กศน. จังหวัดนครศรีธรรมราช เติมปัญญาสร้างอาชีพชุมชน

จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นเมืองแห่งศาสนา โดดเด่นด้านประเพณีวัฒนธรรม รวมทั้งด้านการศึกษา ปัจจุบัน จังหวัดนครศรีธรรมราช มีมหาวิทยาลัยที่เปิดสอน 7 แห่ง และมีศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ในระดับ กศน. อำเภอ จำนวน 23 อำเภอ กศน. ตำบล จำนวน 169 ตำบล ดูแลจัดการศึกษาระดับหมู่บ้าน จำนวน 1,551 หมู่บ้าน ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ คุณเกษร ธานีรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดนครศรีธรรมราช (สำนักงาน กศน. จังหวัดนครศรีธรรมราช) ที่มุ่งส่งเสริมให้ประชาชนทุกเพศทุกวัย ได้มีโอกาสเรียนรู้ตลอดชีวิต

กศน. จังหวัดนครศรีธรรมราช

สำนักงาน กศน. จังหวัดนครศรีธรรมราช ดูแลรับผิดชอบด้านการศึกษา ประกอบด้วย งานการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน งานการศึกษาต่อเนื่อง งานการศึกษาตามอัธยาศัย นอกจากนี้ ได้ติดตามการขับเคลื่อนการนำนโยบายของรัฐบาล นโยบายของสำนักงาน กศน. และนโยบายของจังหวัดนครศรีธรรมราช ทั้งนี้ เพื่อนำข้อมูลจากการนิเทศติดตามผลการดำเนินงาน ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะ มาปรับปรุงและพัฒนางานให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้นต่อไป

ภารกิจหลักของสำนักงาน กศน. จังหวัดนครศรีธรรมราช ประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญ คือ 1. งานด้านนโยบาย ที่รับคำสั่งจากส่วนกลาง และนโยบายของจังหวัดนครศรีธรรมราช ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เช่น โครงการนครฯ ปลอดภัย โครงการนครแห่งการเรียนรู้ โครงการจังหวัดสะอาด โครงการด้านความมั่นคง โครงการพัฒนาศักยภาพครู กศน. เป็นต้น

คุณเกษร ธานีรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงาน กศน.จังหวัดนครศรีธรรมราช

ทางสำนักงาน กศน. จังหวัดนครศรีธรรมราช จะนำนโยบายจากส่วนกลางและนโยบายของจังหวัด เช่น โครงการไทยนิยมยั่งยืนของรัฐบาล สอดคล้องกับนโยบายของจังหวัดที่มุ่งเน้นการสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่ง กศน. ได้นำทั้งสองโครงการมาบูรณาการเพื่อขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน ภายใต้งบประมาณโครงการศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน โครงการจัดการศึกษาต่อเนื่อง ฯลฯ โดยสำนักงาน กศน. จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้เชิญผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 23 อำเภอ มาร่วมประชุมซักซ้อมความเข้าใจและกำหนดเป้าหมายร่วมกันก่อนมอบหมายให้ครู กศน. ตำบล นำไปดำเนินงานในแต่ละท้องถิ่นต่อไป

2. ด้านจัดกระบวนการเรียนรู้หลักสูตรขั้นพื้นฐาน ระดับประถม มัธยมต้น-มัธยมปลาย ที่ผ่านมา สำนักงาน กศน. จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้จัดการศึกษาโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางในการจัดการศึกษาพร้อมคัดเลือกผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาเข้ามาเติมเต็มความรู้ให้แก่นักศึกษา กศน.

ภายหลังส่วนกลางมีนโยบายเรื่องการจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง หรือ BBL (Brain-Based Learning) ที่เน้นจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับธรรมชาติและการทำงานของสมองของคนในทุกช่วงวัย ได้แก่ วัยเด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน ตลอดจนถึงวัยสูงอายุ ให้รู้ศักยภาพของตนเองนั้น ทางสำนักงาน กศน. จังหวัดนครศรีธรรมราช ก็ส่ง “กศน. อำเภอปากพนัง” เป็นต้นแบบในการเข้ารับการอบรมหลักสูตรการพัฒนาสมอง (BBL) เพื่อนำความรู้ดังกล่าวมาขยายผลให้แก่ กศน. อำเภอต่างๆ ในเวลาต่อมา

ปัจจุบัน สำนักงาน กศน. จังหวัดนครศรีธรรมราช พบว่า หลังจากนำหลักสูตรการพัฒนาสมอง (BBL) มาใช้ดำเนินงาน พบว่า ผลสัมฤทธิ์ด้านการเรียนรู้ของนักศึกษา กศน. ปรับตัวดีขึ้นกว่าเดิม นักศึกษา กศน. เข้ามาพบปะรวมกลุ่มทำกิจกรรมกันเพิ่มมากขึ้น เพราะหลักสูตร BBL เน้นการจัดกิจกรรมนันทนาการหรือการเล่นเกม หรือนิทานเข้ามาใช้ในการเรียนการสอน ทำให้นักศึกษา กศน. มีโอกาสพูดคุย มีความเป็นกันเองกับครู กศน. นักศึกษามีความกล้าในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในกลุ่มมากยิ่งขึ้น ถือว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพึงพอใจ

ใช้นวัตกรรมเป็นสื่อการเรียนรู้

ทางสำนักงาน กศน. จังหวัดนครศรีธรรมราช พัฒนาครู กศน. ให้มีความรู้เรื่องการใช้สื่ออินเตอร์เน็ต สามารถโหลดแอปพลิเคชั่นต่างๆ และจัดทำคลิป วิดีโอ เป็นสื่อการเรียนรู้ให้กับนักศึกษา กศน. เนื่องจากนักศึกษา กศน. ส่วนใหญ่มีสมาร์ทโฟนอยู่แล้ว ทางครู กศน. จึงสอนผ่านแอปพลิเคชั่นต่างๆ ได้ง่าย

เติมความรู้คู่จริยธรรม

ในช่วง 4-5 ปี ที่ ผอ. เกษร ธานีรัตน์ เข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการ สำนักงาน กศน. จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้เน้นเรื่องการจัดการความรู้การฝึกทักษะอาชีพ โดยจัดการศึกษาด้านอาชีพหลักสูตรระยะสั้น เพื่อสนองความต้องการของผู้เรียน ให้มีความรู้และทักษะพื้นฐานในการอาชีพ ยกตัวอย่างเช่น หากมีงานอาชีพใดที่ประสบความสำเร็จด้านรายได้ในชุมชน ครู กศน. จะเชิญมาเป็นวิทยากรอบรมอาชีพ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นรายได้เสริมรายได้ให้แก่ผู้สนใจรายอื่นๆ ต่อไป

ผู้อำนวยการเกษร กับสินค้าชุมชนที่ ครู กศน. ปากพนัง เข้าไปส่งเสริมอาชีพ

สำหรับนักศึกษารุ่นใหม่ที่เพิ่งสมัครเรียน ทางสำนักงาน กศน. จังหวัดนครศรีธรรมราช จะจัดอบรมนักศึกษาให้เข้าแคมป์คุณธรรม จริยธรรมก่อน เพื่อละลายพฤติกรรม สร้างความสนิทสนม ฝึกสร้างสมาธิให้แก่ผู้เรียน ส่วนนักศึกษาเก่า ก่อนหน้านี้ ทาง กศน. จะเน้นให้ความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ชุมชน เพื่อให้นักศึกษาให้เข้าใจประวัติศาสตร์ชุมชนที่เขาอยู่ว่า มีภูมิหลังอย่างไร เพราะในอนาคต ตัวนักศึกษาเหล่านี้จะกลายเป็นสมาชิก อบต. พวกเขาจะได้มีส่วนร่วมในการช่วยพัฒนาบ้านเกิดของเขาได้ต่อไป ต่อมา ส่วนกลางมีนโยบายส่งเสริมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทยเข้ามา เนื่องจาก กศน. มีนโยบายส่งเสริมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชนอยู่ก่อนแล้ว จึงแค่เติมเต็มความรู้ภาพรวมประวัติศาสตร์ชาติไทยแต่ละยุค แต่ละสมัยเข้าไปเท่านั้น

ขับเคลื่อนสถานศึกษาสีขาว

สำนักงาน กศน. จังหวัดนครศรีธรรมราช จัดโครงการนครปลอดยาเสพติด กิจกรรมขับเคลื่อนสถานศึกษาสีขาว เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับนักศึกษา กศน. ซึ่งเป็นโครงการงบพัฒนาจังหวัด ภายใต้แผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษา กศน. ห่างไกลจากยาเสพติด ห่างไกลการพนัน สื่อลามกอนาจาร เหตุการณ์ทะเลาะวิวาท และเพื่อให้มีความรู้ สร้างความรักความสามัคคี สร้างผู้นำเยาวชนในการต่อต้านยาเสพติด สร้างภูมิคุ้มกันทางด้านร่างกายและจิตใจ เพื่อร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม เป็นการป้องกันตนเองและชุมชนให้ห่างไกลจากยาเสพติด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติต่อไป