กรมหม่อนไหม จัดฝึกอบรมอาชีพ ร่วมคืนคนดีสู่สังคม และชวนเที่ยว “เรือนจำชั่วคราวเขาระกำ” ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง แลนด์มาร์คแห่งใหม่ จ.ตราด

กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงนามความร่วมมือ กับกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ในการฝึกอาชีพให้กับผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วประเทศ เช่น “เรือนจำชั่วคราวเขาระกำ”  อ.เขาสมิง จ.ตราด ได้มีทักษะความรู้ ประสบการณ์เรื่องการปลูกหม่อนและเเปรรูปผลิตภัณฑ์จากหม่อนไหม เพื่อเป็นแนวทางสร้างอาชีพเลี้ยงตนเอง พบว่า ผู้ต้องขัง ที่เข้าร่วมโครงการเมื่อพ้นโทษออกไปแล้ว ส่วนใหญ่สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประกอบอาชีพการเกษตร โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้เป็นแนวทางในการดำรงชีวิต

นางสาวศิริพร บุญชู อธิบดีกรมหม่อนไหม เปิดเผยว่า กรมหม่อนไหม ได้ร่วมมือกับกรมราชทัณฑ์ คืนคนดีสู่สังคม โดยจัดอบรมอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแก่ผู้ต้องขังก่อนการปลดปล่อย เพื่อมีความรู้ติดตัวไปสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน สำหรับเรือนจำที่มีพื้นที่ว่างเพียงพอ กรมหม่อนไหมจะเข้าไปส่งเสริมความรู้การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมอย่างครบวงจร ตั้งแต่การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ปลูกหม่อนผลสด สาวเส้นไหม ฟอกย้อมสีเส้นไหม ทอผ้าไหม และแปรรูปผลิตภัณฑ์ หลายอย่าง อาทิ ชาหม่อน แปรรูปหม่อนผล ผลิตรังไหมสดเพื่อจำหน่าย ฯลฯ ส่วนเรือนจำที่มีพื้นที่จำกัดและไม่มีพื้นที่ปลูกหม่อน จะส่งเสริมความรู้ด้านการฟอกย้อมสีเส้นไหม การทอผ้าพื้นและผ้าไหม การเเปรรูปผลิตภัณฑ์จากหม่อนไหม เป็นต้น

“เรือนจำชั่วคราวเขาระกำ” อ.เขาสมิง จ.ตราด เป็นหนึ่งในเรือนจำต้นแบบที่กรมหม่อนไหมได้ดำเนินงานบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อส่งเสริมพัฒนาอาชีพและยกระดับคุณภาพชีวิตให้เเก่ผู้ต้องขังในเรือนจำชั่วคราวเขาระกำ ภายใต้โครงการกำลังใจ ในพระดำริ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา น้อมนำศาสตร์พระราชา หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาปรับใช้ในเรือนจำ เพื่อเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้ต้องขังให้ใช้ชีวิตแบบพอเพียงเมื่อพ้นโทษ

เรือนจำชั่วคราวเขาระกำ มีพื้นที่ประมาณ 600 ไร่ แบ่งการใช้ประโยชน์พื้นที่ตามศาสตร์พระราชา มีน้ำใช้ตลอดปี มีสวนป่า ปลูกพืชผสมผสาน ปลูกไม้ผล มีบ่อเลี้ยงปลาและเลี้ยงสัตว์นานาชนิด เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและการผลิตสินค้าเกษตรคุณภาพให้กับประชาชนทั่วไป ทำให้เรือนจำชั่วคราวเขาระกำได้รับพระราชทานรางวัลชนะเลิศการประกวดเรือนจำดีเด่น ด้านปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทุกวันนี้ เรือนจำชั่วคราวเขาระกำ พัฒนาจาก “คุก” กลายเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ จ.ตราด ในฐานะแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรด้านเศรษฐกิจพอเพียง

“นักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงเรือนจำชั่วคราวเขาระกำ จะได้เรียนรู้งานด้านหม่อนไหมหลากหลายรูปแบบ ทั้งการปลูกหม่อนผลสดในระบบอินทรีย์ รวมทั้งการเเปรรูปผลิตภัณฑ์จากหม่อนไหม อาทิ สบู่โปรตีนไหม ครีมอาบน้ำ แชมพู คุกกี้โปรตีนไหม สมูตตี้หม่อนผลสด ท้อฟฟี่โปรตีนไหม โอ่งใส่ทิชชู่ผ้าไหม เป็นต้น จึงอยากเชิญชวนนักท่องเที่ยวเข้ามาศึกษาดูงานในพื้นที่ดังกล่าวและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์แปรรูปจากหม่อนไหมเป็นของขวัญของฝากติดมือกลับบ้าน เพื่อสนับสนุนการสร้างอาชีพและสร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้ต้องขัง ” อธิบดีกรมหม่อนไหมกล่าว

ด้านนางชุติกาญจน์ รัชตะปิติ ผู้อำนวยการศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติ ฯ นครราชสีมา เปิดเผยว่า “เรือนจำชั่วคราวเขาระกำ ” อยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติ ฯ จังหวัดนครราชสีมา กรมหม่อนไหมได้ทำข้อตกลง MOU กับกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม เข้าไปถ่ายทอดองค์ความรู้การเเปรรูปผลิตภัณฑ์จากหม่อนไหม ช่วยให้ผู้ต้องขังมีสุขภาพจิตดีขึ้น ลดความเครียดระหว่างต้องโทษ และมีอาชีพติดตัวไปหลังได้รับการปลดปล่อย

โครงการนี้ กรมหม่อนไหม ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงยุติธรรม นำมาใช้ในโครงการคืนคนดีสู่สังคม โดยอบรมความรู้เรื่องการเเปรรูปผลิตภัณฑ์จากหม่อนไหม รวมทั้งสนับสนุนต้นหม่อนผลสด พันธุ์เชียงใหม่ให้อดีตผู้ต้องขังนำไปปลูก รวมทั้งสนับสนุนด้านการตลาด นำสินค้าไปจำหน่ายในงานแสดงสินค้าตามศูนย์ราชการต่างๆ เป็นต้น

นางชุติกาญจน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กรมหม่อนไหม ได้ให้การสนับสนุน นายธาดา ทริดสังข์ (ถิก) ผู้พ้นโทษจากเรือนจำชั่วคราวเขาระกำ จ.ตราด ได้นำความรู้ด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์หม่อนไหมมาประกอบอาชีพ ผลิตน้ำหม่อน แยมหม่อนจำหน่ายในตลาดนัด และเปิด “เพจบ้านน้ำหม่อน” เป็นช่องทางการจำหน่ายสินค้าเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวอีกด้วย

ส่วนผู้ต้องขังในบ้านดินหม่อนไหม ซึ่งเป็นผู้แปรรูปผลิตภัณฑ์หม่อนไหม โดยใช้ตราการค้า “น้ำหม่อนจากเขาระกำ” จะได้รับเปอร์เซ็นต์จากการขายสินค้า สินค้าขายดีที่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคทั่วไป ได้แก่ หม่อนผลสด เครื่องดื่มสมูทตี้ น้ำหม่อนแปรรูป และสินค้าแปรรูปอื่นๆ อีกมากมาย

“นักโทษชั้นดี ที่เข้าร่วมกิจกรรมบ้านดินหม่อนไหม กับกรมหม่อนไหม จะมีความสุขกับการทำงานในร่ม เกิดความผ่อนคลาย ไม่เครียด พวกเขามีใจรักในงานบริการ หลังเปิดที่นี่เป็นศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง พวกเขามีโอกาสเจอนักท่องเที่ยวทุกวัน ได้ขายสินค้าผลงานของพวกเขา โดยเฉพาะสมูทตี้มัลเบอรี่ ซึ่งเป็นสินค้าที่ขายดีมาก เก็บหม่อนผลสดมาปั่นสดๆ ทุกวัน ทำให้พวกเขามีขวัญกำลังใจในการทำงานอย่างมีความสุข” นางชุติกาญจน์ กล่าวในที่สุด