เกษตรกรชาวสุพรรณฯ ทำสวนผสมผสาน ผลผลิตหลากหลาย ขายได้ทั้งสวน

ปัจจุบัน ผู้ที่เริ่มต้นเป็นเกษตรกรรายใหม่ ได้มีการปรับตัวของการทำเกษตรให้สอดคล้องกับการตลาดมากขึ้น โดยเน้นทำสวนแบบผสมผสานที่ไม่เน้นพืชเชิงเดี่ยวมากเกินไป เพราะการทำพืชเชิงเดี่ยวมีผลในเรื่องของราคา เมื่อพืชที่ปลูกอยู่นั้นมีกลไกของราคาลดลง ก็จะยิ่งทำให้เกษตรกรมีรายได้ลดน้อยลงตามไปด้วย จนเกิดเป็นภาระหนี้สินทำให้การทำเกษตรไม่ยั่งยืน อันเนื่องมาจากผลกำไรน้อยหรือได้เงินไม่เพียงพอกับต้นทุนการผลิตนั้นเอง

คุณไกรจักร เผ่าพันธ์ ทำสวนผสมผสานอยู่ที่ ตำบลนางบวช อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี เขาได้ศึกษาและปลูกไม้ผลแบบผสมผสาน มีการจัดโซนการผลิตภายในสวนให้ลงตัว ทำให้สามารถมีผลผลิตออกขายสู่ตลาดได้หลากหลาย เมื่อพืชผลบางชนิดราคาตกต่ำ ก็ยังมีผลผลิตชนิดอื่นช่วยประคับประครอง ทำให้มีเงินจากการขายผลผลิตพอมีกำไรเป็นเงินเก็บได้

พื้นที่ภายในสวน

คุณไกรจักร เล่าให้ฟังว่า เมื่อครั้งที่ยังเป็นเด็ก ครอบครัวของเขามีอาชีพทำการเกษตรเป็นหลัก จึงทำให้เขาได้ซึมซับและเรียนรู้เรื่องของการทำเกษตรมาโดยเสมอ เมื่อมีโอกาสได้มาลงมือทำสวนเป็นของเขาเอง ทำให้เกิดแนวความคิดที่อยากทำเป็นสวนผสมผสาน โดยไม่ยึดการทำพืชเชิงเดี่ยวเหมือนครอบครัว มีพืชหลากหลายชนิดจัดสรรลงตัวในแบบที่เขาใฝ่ฝันไว้

คุณไกรจักร เผ่าพันธ์

“เราโตมากับครอบครัวที่ทำเกษตร ทุกอย่างที่เราเห็นก็เหมือนอยู่ในสายเลือด ซึ่งเราเองก็มีความชอบในเรื่องของการเกษตรอยู่แล้ว พอมีครอบครัว ก็เลยมองไปถึงว่าอยากจะปลูกไม้ผลหลายๆ ชนิด ไว้ให้ลูกได้มีสวนที่ผมทำไว้ จึงได้มาบุกเบินจากพื้นที่นา มาทำสวนไม้ผลแบบผสมผสาน ช่วงแรกๆ คนแถวนี้ก็มองผมว่าบ้ารึเปล่า เพราะพื้นที่รอบๆ นี่ทำนากันหมด มีเราที่มาปลูกไม้ผล แต่พอผลผลิตออกมา ก็มองว่าสิ่งที่เราทำตอบโจทย์ในเรื่องการตลาด เพราะสามารถมีสินค้าหลากหลายขายทำราคาได้” คุณไกรจักร เล่าถึงที่มา

พื้นที่ภายในสวนไม้ผลก่อนที่จะเริ่มนำไม้ยืนต้นต่างๆ มาปลูกนั้น คุณไกรจักร บอกว่า แหล่งน้ำถือว่าสำคัญในการทำเกษตร ขุดบ่อน้ำเป็นร่องสวนให้กับต้นไม้ พร้อมทั้งนำไม้หลายชนิดเข้ามาปลูก เช่น ไผ่ มะม่วง ขนุน มะนาว กล้วยหอม ส้มโอ ชะอม และอื่นๆ อีกหลายชนิด โดยจัดให้ไม้แต่ละชนิดอยู่ในโซนที่ต้องการ แต่ไผ่จะปลูกให้อยู่รอบนอกของสวนเพื่อเป็นแนวกำบังลมให้กับสวน

โซนปลูกมะม่วง

ในช่วงแรกที่ไม้ผลภายในสวนยังไม่เจริญเติบโตให้ผลผลิต คุณไกรจักร บอกว่า จะใช้พื้นที่ให้เป็นประโยชน์ด้วยการหาพืชผักสวนครัวมาปลูก โดยในช่วงนั้นจะมีรายได้จากการขายผักสวนครัว ทำให้เกิดรายได้ใช้จ่ายหมุนเวียน เมื่อไม้ผลเริ่มเจริญเติบโตพร้อมที่จะให้ผลผลิตได้ จะดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพพร้อมขายออกสู่ตลาด

“การที่เราปลูกหลายๆ อย่าง ต้องบอกเลยว่ามันทำให้ผลผลิตเรามีหลากหลาย อย่างช่วงหน้าฝนที่ผ่านมา ไผ่ที่ปลูกมีหน่อออกมา สามารถตัดขายได้ ส่วนไม้ไผ่นำมาใช้ประโยชน์ด้วยการเป็นไม้ค้ำกล้วยหรือค้ำยันไม้ผลอื่นๆ อย่าง กล้วยหอม ลงทุนปลูกครั้งเดียว สามารถทำเงินได้ทั้งปี หลังการปลูกมีน้ำรดอย่างเพียงพอ ซึ่งสวนเรามีร่องน้ำใช้น้ำเพียงพอ กล้วยหอมเลยให้ผลตัดขายได้ตลอดทั้งปี” คุณไกรจักร บอก

ตัดกล้วยหอมส่งขาย

ดังนั้น ในเรื่องของการทำการตลาดเพื่อขายผลผลิตภายในสวนนั้น คุณไกรจักร บอกว่า จะดูไม้ผลตามฤดูกาลแต่ละชนิดตามความเหมาะสมที่จะส่งขาย หากช่วงไหนที่พืชครบรอบให้ผลผลิตจะดูแลเป็นอย่างดีและนำผลผลิตขาย ส่วนในเรื่องของราคาขายขึ้นอยู่ตามกลไกตลาด ถ้าช่วงนั้นผลผลิตในสวนบางตัวได้ราคาดี ก็ทำให้ได้ผลกำไรมากขึ้น แต่โดยรวมเมื่อเทียบกับปลูกพืชเชิงเดี่ยวแล้ว การทำสวนแบบผสมผสานสามารถทำเงินได้หลากหลายสำหรับเขา

พื้นที่ปลูกไผ่

โดยผลผลิตบางส่วนมีแม่ค้าที่อยู่ในพื้นที่เข้ามารับซื้อถึงสวน และที่เป็นผลผลิตที่มีปริมาณมากจะส่งให้กับลูกค้าที่ติดต่อไว้ จึงทำให้มีรายได้หมุนเวียนอยู่เสมอ เรียกได้ง่ายๆ ว่า ทุกอย่างภายในสวนผสมผสานแห่งนี้สามารถเกิดรายได้ทุกช่วงเวลาทีเดียว

“สำหรับผมเวลานี้ สวนผสมผสานคือคำตอบ เพราะอย่างที่ได้สัมผัสมา ทุกอย่างขายได้จริง ช่วงไหนที่อีกอย่างราคาไม่ดี เรายังได้อีกอย่างที่มีราคา จึงทำให้เงินลงทุนที่ลงไปไม่เสียเปล่า มีผลกำไรมาชดเชยกัน ซึ่งผมมองว่าไม้ผลก็เหมือนน้ำซึมบ่อทราย หากดูแลรักษา ใส่ปุ๋ยบำรุงดินอยู่เสมอ ไม้ภายในสวนทั้งหมดสามารถให้ผลผลิตได้ทุกฤดูกาลและทุกปี จึงไม่ต้องกลัวในเรื่องของราคาตกต่ำของพืชตัวไหนเลย เพราะเรามีทุกอย่างที่ชดเชยในเรื่องของราคาซึ่งกันและกัน” คุณไกรจักร บอก

ตัดหน่อไม้ขายได้ทุกปี

สำหรับท่านใดที่สนใจในเรื่องของการทำเกษตร แต่อยากจะลงมือทำเพราะความชื่นชอบ คุณไกรจักร แนะนำว่า อาจจะเริ่มจากการปลูกพืชเพียงไม่กี่ชนิดแบบที่ชอบรับประทานก่อนก็ได้ และเมื่อผลผลิตออกมาดีมีพื้นที่ว่างส่วนไหนของบ้าน ก็หาซื้อพืชหลายๆ ชนิดเข้ามาปลูก ช่วยทำให้ใช้พื้นที่ได้อย่างคุ้มค่า อย่างน้อยก็มีผลผลิตทางการเกษตรไว้รับประทานในครัวเรือน และเมื่อมีปริมาณที่มากขึ้น รายได้จากสิ่งที่ทำก็จะกลับคืนมาสู่ผู้ลงมือทำอย่างแน่นอน

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณไกรจักร เผ่าพันธ์ หมายเลขโทรศัพท์ 093-954-2889