลายมาก ผลอ่อนจะร่วง เสียหายมาก แนะนำให้ฉีดพ่นสารโปรวาโด (ชื่อสามัญ อิมิดาคลอพริด 70% WG) อัตรา 5 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร (สารโปรวาโด เป็นยาเย็นไม่ทำลายดอก) หรือเลือกใช้สารเอ็กซอล (ชื่อสามัญ สไปนีโทแรม) อัตรา 5-10 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร จำไว้เสมอ ช่วงดอกบานให้หลีกเลี่ยงการใช้ยาฆ่าแมลงกลุ่มยาน้ำมัน และยาเชื้อรากลุ่มคอปเปอร์ เพื่อไม่ให้ความร้อนจากยาที่ฉีดพ่นไปทำลายดอกมะนาว

โรคแคงเคอร์ทำลายใบมะนาว
  1. ดูแลผลอ่อน ถ้ามะนาวออกดอกได้ในช่วงเดือนตุลาคมก็จะเก็บขายได้ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน การดูแลผลอ่อนหลังดอกโรยแล้ว จะต้องคอยดูเพลี้ยไฟให้ดี เพราะเพลี้ยไฟจะคอยทำลายผิว ทำให้ขายไม่ได้ราคา ดูแลเรื่องการให้น้ำดีๆ ป้องกันผลร่วง เมื่อเห็นดอกมะนาวแล้ว จะต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันผลอ่อนหลุดร่วง ทางดิน อาจใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ เช่น สูตร 16-16-16 หรือหากไม่มี อาจใช้ปุ๋ยสูตรสะสมที่เราเหลืออยู่ก็ได้ ดอกมะนาวจากเริ่มบานจนถึงระยะเก็บเกี่ยว ใช้เวลา 4 เดือนขึ้นไป (แต่ถ้าราคาซื้อขายมะนาวแพง ผลมะนาวมีน้ำก็สามารถเก็บขายได้เลย ไม่จำเป็นต้องรอให้ผลมะนาวครบอายุแต่อย่างใด) และผลมะนาวจะเริ่มร่วงหล่นเมื่อมีอายุผลได้ 5 เดือนครึ่ง ถึง 6 เดือน ช่วงเลี้ยงผลอ่อนก็จะฉีดพ่นด้วยฮอร์โมน เช่น แคลเซียมโบรอน จิบเบอเรลลิน (เช่น จิพแซด) เพื่อช่วยขยายขนาดผลให้ผลมะนาวโตเร็วขึ้นให้ทันราคาขายที่แพง

ตัวอย่าง การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูในสวนมะนาว

หนอนแก้วกัดกินใบมะนาว

หนอนชอนใบ ชื่อสามัญ อะบาแม็กติน (ชื่อการค้า แจคเก็ต, โกลแจ็กซ์) ชื่อสามัญ อิมิดาคลอพริด (ชื่อการค้า โปรวาโด, โคฮีนอร์) ชื่อสามัญ ไทอะมีโซแซม (ชื่อการค้า มีโซแซม) ชื่อสามัญ โคลไทอะนิดิน (ชื่อการค้า แดนท็อซ) เลือกใช้และไว้สลับตัวยาในการฉีดรอบต่อๆ ไป เพื่อป้องกันการดื้อยา

เพลี้ยไฟ ชื่อสามัญ อิมิดาคลอพริด (ชื่อการค้า โปรวาโด), (เพลี้ยไฟ จะใช้อัตราที่สูงกว่าการฉีดกำจัดหนอนชอนใบ) ชื่อสามัญ สไปนีโทแรม (ชื่อการค้า เอ็กซอล) ชื่อสามัญ อะเซททามิพริด (ชื่อการค้า โมแลน) ชื่อสามัญ คาร์โบซัลแฟน (ชื่อการค้า ไฟท์ช็อต, พอสซ์) ชื่อสามัญ อีไธออน ชื่อสามัญ ไธอะมีโซแซม (ชื่อการค้า มีโซแซม) เลือกใช้และไว้สลับตัวยาในการฉีดรอบต่อๆ ไป เพื่อป้องกันการดื้อยา

เพลี้ยไก่แจ้ ชื่อสามัญ โคลไทอะนิดิน (ชื่อการค้า แดนท็อซ) ชื่อสามัญ อิมิดาคลอพริด (ชื่อการค้า โปรวาโด) ชื่อสามัญ ไดโนทีฟูแรน (ชื่อการค้า สตาร์เกิล) ชื่อสามัญ แลมป์ดาไซฮาโลทริน (ชื่อการค้า เคเต้, คาราเต้) เลือกใช้และไว้สลับตัวยาในการฉีดรอบต่อๆ ไป เพื่อป้องกันการดื้อยา

ไรแดง ชื่อสามัญ โพรพาริไกด์ (ชื่อการค้า โอไมท์) ชื่อสามัญ อามีทราซ ชื่อสามัญ สไปนีโทแรม (ชื่อการค้า เอ็กซอล) เลือกใช้และไว้สลับตัวยาในการฉีดรอบต่อๆ ไปเพื่อป้องกันการดื้อยา

ไรสนิม ชื่อสามัญ กำมะถัน (ชื่อการค้า กำมะถันทอง) ชื่อสามัญ โพรพาริไกด์ (ชื่อการค้า โอไมท์) ชื่อสามัญ อามิทราซ ชื่อสามัญ ไพริดาเบน (ชื่อการค้า แซนไมท์) เลือกใช้และไว้สลับตัวยาในการฉีดรอบต่อๆ ไป เพื่อป้องกันการดื้อยา

หนอนแปะใบ ชื่อสามัญ บาซิลลัส ทูริงเยนซิส หรือ เชื้อ “บีที” ถ้าเป็นชนิดน้ำ ใช้อัตรา 80-100 ซีซี ต่อน้ำ 20 ซีซี ถ้าเป็นชนิดผง ใช้อัตรา 60-80 กรัม ต่อน้ำ 20 ซีซี

และถ้าท่านสังเกต จะพบว่า สารเคมีบางชนิดสามารถคุมแมลงศัตรูได้หลายชนิดในการฉีดพ่นในครั้งนั้นๆ

หนอนชอนใบทำลายใบมะนาว

การใช้ปุ๋ยในสวนมะนาว

หลายท่านที่เคยอ่านหนังสือมะนาวและพบบทสัมภาษณ์ของเกษตรกรที่ปลูกมะนาวหลายรายว่า ใช้ปุ๋ยสูตรนั้นดี สูตรนี้ดี แต่ส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยเข้าใจว่า ปุ๋ยในแต่ละสูตรจะใส่ช่วงไหนบ้าง และมีข้อจำกัดในการใส่อย่างไร ทีมงานชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตรจังหวัดพิจิตร ได้สอบถามชาวสวนมะนาวที่มีประสบการณ์หลายท่าน และได้พูดคุยกับเกษตรกรชั้นเซียนเหล่านั้น ได้ให้ข้อแนะนำดังนี้ ข้างกระสอบปุ๋ยเขียน N-P-K คืออะไรบ้าง N = ไนโตรเจน ชาวบ้านให้นึกถึง ใบ, P = ฟอสฟอรัส ชาวบ้านให้นึกถึง ดอกและราก และ K = โพแทสเซียม ชาวบ้านให้นึกถึงผล ดังนั้น ถ้าสูตรปุ๋ย เขียนว่า 15-15-15 ก็ง่ายๆหมายถึง บำรุงใบ 15% บำรุงดอก 15% และเร่งผล 15%

 

สูตรเร่งใบอ่อน ทางดิน

กรณีเป็นต้นมะนาวปลูกใหม่ ให้ใส่ สูตร 25-7-7 เพื่อเร่งการแตกใบอ่อน ทรงพุ่มจะได้โตเร็ว แต่ถ้าไม่มีให้ใช้สูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 แทนได้ การใส่ปุ๋ยเคมีทางดิน มีข้อควรระวังคือ ต้องใส่แต่น้อย แต่เน้นใส่บ่อยครั้ง, ยกตัวอย่าง ใส่ปุ๋ยทางดินครั้งแรก หลังปลูกไปได้ 20 วัน โดยใช้ปลายนิ้วหยิบปุ๋ยหว่านรอบๆ โคนต้นแล้วรดน้ำตาม (ปริมาณที่ใส่น้อย จริงๆ ถ้าตวงก็ไม่น่าจะเกิน 1 ช้อนชา) การใส่ปุ๋ยมาก ในแต่ละครั้งจะทำให้สภาพดินเป็นกรดเร็ว และต้นมะนาวอาจจะน็อกปุ๋ยตายได้เมื่อใส่ครั้งต่อไป เมื่อเห็นว่าต้นมะนาวมีความเขียวลดลง หรือกำหนดเวลา ประมาณ 1-2 เดือน การใส่ในครั้งต่อไปให้เพิ่มปริมาณปุ๋ยทีละน้อย จนเมื่อมะนาวอายุ 1 ปี และมีทรงพุ่ม ประมาณ 1-2 เมตร ปริมาณปุ๋ยที่ใส่จะอยู่ที่ 2 กำมือ ต่อครั้ง เท่านั้น

มะนาวแป้นดกพิเศษ น้ำหอม เปลือกบาง เมล็ดน้อย เหมาะแก่การปลูกในเชิงการค้า

สูตรเร่งใบอ่อน ด้วยปุ๋ยทางใบ

ปุ๋ยที่ฉีดทางใบเป็นคนละชนิดกับที่ใส่ทางดิน ไม่แนะนำให้เอามาใช้ทดแทนกัน ปุ๋ยทางดินนั้น แม้จะเป็นสูตรที่เราต้องการ แต่ส่วนผสมที่ใส่ไว้เพื่อเพิ่มน้ำหนัก (filler) จะมีปัญหากับระบบการฉีดพ่นทางใบมาก ดังนั้น ถ้าเราจะฉีดพ่นทางใบ แนะนำให้ใช้ปุ๋ยที่ทำมาเพื่อฉีดพ่นทางใบเท่านั้น ในตลาดบ้านเราพบเห็นได้ 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ ปุ๋ยเกล็ด เช่น ปุ๋ยนิวตริไจเซอร์ (20-20-20) และ ปุ๋ยเหลว เช่น 12-12-12, 18-6-6 ในการฉีดพ่นปุ๋ยทางใบ แนะนำให้ใช้ตามอัตราที่ฉลากแจ้งไว้ เพราะปุ๋ยแต่ละสูตรอัตราการใช้ไม่เท่ากัน

แต่ควรฉีดในช่วงที่อากาศเย็น ไม่ร้อน โดยปกติจะนิยมฉีดช่วงเช้ามืด หรือช่วงเย็นๆ กรณีใช้ปุ๋ยเกล็ดต้องนำไปละลายน้ำให้ดีเสียก่อน จึงใส่ลงในถังฉีดพ่น ถ้าใส่ลงไปเลยอาจเกิดปัญหาการไม่ละลาย ทำให้หัวฉีดอุดตัน และได้รับประสิทธิภาพของปุ๋ยไม่เต็มที่

การฉีดพ่นปุ๋ยเร่งการแตกใบอ่อน

ในกรณีต้นมะนาวโทรม หรือไม่ยอมแตกใบอ่อน ปัญหานี้มักเกิดกับต้นมะนาวที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบราก หรือมะนาวมีประวัติออกลูกมากเกินไป จะต้องบำรุงและดูแลอย่างดี ทางดินแนะนำให้ตรวจวัดค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ของดินก่อน ส่วนมากถ้าปลูกนานๆ ดินมักจะมีสภาพเป็นกรด การตรวจ pH ของดินต้องไม่ต่ำกว่า 6 ถ้าตัวเลขน้อยกว่านี้ แสดงว่าดินเป็นกรดมาก เกษตรกรจะต้องเร่งปรับสภาพดินด้วยการใส่ปูน เช่น ปูนขาว ปูนโดโลไมท์ ฯลฯ หลังใส่ปูนตรวจวัด pH อีกครั้ง ถ้าอยู่ในระหว่าง (pH 6-7) ให้ถือว่าใช้ได้ ให้ใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก ปริมาณขึ้นอยู่กับขนาดและสภาพของต้น (ใส่แต่เพียงพอดี)

บางครั้งพบว่า หลังปรับสภาพดินด้วยปูนขาว หรือปูนโดโลไมท์แล้ว มะนาวกลับเขียวและฟื้นสภาพเอง โดยไม่ต้องใส่ปุ๋ยเคมี เพราะปูนได้ไปช่วยปลดปล่อยปุ๋ยในดินให้รากต้นมะนาวเอากลับไปใช้ได้ (อธิบายแบบชาวบ้านจะได้เข้าใจง่าย) ควรหมั่นตรวจดูสภาพโคนต้นมะนาว ว่ามีอาการของโรครากเน่า โคนเน่า หรือเปล่า? เพราะโรคเหล่านี้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ต้นมะนาวทรุดโทรม ไม่ยอมแตกใบอ่อน ถ้าพบต้องรีบแก้ไข เมื่อตรวจทุกอย่างดีแล้ว จึงใช้ปุ๋ยทางดิน ช่วยให้การแตกใบอ่อนเร็วขึ้น และสม่ำเสมอ สูตรที่นิยมใช้และหาง่าย คือ สูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 การใส่ปุ๋ยทางดินกับมะนาวที่โต หรือให้ผลผลิตแล้ว

หลายท่านอาจเคยได้พบบทความที่ว่า ถ้าต้นมะนาวมีอายุ 4-5 ปี ใส่ต้นละ 2 กิโลกรัม คำว่า 2 กิโลกรัมไม่ใช่ใส่ครั้งเดียว ให้แบ่งใส่ 2-3 ครั้ง เพราะถ้าใส่ปริมาณสูงในครั้งเดียว ปุ๋ยจะเป็นพิษได้ ต้นมะนาวเราก็ใช้ไม่ทัน สูญเสียเยอะกว่า สรุปได้ว่าการใส่ปุ๋ยเคมีให้กับต้นมะนาวควรใส่น้อยแต่บ่อยครั้ง

ข้อควรจำอีกอย่าง คือ หลังใส่ปุ๋ยเคมีทุกครั้ง ต้องรดน้ำตามจนปุ๋ยเคมีละลายจนหมด ไม่ใช่ใส่แล้วปล่อยไว้อย่างนั้น มะนาวไม่สามารถเอาปุ๋ยเม็ดไปใช้ประโยชน์ได้เลย ถ้าปุ๋ยไม่ละลาย ตรงนี้พบบ่อยมาก และเป็นข้อเสียของเกษตรกรที่ไม่รู้จักวิธีการ มีข้อสงสัยว่า ทำไม การใส่ปุ๋ยมะนาวจึงไม่แนะนำให้พรวนดินกลบ ต้องบอกเลยว่า อย่าพรวนดินที่บริเวณต้นมะนาว ไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ตาม เพราะรากมะนาวอ่อนแอมาก การที่เราพรวนดิน จะไปตัดรากให้เกิดแผล และโรครากเน่าจะเข้าทำลายทันที ดังนั้น จึงไม่แนะนำให้พรวนดินให้กับต้นมะนาวเด็ดขาด

การติดผลเป็นพวงเป็นอีกหนึ่งลักษณะพิเศษของสายพันธุ์

การฉีดปุ๋ยทางใบให้กับมะนาว เพื่อกระตุ้นการแตกใบอ่อน

แนะนำว่า ถ้าต้นโทรมมาก ใช้ปุ๋ยเหลวสูตรตัวหน้าสูง เช่น 30-0-0 ร่วมกับสารสกัดธรรมชาติ เช่น สาหร่าย-สกัด, ปุ๋ย 30-0-0 ใช้อัตรา 30-40 ซีซี และสาหร่าย-สกัด 20-60 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร กรณีโทรมไม่มาก ให้ใช้ปุ๋ยทางใบ สูตรเสมอ เช่น นิวตริไจเซอร์ (20-20-20) หรือปุ๋ยเหลว สูตร 12-12-12 แทน ไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยตัวหน้าสูงอย่างเดียว (อัตราใช้ดูตามคำแนะนำในฉลาก) การฉีดพ่นปุ๋ยทางใบนั้น สามารถฉีดร่วมกับสารป้องกันกำจัดโรคและแมลงพร้อมในคราวเดียวกันได้ เพื่อเป็นการประหยัดต้นทุนการฉีดและประหยัดเวลา แต่ถ้าไม่แน่ใจหรือไม่มั่นใจว่าจะผสมกันได้ไหม ให้ลองเอายาที่เราจะฉีดทั้งหมดมาผสมในถังน้ำขนาดเล็กก่อน เพื่อดูว่าสามารถเข้ากันได้ดีหรือเปล่า ถ้าผสมแล้วของผสมที่ได้เป็นวุ้น หรือตกตะกอน ไม่แนะนำให้ฉีดพ่น ตรงนี้เกษตรกรต้องคอยจดจำไว้ จะได้ไม่สับสน เมื่อผสมยาในคราวต่อไป

 

ปุ๋ยเร่งการออกดอก สูตรไหนดี

หลายท่านสงสัยว่า ถ้าเราจะทำมะนาวให้ออกดอกหน้าแล้ง จะฉีดปุ๋ยตัวไหนดี ฉีดกี่ครั้งถึงจะออก หรือ แม้แต่บางท่านทำตามคำแนะนำทุกอย่าง ก็ยังไม่เห็นดอกมะนาวเลย ตรงนี้ขอบอกตรงๆ เลยว่า การบังคับมะนาวให้ออกดอกตามที่ต้องการนั้น เป็นเรื่องยากสำหรับมือใหม่ จึงแนะนำว่า ต้องลองศึกษาด้วยตัวเองก่อน คนที่ทำมะนาวจนชำนาญ เขาสามารถเลือกใช้สูตรปุ๋ยได้โดยไม่ต้องระบุสูตรที่ชัดเจน เอาแค่ใกล้เคียงกัน ก็ใช้ได้แล้ว

สูตรปุ๋ยที่แนะนำ ช่วงสะสมอาหารของมะนาวจะต้องมีโครงสร้างสูตรปุ๋ย สัดส่วน 1:1:5 ส่วน หรือ 1:2:5 ส่วน อย่างเช่น สูตร 1:1:5  เช่น ปุ๋ยสูตร 5-5-25, อย่างเช่น สูตร 1:2:5 เช่น ปุ๋ยสูตร 3-16-36 (เฟอร์ติไจเซอร์) แต่ถ้าไม่มี หรือหาไม่ได้ จะใช้ปุ๋ยทางใบ สูตร 0-52-34 หรือ 10-52-17 แทน, ตัวอย่างสูตรปุ๋ยช่วงสะสมอาหาร 3-16-36 อัตรา 40 กรัม, เฟตามิน อัตรา 10 ซีซี หรือ 0-52-34 อัตรา 100 กรัม, สังกะสี อัตรา 20 ซีซี ฉีดพ่นช่วงเช้า ประมาณ 3-4 ครั้ง ห่างกัน 7-10 วัน ในช่วงนี้ถ้าเป็นไปได้ ห้ามรดน้ำ โดยเด็ดขาด ถ้ามีฝนตกจะต้องเร่งระบายน้ำออกจากบริเวณต้นมะนาวให้เร็วที่สุด

ส่วนทางดิน จะใช้ปุ๋ย สูตร 9-24-24 หรือ 8-24-24 เป็นหลัก เพราะหาซื้อง่าย การใส่จะให้ใส่ในช่วงก่อนเริ่มสะสมอาหารทางใบ ใส่แล้วรดน้ำให้ชุ่ม จากนั้นเมื่อเราเริ่มสะสมอาหารทางใบ เราจะไม่ใส่ปุ๋ยทางดินอีกเลย จนกว่าจะดึงดอก เพราะต้องการให้ดินแห้ง เมื่อถึงเวลาใกล้ดึงดอกเกษตรกรบางรายจะเปลี่ยนสูตรปุ๋ยทางใบ จากสูตร 0-52-34 มาเป็นสูตร 10-52-17 เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ตาดอกเริ่มพัฒนา การใช้ปุ๋ยสูตร 10-52-17 จะใช้อีกประมาณ 2 ครั้ง เมื่อสังเกตเห็นตาดอกเริ่มบวมปูดโตโผล่มา จึงดึงดอก

นำมะนาวไปคัดขนาดผล

สูตรปุ๋ย ที่นิยมใช้เปิดตาดอก

ปุ๋ยโพแทสเซียมไนเตรต (13-0-46) อัตรา 300 กรัม สาหร่าย-สกัด อัตรา 50 ซีซี ฉีดพ่นสัก 2-3 ครั้ง ห่างกัน 7-10 วัน ส่วนทางดิน จะใส่ปุ๋ย สูตร 9-24-24 อีกครั้ง พร้อมกับเปิดน้ำให้แปลงปลูกชุ่มน้ำติดต่อกัน 2 สัปดาห์ จุดนี้เกษตรกรหลายรายไม่เข้าใจว่า ทำไม ต้องเปิดน้ำทุกวัน การเปิดน้ำทุกวัน (เปิดให้ชุ่ม น้ำไหลท่วมเลย) จะช่วยกระตุ้นให้มะนาวออกดอกดีมาก หลายท่านทำตามขั้นตอนมาทั้งหมด แต่มาตกม้าตายตอนท้าย คือไม่ยอมเปิดน้ำติดต่อกัน จึงทำให้การออกดอกไม่ดี

หากมีข้อสงสัยในการบังคับมะนาวออกหน้าแล้ง ติดต่อ “สวนคุณลี” อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร โทร. (081) 886-7398, (056) 613-021