น้ำท่วมใต้ สวนยางกว่า 7 แสนไร่อ่วม การยางฯ เร่งเตรียมฟื้นฟู

แม้จะเป็นช่วงฤดูฝนปกติของภาคใต้ แต่สถานการณ์ที่ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องทำให้มีปริมาณน้ำมากกว่าปกติ และมีการสะสมในที่ลุ่มต่ำ ส่งผลให้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้หลายจังหวัด ตั้งแต่ก่อนสิ้นปี 2559 ลากยาวข้ามมาถึงต้นปี 2560 สร้างความเสียหายทั้งภาคเกษตร เศรษฐกิจ และอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พืชเกษตรอย่างยางพารา ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ และเป็นอาชีพหลักของเกษตรกรในพื้นที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดในรอบ 20 ปี ประมาณ 739,926 ไร่
มีพี่น้องชาวสวนยางที่ได้รับความเสียหายรวมประมาณการณ์ในเบื้องต้น 95,789 ราย จากพื้นที่ 10 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ ตรัง พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ในขณะเดียวกัน กยท. รุดลงพื้นที่เพื่อแจกถุงยังชีพบรรเทาความเดือดร้อน ประมาณ 4,000 ชุด ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่ประสบอุทกภัยอย่างหนักทุกพื้นที่

แม้ว่ายางพาราจะเป็นพืชที่สามารถทนต่อน้ำท่วมขังได้นานพอสมควร ประมาณ 2 สัปดาห์ ถึง 2 เดือน โดยขึ้นอยู่กับอายุของต้นยาง ระดับและความยาวนานของน้ำที่ท่วม เช่น ยางพาราที่มีอายุ 2-8 เดือน สามารถทนน้ำท่วมได้ไม่เกิน 15 วัน และหากน้ำท่วมยอด ต้นยางจะตายภายใน 7 วัน เป็นต้น แต่เมื่อต้นยางอยู่ในสภาวะน้ำท่วมขัง จะส่งผลให้ความเข้มข้นของก๊าซออกซิเจนในดินต่ำลง ทำให้รากยางและจูลินทรีย์ขาดก๊าซออกซิเจนที่นำไปใช้หายใจ สมดุลของสารบางประเภท เช่น ธาตุเหล็ก อะลูมินัม มีปริมาณเพิ่มขึ้น จนเป็นพิษต่อต้นยางพาราโดยตรง สิ่งที่สังเกตได้ง่าย คือ ต้นยางจะมีลำต้นแคระแกรน โคนต้นโต แตกพุ่มเตี้ย ใบเหลืองซีด คล้ายขาดธาตุไนโตรเจน บางครั้งพบปลายยอดแห้งตาย ซึ่งภัยธรรมชาติ เป็นภัยที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์ หรือมนุษย์ ต่างก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน ฉะนั้น การแก้ไขปัญหาจากการเยียวยาหรือการฟื้นฟูสวนยางให้ดีขึ้น หลังจากน้ำลด เกษตรกร จะต้องสำรวจความเสียหายสภาพสวนยาง เพื่อหาแนวทางในการฟื้นฟูและจัดการสวนยางหลังจากถูกน้ำท่วมต่อไป
การจัดการดินในสวนยางพาราหลังจากถูกน้ำท่วม
หากน้ำท่วมสวนยางเกินกว่า 30 วัน เกษตรกรควรหาทางระบายน้ำออกจากสวน หากน้ำบริเวณรอบสวนยางมีระดับสูงกว่า ไม่สามารถระบายออกได้ ให้ขุดร่องน้ำกึ่งกลางระหว่างแถวยาง เพื่อให้น้ำระบายไปอยู่ในร่องที่ขุดไว้ การระบายน้ำจะทำให้ดินบริเวณโคนต้นยางแห้งเร็วขึ้น และไม่ควรใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ในการจัดการสวนยางในช่วงนี้ เนื่องจากดินที่ยังชุ่มน้ำจะอ่อนตัว อาจส่งผลเสียหายต่อรากยางและทำให้ต้นยางตายได้ ควรใช้แรงงานคน และเครื่องจักรขนาดเล็กในการปฏิบัติงานในสวนยางแทน และเมื่อดินแห้งดีแล้วดีแล้ว ให้พรวนดินโคนต้นยางที่มีอายุน้อย แต่งดพรวนดินในยางที่โตแล้ว อาจทำให้รากเสียหายได้
เกษตรกรควรฟื้นฟูคุณสมบัติของดิน โดยการใส่ปุ๋ยหมักที่ผสมสารเร่งซุปเปอร์ พด.3 ในกรณีที่สวนยางอยู่ในสภาพน้ำแช่ขังเป็นเวลานาน เสี่ยงต่อการเกิดโรค หากพบว่าดินมีสภาพเป็นกรด สามารถใส่อินทรียวัตถุหรือปูน เพื่อปรับสภาพได้ โดยปริมาณการใช้ขึ้นกับสภาพความเป็นกรดของดิน โดยหลักๆ แล้วการดูแลสวนยางหลังน้ำลด ควรดูแลตามอายุของต้นยางพาราเป็นหลัก รวมถึงการตัดตกแต่งกิ่งยางให้โปร่ง หากต้นยางล้มเอน ให้ใช้ไม้ค้ำยันพยุงต้นยาง แล้วรอดินแห้งดี จึงค่อยลงมือปฏิบัติงานในสวนยาง


การจัดการสวนยางพาราหลังจากถูกน้ำท่วม
ต้นยางอายุน้อยกว่าหนึ่งปี ในกรณีที่ต้นยางได้รับความเสียหายมากหรือตายไป ให้รอปลูกซ่อมด้วยยางชำถุงในปีถัดไป โดยปลูกซ่อมให้เร็วที่สุดเมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสม สำหรับต้นที่กิ่งกระโดงได้รับความเสียหาย ให้ตัดกิ่งกระโดงส่วนที่ได้รับความเสียหายทิ้งไป เพื่อป้องกันการตายจากยอดลงมา แล้วทาด้วยสารเคมีป้องกันเชื้อราเข้าทำลายที่อาจก่อให้เกิดอาการเน่าของบาดแผล โดยใช้สารเคมีเบนเลทผสมน้ำให้มีความเข้มข้น 5% ทาให้ทั่วบาดแผลที่ตัดแต่งไว้ จากนั้นรอการแตกแขนงใหม่ และคอยตัดแต่งกิ่งให้เจริญเติบโตไปตามปกติ โดยให้เหลือกิ่งกระโดงกิ่งเดียวเพื่อเจริญเป็นลำต้นที่สมบูรณ์ในกรณีที่ต้นยางอยู่ในสภาพตั้งตรงควรระมัดระวังอย่าให้เป็นอันตรายต่อรากต้นยางด้วย
ต้นยางอายุหนึ่งถึงสองปี เป็นต้นยางที่ยังไม่มีทรงพุ่มใบหรือมีการแตกกิ่งบ้างเพียงเล็กน้อยถ้าหากต้นยางพาราเอนล้มให้ทำการยกตั้งให้ตรงในขนาดดินเปียกชื้นใช้ไม้ค้ำยันให้มันคงอัดดินบริเวณโคนต้นให้ แน่นระวังอย่าให้เป็นอันตรายกับรากยางในกรณีที่ยอดหักเสียหายให้ตัดทิ้งแล้วทาด้วยเบนเลทผสมน้ำเข้มข้น 5% เช่นกัน คอยตัดแต่งกิ่งที่แตกออกมาให้เหลือเพียงกิ่งเดียวเพื่อเป็นลำต้นหรือยอดต่อไปและในกรณีที่เปลือกลำต้นได้รับความเสียหายอาจจะต้องขูดส่วนที่เสียหายทิ้งไปและควรทาปูนขาวผสมน้ำเข้มข้น 10 ถึง 20% เพื่อป้องกันการคายน้ำและแดดเผาไหม้ซึ่งอาจจะทำให้ต้นยางแห้งตายได้ในเวลาต่อมา ต้นยางเหล่านี้จะแตกแขนงออกมาภายในสามถึงสี่สัปดาห์ต้องตัดแต่งออกให้หมดให้เหลือส่วนที่อยู่เหนือพื้นดิน 2.0 ถึง 2.5 เมตรขึ้นไป เพื่อให้เจริญเติบโตเป็นทรงพุ่มและพัฒนาเป็นลำต้นที่สมบูรณ์ตามปกติต่อไป
ต้นยางอายุสองถึงสามปี ต้นยังจะสร้างทรงพุ่มที่มีขนาดเล็กถึงปานกลางต้นยางเอนล้มจะมีส่วนที่กิ่งการฉีกขาดไปบ้างในบางส่วนถ้าลำต้นยังอยู่ในสภาพปกติและรากแก้วสมบูรณ์ให้รีบตัดแต่งกิ่งก้านพุ่มใบทิ้งให้สูงจากพื้นดิน 2.5 เมตรแล้วใช้เชือกดึงลำต้นขึ้นตั้งตรงพร้อมกับใช้ไม้ค้ำยันให้มั่นคงจากนั้นกลบดินโคนต้นอัดให้แน่นแล้วทาปูนขาวที่ผสมน้ำเข้มข้น 10 ถึง 20% บริเวณลำต้นเพื่อป้องกันแดดเผาไหม้เสียหาย ขั้นต่อไปคอยตัดแต่งกิ่งแขนงตลอดลำต้นทิ้งออกให้หมดโดยพยายามตัดให้ชิดลำต้นมากที่สุดเหลือไว้เฉพาะส่วนยอดลำต้นที่ระดับ 2.0 ถึง 2.5 เมตรเพื่อพัฒนาเป็นทรงพุ่มปกติต่อไป


อย่างไรก็ตาม การดูแลสวนยางในเบื้องต้นเป็นหน้าที่ของเกษตรกรเจ้าของสวนยาง แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นยังคงไม่จางหายไป ทางหน่วยงานของรัฐที่ดูแลยางพาราทั้งระบบอย่าง การยางแห่งประเทศไทย ก็พร้อมเยียวยาพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง ตามแนวทางและมาตรการการช่วยเหลือต่างๆ และยังเชื่อว่า ธารน้ำใจจากคนไทย ก็ยิ่งใหญ่ไม่แพ้อุทกภัยครั้งนี้แน่นอน………..