“ ประเสริฐ ยุวกาฬกุล ” เกษตรกรต้นแบบสวนเกษตรพอเพียงโกย “เงินล้าน” แค่ใช้หลัก “การตลาดนำการผลิต”

หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ที่พระราชทานให้คนไทยเมื่อ 30 กว่าปีก่อน มีความทันสมัยและใช้ได้ผลดีตลอดเวลา เพราะการดำเนินชีวิตโดยยึดหลักทางสายกลางและความไม่ประมาท คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี ช่วยให้คนไทยก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบันได้อย่างลงตัว

เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้เขียนมีโอกาสติดตาม คุณวันชัย นิลวงศ์ เกษตรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คุณวิจิตร คงสงฆ์ เกษตรอำเภอบางสะพาน คุณเบญจพร ตั้งวิชัย นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ และ คุณธนนันท์ สนสาขา นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ไปเยี่ยมชมกิจการสวนเกษตรผสมผสานของ คุณประเสริฐ ยุวกาฬกุล ที่ทำรายได้ทะลุหลักล้านได้ไม่ยาก แค่ใช้หลัก “การตลาดนำการผลิต”

คุณวันชัย นิลวงศ์ เกษตรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

คุณวันชัย นิลวงศ์ เกษตรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า คุณประเสริฐ ยุวกาฬกุล เกษตรกรต้นแบบด้านเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ปัจจุบัน เขาเป็นเกษตรกรหัวก้าวหน้าที่มีจิตสาธารณะ เปิดบ้านเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนบ้านสวน เพื่อเผยแพร่ความรู้การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ให้แก่คนในชุมชนและผู้สนใจทั่วไปได้เป็นตัวอย่าง เป็นการสร้างแรงบันดาลใจและสร้างความมั่นคงในอาชีพให้กับคนในชุมชน

ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ส่งเสริมให้ที่นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร บริหารจัดการโดยเกษตรกรและชุมชน ภายใต้โครงการท่องเที่ยววิถีเกษตรร่อนทองพอเพียง ปี 2562 โดยมีจุดเรียนรู้ที่น่าสนใจมากมาย ได้แก่ ฐานการเรียนรู้ผักพื้นบ้านเรา ฐานน้ำหมักมีชีวิต ฐานข้าวอินทรีย์ ฐานไก่ไข่อารมณ์ดี ฐานพี่ปลาดุก น้องหอยขม ฐานตลาดเกษตรชุมชน และฐานเกษตรเพื่อพ่อ เป็นต้น ปัจจุบัน สวนแห่งนี้ มีเกษตรกรและนักท่องเที่ยวแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชมและศึกษาดูงานตลอดทั้งปี

คุณวิจิตร คงสงฆ์ เกษตรอำเภอบางสะพาน (เสื้อสีเหลือง) ถ่ายรูปกับเกษตรกรและเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตร

หนุ่มช่างกล ที่รักอาชีพเกษตร

คุณประเสริฐ เล่าให้ฟังว่า เขาเป็นหนุ่มช่างกลเมืองพัทลุง หลังแต่งงานก็มาตั้งถิ่นฐานที่บ้านเกิดของภรรยา บ้านเลขที่ 16 หมู่ที่ 4 ตำบลร่อนทอง อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระยะแรกเขายังทำงานบริษัทเอกชน ได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมกับทางบริษัทไปดูงานศูนย์เรียนรู้กสิกรรมธรรมชาติบ้านสายเพชร ตำบลทองมงคล อำเภอบางสะพาน เขาเห็นแนวทางการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่ 9 ก็เกิดความคิดที่จะน้อมนำแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน

คุณประเสริฐ ยุวกาฬกุล

คุณประเสริฐ เริ่มทำเกษตรบนที่ดินมรดกของภรรยา เริ่มจากการเพาะกล้ายางพาราขาย ปลูกยางพารา ปลูกมะพร้าว มังคุด และพืชอื่นๆ เรื่อยมา เมื่อมีรายได้จากภาคเกษตรมากขึ้น เขาจึงตัดสินใจลาออกจากบริษัทและหันมาทำเกษตรอย่างจริงจัง เมื่อ ปี 2553 เขาเริ่มทำไร่นาสวนผสม บนที่ดิน 4 ไร่ ปลูกข้าวสำหรับบริโภคในครัวเรือน ปลูกพืชหลัก พืชเสริมรายได้ในสวนยาง สวนมะพร้าว เขาปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก

Advertisement

สวนเกษตรผสมผสานแห่งนี้ มีทั้งพืชผัก ไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชสมุนไพร เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา เลี้ยงโค ทำนาปลูกข้าวไว้บริโภคในครัวเรือน โดยใช้หลักความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในการประกอบอาชีพตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง แต่ปัญหาที่เจอคือ น้ำท่วมซ้ำซากเกือบทุกปี ทำให้พืชผลและผลผลิตเสียหาย แต่คุณประเสริฐก็ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค เขาตั้งใจประกอบอาชีพด้วยความอุตสาหะอดทน

คุณประเสริฐ เล่าว่า ในช่วงแรก ผมปลูกพืชโดยใช้สารเคมี เช่น ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง และยาปราบวัชพืช ทำให้มีต้นทุนการผลิตสูง แถมประสบปัญหาแพ้สารเคมี จึงตัดสินใจเลิกใช้สารเคมีอย่างเด็ดขาด และหันมาทำเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสาน มีกิจกรรมที่เกื้อกูลการใช้ประโยชน์ร่วมกัน พึ่งพาอาศัยกันและกัน ลดการพึ่งพาปัจจัยจากภายนอก เน้นการใช้แรงงานในครัวเรือนเป็นหลัก

Advertisement

คุณประเสริฐ ทำนาโดยไม่เผาตอซังและไถกลบตอซังหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว เพื่อลดปัญหาโลกร้อนและอนุรักษ์พันธุ์พืช ปลูกพืชตระกูลถั่ว ได้แก่ ปอเทือง ภายหลังฤดูกาลทำนาเพื่อเป็นปุ๋ยพืชสด ปลูกหญ้าแฝกรอบบริเวณสระน้ำในสวนและแปลงนาเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำ ป้องกันการพังทลายของดินและปรับปรุงสภาพดิน ลดการสูญเสียธาตุอาหารเพื่อสร้างสมดุลย์ในระบบนิเวศ ปลูกพืชแบบหมุนเวียน เพื่อลดการสะสมของโรคและแมลง ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพไว้ใช้ในครัวเรือน

เนื่องจากคุณประเสริฐเป็นเกษตรกรหัวไว ใจสู้ ที่ชอบคิดนอกกรอบ ใส่ใจศึกษาหาความรู้เรื่องการทำเกษตรตลอดเวลา ขณะเดียวกันก็มีความมุ่งมั่นที่จะเผยแพร่ความรู้การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ให้แก่คนในชุมชนและผู้สนใจได้เอาเป็นแบบอย่าง ด้วยแนวคิดที่ว่า “พูดให้ฟัง ทำให้ดู” ทำให้พื้นที่แห่งนี้ได้รับการพัฒนาเป็น “ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนบ้านสวน” ในที่สุด

คุณประเสริฐมองว่าการทำเกษตรนั้น จะต้องมีความรู้ที่หลากหลายเพื่อนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะการทำเกษตรนั้นไม่มีสิ้นสุด ตายตัว ต้องศึกษาทดลองตลอดเวลา ที่สำคัญดำเนินชีวิตบนหลักความพอเพียงตามคำสอนของรัชกาลที่ 9 ควบคู่กันไป

คุณประเสริฐพาเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตร ชมบ่อขยะพอเพียงในฟาร์ม

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตข้าวกล้องฯ

เมื่อ ปี 2559 คุณประเสริฐ ได้รวมกลุ่มสมาชิกชาวนา จำนวน 4 ราย เนื้อที่ทำนา 18 ไร่ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการทำนาอินทรีย์ รวมกันซื้อ รวมกันขาย เพื่อยกระดับราคาสินค้า จนประสบความสำเร็จและขยายผลไปสู่สมาชิกกว่า 30ราย พื้นที่ทำนารวมกันกว่า 70 ไร่ เน้นผลิตข้าวปลอดภัยต่อผู้บริโภค

เมล็ดพันธุ์ข้าวสำหรับใช้ทำข้าวปลูก

โดยพวกเขารวมตัวกันจัดตั้งเป็น “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวกลุ่มผลิตข้าวกล้องเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ” เป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชน เป็นแหล่งเรียนรู้และพัฒนาสิ่งใหม่ๆ รวมทั้งเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นในเรื่องการทำนาปลูกข้าวที่มีมาแต่สมัยโบราณ ก่อให้เกิดความรักสามัคคีในหมู่คณะ ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้านในชุมชนให้ดีขึ้น รู้จักการสร้างรายได้และใช้จ่ายอย่างประหยัดตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้ชุมชนพึ่งตัวเองได้ ครอบครัวมีความมั่นคง เกิดระบบเศรษฐกิจชุมชนที่เข้มแข็ง ซึ่งเป็นรากฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

สวนเกษตรผสมผสาน ที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

คุณประเสริฐ ทำเกษตรโดยเน้นการใช้แรงงานในครัวเรือนเป็นหลัก โดยมีตัวเอง ภรรยา และหลานอีก 3 คน ช่วยทำกิจกรรมเกษตรของครอบครัวซึ่งเป็นกิจกรรมการผลิตที่เกื้อกูลกันภายใต้แนวคิดที่ว่าจะต้องลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ มีรายได้สม่ำเสมอ ทั้งรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน และรายปี เพื่อลดความเสี่ยงในการดำเนินชีวิต

แผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน

“สวนไม้ผล ไม้ยืนต้น”   ปัจจุบัน คุณประเสริฐปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้นหลากหลายชนิด ทั้ง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว กล้วยเล็บมือนาง กล้วยน้ำว้า และกล้วยขายใบ เงาะ ทุเรียน มังคุด ฝรั่ง แก้วมังกร ขนุน หมาก สะตอ กระท้อน มะขามเปรี้ยวยักษ์ บนเนื้อที่ 25 ไร่ เขาปลูกพืชผักแซมในสวน วางกล่องเลี้ยงผึ้งในสวนผลไม้ เพื่อให้มีการเกื้อกูล เกิดประโยชน์ร่วมกัน เป็นการใช้ประโยชน์จากกิจกรรมและพื้นที่ให้เกิดความคุ้มค่า

โซนด้านหน้า ที่ใช้ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์แบบผสมผสาน

“นาข้าว”  เขาปลูกข้าวเพื่อจำหน่ายผลผลิตและปลูกข้าวเพื่อทำพันธุ์ บนเนื้อที่ 7 ไร่ โดยแบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วน คือปลูกข้าวไร่ดอกมะขาม เนื้อที่ 1 ไร่ แปลงถัดมาปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่และข้าวสังข์หยด เนื้อที่ 7 ไร่ โดยจะปลูกหมุนเวียนสลับกับการปลูกข้าวในแต่ละพันธุ์ในแต่ละรอบเพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคและแมลง เน้นปลูกข้าวเพื่อการแปรรูปเพิ่มมูลค่าข้าวในลักษณะ ข้าวบรรจุถุง โดยติดตั้งเครื่องสีข้าวขนาดเล็กในครัวเรือน โรงสีข้าวขนาดกลาง เครื่องคัดแยกเมล็ดข้าว เครื่องบดเมล็ดข้าว เครื่องบรรจุแบบสุญญากาศ เป็นต้น

“ปลูกพืชผักสวนครัวและพืชสมุนไพร” คุณประเสริฐ ปลูกผักกูด ผักเหลียง ผักหวานบ้าน ชะอม ตำลึง มะเขือ ผักบุ้ง ไผ่หวาน คะน้า พริก รวมทั้งปลูกพืชสมุนไพร เช่น พริกไทย บอระเพ็ด ขมิ้นชัน รางจืด ขิง ตะไคร้ บนเนื้อที่ 6 ไร่ นอกจากนี้ ยังปลูกไม้เศรษฐกิจ เช่น ไม้ตะเคียน ขี้เหล็ก สัก สะเดา ไผ่ ยางนา จำนวน 6 ส่วน บ่อน้ำในไร่นา เนื้อที่ 1 ไร่ จะใช้ทำการประมง โดยเลี้ยงปลาเบญจพรรณ เช่น ปลาดุก ปลาตะเพียน ปลานิล และการเลี้ยงหอยขม

ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพที่ใช้แทนสารเคมี
ฐานผลิตน้ำส้มควันไม้

เคล็ดลับการเลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดี

คุณประเสริฐ เลี้ยงไก่ไข่แบบปล่อยลาน ซึ่งเป็นการเลี้ยงไก่ตามธรรมชาติ ครั้งละ 300 ตัว อายุระหว่าง 22-24 สัปดาห์ โดยเฉลี่ยแม่ไก่ 1 ตัว จะให้ผลผลิต 200-300 ฟอง ต่อปี เขามีแนวคิดที่จะเลี้ยงไก่ไข่แบบนี้ไปเรื่อยๆ เนื่องจากการเลี้ยงไก่ไข่รูปแบบนี้ ช่วยให้แม่ไก่ไข่อารมณ์ดี ให้ผลผลิตที่ดี ทั้งการเลี้ยงไม่ยุ่งยาก แม่ไก่จะมีอัตราการให้ไข่เยอะ โดยใช้พื้นที่การเลี้ยงเพียงแค่ 2 งาน เท่านั้น

ด้านการจัดการฟาร์มแม่ไก่อารมณ์ดี คุณประเสริฐ จะจัดทำโรงเรือนที่นอนให้แก่ไก่ไว้สำหรับกันแดด กันฝน มีรังไข่ 1 รัง ต่อแม่ไก่ 7 ตัว มีฟางข้าวรองรับเพื่อป้องกันไร ที่นอนยกพื้นสูงประมาณ 1 เมตร มีน้ำสะอาดให้ไก่สามารถกินได้ตลอดเวลา พื้นในโรงเรือนปูด้วยแกลบและฟางข้าว เพื่อไม่ให้ชื้นแฉะ มีการจัดระบบแยกกรง สร้างเผื่อไว้สำหรับใช้ขังไก่ที่ป่วยหรือเป็นโรคระหว่างการที่มีไก่ป่วย

แม่ไก่ไข่อารมณ์ดี

นอกจากนี้ ยังมีลานโล่งให้ไก่ไข่ได้มีอิสระวิ่งเล่น ในช่วงตอนกลางวัน สำหรับอาหารที่ใช้เลี้ยงไก่ไข่คือ อาหารไก่ไข่ 60 เปอร์เซ็นต์ ใช้หยวกกล้วย เศษผัก ผลไม้ หญ้าเนเปียร์ ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ รำ ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ น้ำหมักชีวภาพ ประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ ให้อาหารไก่วันละ 1 ครั้ง ไก่แต่ละตัวต้องการอาหารในปริมาณ 135-150 กรัม ต่อตัว ต่อวัน เลี้ยงไก่ไข่แบบไม่กักขัง มีพื้นที่อิสระ คิดเป็นพื้นที่เลี้ยงไก่ไข่ 1 ตัว ต่อ 2.5 ตารางเมตร

ด้านการตลาด

ปัจจุบัน คุณประเสริฐมีรายได้อย่างสม่ำเสมอ แบ่งเป็นรายได้รายวัน จากการขายไข่ไก่ ขายข้าว ผักคะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้ง ส่วนรายได้รายสัปดาห์มาจาก กล้วยขายใบ ไผ่หวาน พืชผักบางชนิด เช่น ผักกูด ผักเหลียง ผักหวาน ส่วนรายได้รายเดือน ได้แก่ การขายกล้วย มะพร้าว ยางพารา ปลานิล ปลาดุก หอยขม น้ำผึ้ง ส่วนรายได้รายปีมาจากการขายไม้ผล เช่น ทุเรียน มังคุด และเงาะ

ปลูกพืชผักผสมผสาน

เนื่องจากคุณประเสริฐทำเกษตรแบบไร่นาสวนผสมที่เน้นผลิตสินค้าเกษตรปลอดสารพิษ ทำให้สวนแห่งนี้ผ่านการรับรองมาตรฐานระบบการจัดการคุณภาพการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP พืช) พ.ศ. 2559 จำนวน 7 ชนิด ได้แก่ เงาะ ทุเรียน มังคุด ผักบุ้ง กวางตุ้ง มะเขือ คะน้า

คุณประเสริฐ เล่าว่า เขาวางแผนตลาดโดยเน้นการผลิตและจำหน่ายด้วยตัวเองโ ดยเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าที่รักสุขภาพ สินค้าของเขามีช่องทางการจัดจำหน่ายหลากหลาย เช่น ตลาดเกษตรกร โรงพยาบาลบางสะพาน ทุกวันจันทร์และศุกร์ ตลาดเกษตรกร โรงพยาบาลทับสะแก ทุกวันพุธ นอกจากนี้ ยังนำสินค้าไปวางขายที่ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์โอท็อปเขาโพธิ์ ของบริษัทประชารัฐรักสามัคคีอีกด้วย รวมทั้งเข้าร่วมกิจกรรมออกบู๊ธจำหน่ายสินค้าของหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานเกษตร กรมพัฒนาชุมชน และ ธ.ก.ส. เป็นต้น

เพาะเห็ดโอ่ง

ขณะเดียวกัน เขายังมีรายได้จากการจำหน่ายสินค้าหน้าฟาร์ม โดยแบ่งพื้นที่ของตัวเองในการจัดทำตลาดสีเขียว เพื่อเป็นจุดจำหน่ายสินค้าพืชผักและสินค้าเกษตรปลอดภัยของตัวเอง รวมทั้งเกษตรกรเครือข่ายตามฤดูกาล ใน ปี 2561 ที่ผ่านมา ฟาร์มแห่งนี้มีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 472,450 บาท สามารถจำหน่ายผลผลิตได้ 1,326,500 บาท หลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว ยังเหลือผลกำไร 854,050 บาท เรียกว่าเขาเดินมาถูกทางจริงๆ

คุณประเสริฐ ยินดีต้อนรับเกษตรกรและนักท่องเที่ยวที่สนใจศึกษาดูงานของเขาได้ตลอดเวลา ณ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง คุณประเสริฐ ยุวกาฬกุล หมู่ที่ 4 ตำบลร่อนทอง อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  โทรศัพท์ 0843188844

………….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพุธที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2562