เกษตรกรบึงกาฬ ใช้ปุ๋ยชีวภาพในสวนยาง ต้นยางพาราให้ผลผลิตดี แม้ราคาตกยังขายมีกำไร

คุณพัฒนะ มีพรหม นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการพิเศษ (หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ) สำนักงานเกษตรจังหวัดบึงกาฬ ให้ข้อมูลว่า ภายในจังหวัดบึงกาฬมีเกษตรกรที่ทำสวนยางพาราขึ้นทะเบียนอยู่จำนวน 8 แสนกว่าไร่ ซึ่งการทำสวนยางพาราเป็นอาชีพหลักของประชากร รองลงมาคือการทำนา 4 แสนกว่าไร่ เน้นปลูกเพื่อบริโภคเองภายในครัวเรือนเท่านั้น ดังนั้น ในเรื่องของราคาจำหน่ายผลผลิตข้าวจึงไม่มีปัญหาเท่ากับยางพารา

โดยการจำหน่ายยางพาราส่วนใหญ่ของเกษตรกรเป็นการจำหน่ายยางแบบยางก้อนถ้วย ราคารับซื้อปัจจุบันอยู่ที่ 15-17 บาท ต่อกิโลกรัม ซึ่งอนาคตในจังหวัดบึงกาฬจะมีการสร้างโรงงานรับซื้อน้ำยางจากเกษตรกรมากขึ้นด้วยการสร้างโรงงานเพิ่ม ก็จะทำให้เกษตรกรมีทางเลือกในการจำหน่ายยางพารา จากเดิมที่เป็นยางก้อนถ้วยก็พัฒนาจำหน่ายเป็นแบบน้ำยางที่มีราคามากกว่า 30 บาท ต่อกิโลกรัม

“ส่วนใหญ่แล้วเกษตรกรภายในพื้นที่บึงกาฬ ยังใช้แรงงานภายในครอบครัวช่วยกันทำงานอยู่ จึงทำให้ต้นทุนการผลิตไม่สูง เพราะปริมาณการทำสวน ยังอยู่ในเกณฑ์ที่เกษตรกรสามารถทำกันเองได้ภายในครัวเรือน ส่วนพื้นที่เหลือจากนั้น ก็จะมีการปลูกพืชแซมเข้ามาเสริม โดยเฉพาะในเรื่องของไม้ผลที่จังหวัดบึงกาฬสามารถปลูกได้มีคุณภาพดี รวมทั้งการเลี้ยงปลาและปศุสัตว์ ทำให้เกษตรกรทุกวันนี้ไม่ได้เน้นเป็นเกษตรเชิงเดี่ยว แต่มีการทำผสมผสานมากขึ้น จึงมีผลผลิตหมุนเวียนเกิดเป็นรายได้หลากหลาย พร้อมทั้งทำสวนยางแบบลดต้นทุนการผลิต ถึงช่วงที่ราคายางพาราตกต่ำเกษตรกรก็ยังสามารถมีกำไรจากการทำสวนต่อไปได้” คุณพัฒนะ กล่าว

คุณทองใบ ทองนาค และภรรยา

คุณทองใบ ทองนาค อยู่บ้านเลขที่ 71 หมู่ที่ 10 ตำบลคำแก้ว อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ เป็นเกษตรกรทำสวนยางพารามากว่า 20 ปี มีการนำปุ๋ยชีวภาพมาลดต้นทุนการผลิต พร้อมทั้งเสริมรายได้ด้วยการเลี้ยงปลาและปศุสัตว์ จึงทำให้มีรายได้หมุนเวียนนำมาใช้จ่ายภายในครัวเรือนได้เป็นอย่างดี

คุณทองใบ เล่าให้ฟังว่า ยึดอาชีพทำการเกษตรเป็นรายได้หลักของครอบครัว ช่วงแรกเริ่มทำไร่มันสำปะหลังก่อน ต่อมาราคาผลผลิตมันสำปะหลังในขณะนั้นยังไม่ดีเท่าที่ควร จึงได้ปรับเปลี่ยนมาทำสวนยางพาราในเวลาต่อมา จึงได้ศึกษาการปลูกและช่องทางการตลาด นำองค์ความรู้ที่ได้มาลงมือทำสวนยาพาราในช่วงปี 2536 จำนวน 25 ไร่ และเมื่อประสบผลสำเร็จจึงขยับขยายพื้นที่ปลูกต้นยางพาราเพิ่มขึ้น จนมีเนื้อที่ปลูกยางพาราทั้งหมดอยู่ที่ 40 ไร่

พื้นที่ภายในสวนยางพารา

“ช่วงที่มีการส่งเสริมเราก็เข้าไปศึกษากับสำนักงานเกษตรอำเภอ เพื่อเรียนรู้และศึกษาถึงวิธีการต่างๆ นำมาปรับใช้กับพื้นที่ โดยช่วงแรกการปลูกยางพารา เราใช้ระยะห่างระหว่างต้นและแถวอยู่ที่ 3×6 เมตร ระยะนี้จะได้จำนวนต้นที่มากแต่ต้นยางพาราจะเล็ก และบางส่วนก็ใช้ระยะห่างอยู่ที่ 3×7 เมตร ได้จำนวนต้นปลูกน้อยแต่ต้นยางพาราได้ขนาดที่ใหญ่ ช่วงแรกดูแลใส่ปุ๋ยปีละ 2 ครั้ง พรวนดินไปรอจนกว่าไม้จะใหญ่เริ่มกรีดได้ขายได้” คุณทองใบ บอก

การกรีดยางก้อนถ้วย

ต้นยางพาราที่พร้อมสำหรับให้กรีดน้ำยางได้นั้น ต้องมีอายุอย่างต่ำ 6-7 ปีขึ้นไป คุณทองใบ บอกว่า ในช่วงนั้นก็สามารถทำการตลาดได้เป็นอย่างดี พร้อมทั้งมีการใช้ปุ๋ยเคมีอยู่เสมอ ยังไม่ได้คำนึงถึงเรื่องการประหยัดต้นทุน ต่อมาเมื่อราคายางราคามีแนวโน้มตกต่ำ ทำให้มองเห็นถึงความสำคัญของการประหยัดต้นทุนการผลิตมากขึ้น จึงนำปุ๋ยชีวภาพเข้ามาปรับเปลี่ยนใช้ภายในสวน แบบค่อยเป็นค่อยไปไม่ได้หยุดใช้เคมีในทันที

เมื่อวิธีการใช้ปุ๋ยชีวภาพสามารถลดต้นทุนการผลิตค่อนข้างแน่นอนอยู่ตัวแล้ว คุณทองใบจึงนำปุ๋ยชีวภาพเข้ามาใช้กับสวนยางพาราอยู่ตลอด ซึ่งน้ำยางที่ได้ก็ไม่ได้ลดน้อยและคุณภาพก็ไม่ต่างไปจากเดิม และที่เห็นได้ชัดคือจากพื้นที่ทำสวนยางพารา 40 ไร่ จากเดิมที่ต้องเสียเงินซื้อปุ๋ยเคมีอยู่ที่ 70,000 บาท ต่อปี พอทำสวนแบบประหยัดต้นทุน ทำให้การซื้อปุ๋ยเคมีลดลงตามไปด้วยเหลือเพียง 40,000 บาท ต่อปี

“การกรีดยางขายที่สวนของผม จะใช้วิธีแบบขายเป็นยางก้อนถ้วยเป็นส่วนใหญ่ เพราะที่สวนใกล้แหล่งรับซื้อ และทำให้เราสามารถมีเวลาว่างไปทำงานอื่นได้ด้วย โดยการกรีดยางก้อนถ้วย สวนของผมจะกรีดแบบวันเว้นวัน จะได้ยางก้อนถ้วยอยู่ที่ 5 มีด เก็บขายทุก 10 วัน ได้ยางก้อนถ้วยอยู่ที่ 1 กิโลกรัมกว่าๆ ต่อต้น ขายได้กิโลกรัมละ 15-17 บาท ใน 1 เดือนขาย 3 ครั้ง จะมีรายได้อยู่ที่ 45-50 บาท ต่อกิโลกรัม ซึ่งคิดเป็นต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 20 บาท ต่อต้น ก็ยังพอมีผลกำไรให้เห็นแม้ช่วงนี้ราคายางพาราจะลดลงมากกว่าสมัยก่อนก็ตาม” คุณทองใบ บอก

เก็บยางก้อนถ้วยเตรียมส่งขายให้แหล่งรับซื้อ

นอกจากนี้ ภายในพื้นที่สวนยางพารา คุณทองใบยังมีการนำไก่พื้นเมืองและทำบ่อเลี้ยงปลาอยู่ภายในสวนยางพารา จึงทำให้มีรายได้เสริมจากการทำเกษตรอย่างอื่น ทำให้เกิดรายได้มากขึ้นมีเงินหมุนเวียนใช้จ่ายภายในครัวเรือน

คุณทองใบ ให้ข้อมูลเสริมทิ้งท้ายว่า จากการที่เขาได้นำปุ๋ยชีวภาพเข้ามาใช้ในต้นยางพาราเพื่อลดต้นทุนการผลิต ถือว่าประสบผลสำเร็จและเห็นผลได้ชัดเจน เขาจะทำการปรับเปลี่ยนนำปุ๋ยชีวภาพมาใช้ให้มากขึ้นไปเรื่อยๆ และเปลี่ยนจากเดิมที่เคยใส่ปุ๋ยเคมีปีละ 2 ครั้ง มาเหลือใส่ปีละ 1 ครั้งเท่านั้น และจะค่อยๆ ปรับใช้เพียงปุ๋ยชีวภาพเพียงอย่างเดียว หยุดการใช้ปุ๋ยเคมี ก็จะช่วยให้ต้นทุนการผลิตยางพาราลดลงอย่างเห็นได้ชัด มีผลกำไรจากการจำหน่ายยางพาราทำเป็นอาชีพได้ที่ยั่งยืนต่อไป

กบที่เลี้ยงเป็นอาชีพเสริม

สามารถสอบถามแลกเปลี่ยนข้อมูลการทำสวนยางพาราแบบลดต้นทุนได้ที่ คุณทองใบ ทองนาค หมายเลขโทรศัพท์ (098) 949-1649

คุณพัฒนะ มีพรหม

ขอขอบพระคุณ คุณพัฒนะ มีพรหม นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการพิเศษ (หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ) สำนักงานเกษตรจังหวัดบึงกาฬ ที่พาลงพื้นที่ พบปะเกษตรกร