ปลูกมา 20 ปี! ถามกันตรงๆ เอาตัวรอดยังไงในวันที่ “มะพร้าวน้ำหอม” ราคาตก

ราคาสินค้าเกษตรนั้นขึ้นอยู่กับกลไกของตลาด สินค้าจำนวนมาก ราคาก็ลดลง สินค้าจำนวนน้อย ราคาก็สูงขึ้น ซึ่งเป็นไปตามหลักอุปสงค์-อุปทาน

ในช่วง 4-5 ปีนี้ ต้องยอมรับว่า “มะพร้าวน้ำหอม” นั้นเป็นสินค้าเกษตรดาวรุ่งของไทยชนิดหนึ่ง เมื่อปี 2560 เคยขึ้นไปถึงลูกละ 30 บาท แม้ว่าจะลงมาบ้างแต่ก็ไม่ต่ำกว่าลูกละ 10 บาท กระทั่งราคาตกเหลือเพียงลูกละ 4-5 บาท เท่านั้น โดยพื้นที่แถว อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งปลูกมะพร้าวน้ำหอมแหล่งใหญ่นั้นจะมีล้งจีน ทั้งล้งของคนจีนเองและล้งไทยที่เป็นมือปืนให้กับล้งจีนอีกต่อหนึ่ง ซึ่งช่วงนั้นเรียกได้ว่าทุบตลาดกันปั่นป่วนมาก

คุณแดง มาประกอบ หรือ พี่แดง ชาวตำบลสามกระทาย อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ บัณฑิตแม่โจ้ และเป็นเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอม ซึ่งก่อนหน้านี้เรียกได้ว่าพี่แดงถือเป็นเซียนเรื่องการเกษตร ทำมาแล้วหลายแขนง ปลูกมาแล้วหลายชนิด ทั้งพืชอายุสั้น ผลไม้ แตงโม แคนตาลูป แต่ต้องเลิกปลูกด้วยเหตุผลที่การปลูกพืชผลไม้ต้องใช้คนงานเยอะ และต้องมีเวลาเข้าสวนทุกวัน ไม่สามารถปลีกตัวไปทำอาชีพเสริมได้ จึงเริ่มลองมาศึกษาเรื่องการปลูกมะพร้าวน้ำหอม เพราะคิดว่ามะพร้าวน้ำหอมเป็นพืชที่ให้รายได้แน่นอน มีรายได้เข้ามาทุกเดือน คิดง่ายๆ ว่า

“เราเลี้ยงลูก ลูกโตไปโอกาสที่เขาจะกลับมาเลี้ยงดูเราก็ไม่แน่นอน เพราะเราบังคับไม่ได้ แต่ถ้าปลูกมะพร้าว มะพร้าวเลี้ยงเราได้แน่นอน จากที่พิสูจน์มา เพราะผมปลูกมะพร้าวเลี้ยงแม่มาตั้งแต่ ปี’34 มีรายได้เข้าทุกเดือน เดือนละเกือบ 20,000 บาท โดยไม่ต้องทำอะไร ถึงเวลาก็มีคนมาตัดถึงสวน” พี่แดง บอก

โจทย์สำคัญของเกษตรคือ ปลูกอะไร และขายใคร ซึ่ง “ตลาด” นั้นสำคัญมาก เมื่อถามถึงวิธีรับมือในช่วงที่มะพร้าว “ราคาตก” พี่แดงนั้นได้ให้แนวคิดที่น่าสนใจว่า

1.  พอเพียงอย่างยั่งยืน คือทางออก
ขายแพง คนไทยไม่ได้ประโยชน์

เจ้าของสวนต้องมีความพอเพียง การปลูกมะพร้าวสามารถพอเพียงได้ เราพอใจแค่ไหน ก็เอาแค่นั้น อย่าไปเห่อตามกระแส มีการบริหารจัดการที่ดี ส่วนหนึ่งส่งขายที่โรงแรมแถวๆ ปราณบุรี ส่วนหนึ่งที่ส่งไม่หมด เพราะมะพร้าวที่สวนช่วงพีคสุด อยู่ที่ 5,000 ลูก ต่อเดือน ก็จะไปส่งที่แผง

“หมายความว่า คนที่จะมาต่อยอดสินค้าของเรา ก็จะมีลูกหลานนำไปต่อยอดต่อ ดังนั้น การทำเกษตรที่คิดว่าจะเอาราคาแพงอย่าไปคิด คิดแค่ว่าจะสามารถปลูกแล้วให้คนอื่นมาต่อยอด เราอยู่ได้ เขาอยู่ได้ และถือเป็นการช่วยกันสร้างอาชีพ เช่น ใครจะทำขนม หรือทำวุ้น หรือขายข้างทาง ก็มาติดต่อเราได้ เราพอใจที่ตัวเลขกลมๆ อย่างที่สวนพอใจที่ลูกละ 10 บาท แล้วให้เข้ามาตัดเองที่สวน เจ้าของสวนรับเงินอย่างเดียว 10 บาท ส่งโรงแรม ลูกละ 15 บาท เราพอใจแค่นี้ เพราะถือว่ามีเงินเดือนกินแล้ว

สมมุติว่า มะพร้าว 5,000 ลูก ลูกละ 10 บาท ก็ 50,000 บาทแล้ว เงินเดือน 50,000 บาท เราไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยทุกวัน เหนื่อยเฉพาะช่วง 3 ปีแรก 20 วัน ก็ตัดขายได้ใหม่ อย่าไปคิดว่า ขายจากสวน 20 บาท เพราะแบบนี้ไม่ยั่งยืน เพราะเมื่อไรที่ขายแพง คนไทยไม่ได้ประโยชน์ ส่งออกอย่างเดียว พอส่งออกไม่ได้ก็เกิดผลกระทบราคาตก” พี่แดง ขยายความ

2. มองตลาดให้กว้าง แนะนำลูกค้าให้เป็น

ต้องมองตลาดให้กว้าง และรู้จักแนะนำลูกค้า ตอนนี้สินค้าเพื่อสุขภาพกำลังมาแรง โรงแรมหลายแห่งต้องการมะพร้าวที่มีคุณภาพอีกมาก ตลาดโรงแรมมีมานานแล้ว เพียงแต่ว่าไม่ได้มาเข้าถึงสวน คือมาตรฐานโรงแรมทั่วไปยังคิดผิด ที่ว่าสินค้าโรงแรมถ้าลูกนี้ไซซ์นี้ ก็คือต้องไซซ์นี้ ซึ่งหากเชฟของโรงแรมเข้ามาถึงสวน เจ้าของสวนต้องอธิบายว่า ถ้าคุณต้องการมะพร้าวจากสวน สวนจะกำหนดไม่ได้ว่ามะพร้าวไซซ์ที่ต้องการจะได้เท่ากันทุกลูก มันอาจจะมีสองไซซ์ถึงสามไซซ์

ดังนั้น ถ้าคุณจะเอาจากสวน จะกำหนดขนาดไซซ์ไม่ได้ แต่ถ้าคุณกำหนดปริมาณว่าคุณต้องการน้ำเท่านี้ เรากะได้เพียงแต่ว่าลูกเล็กอาจจะนับควบ ซึ่งเขาก็เข้าใจ ถือเป็นเทคนิคให้ทั้งผู้ซื้อ ผู้ขาย มาเจอกันและเข้าใจกันมากขึ้น อย่างโรงแรมแถวภูเก็ตชอบไซซ์ใหญ่ไม่เอาไซซ์อื่น ซึ่งเขาไปเสียในสิ่งที่ไม่ควรเสีย ไปเสียให้คนคัดเกรดซะเยอะ ถามว่าถ้ามารับจากสวน 15 บาท กับไปซื้อที่พ่อค้าคนกลาง ลูกละ 38 บาท อันไหนคุ้มกว่ากัน

3. แปรรูป ยังเป็นทางออกที่ดี

มะพร้าว ถือเป็นพืชมหัศจรรย์ของโลก มีพืชไม่กี่ชนิดในโลกที่จะสามารถนำมาแปรรูปได้หลากหลาย หากปลูกมะพร้าวเป็นลูกไม่มีคนซื้อ เราสามารถเปลี่ยนเป็นน้ำตาลมะพร้าวได้ภายใน 5 วัน น้ำตาลมะพร้าวตอนนี้ราคากิโลกรัมละ 30 บาท ถ้ามะพร้าวที่สวน 15 ไร่ เราสามารถที่จะเคี่ยวน้ำตาลได้ 15 ปีบ ต่อวัน 1 ปีบ บรรจุ 20 กิโลกรัม ราคาอย่างน้อยก็ปีบละ 700 บาท แต่ต้องแลกกับค่าแรงงานที่ค่อนข้างเยอะ ถือว่าดีกว่าปล่อยให้ผลผลิตไร้ประโยชน์ หรือถ้าไม่อยากทำเป็นน้ำตาล ก็นำมาหมักทำน้ำส้มสายชู ดังนั้น เกษตรกรที่ปลูกมะพร้าวคุณสามารถไปได้หลายทางมาก