ผู้เขียน | ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
นักวิทยาศาสตร์สหรัฐอเมริกาและอินเดีย เปิดเผยว่า การเจ็บป่วยปริศนาที่ส่งผลให้เด็กกว่า 100 คนในตอนเหนือของอินเดียต้องเสียชีวิตลงในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากการกินลิ้นจี่ขณะท้องว่าง ซึ่งเป็นเวลามากกว่า 2 ทศวรรษ ที่มีเด็กๆ หลายรายในรัฐพิหารต้องป่วยด้วยอาการชักและหมดสติ ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งเสียชีวิต และแพทย์ยังหาสาเหตุที่แท้จริงไม่ได้
ล่าสุด ผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์อย่าง The Lancet ได้อธิบายถึงกรณีดังกล่าวว่ามาจากพิษของผลไม้นั่นเอง โดยงานวิจัยระบุว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่นั้นเป็นเด็กยากจนที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคซึ่งเป็นแหล่งปลูกลิ้นจี่ ทำให้พวกเขาเก็บลิ้นจี่ที่ร่วงในสวนมากิน
ซึ่งลิ้นจี่นั้นประกอบด้วยสารที่ยับยั้งความสามารถในการสร้างกลูโคสของร่างกาย ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดของเด็กลดลงไปอีก จากระดับที่ต่ำอยู่แล้วเพราะพวกเขาไม่ได้กินอาหาร ซึ่งหากเป็นอาหารเย็นก็จะทำให้พวกเขาตื่นกลางดึก ก่อนจะชัก หมดสติ และเกิดภาวะสมองบวม
โดยนักวิจัยได้ตรวจสอบเด็กป่วยที่มารักษาตัวที่โรงพยาบาลใน Muzaffarpur ในรัฐพิหาร ระหว่างเดือน พ.ค-ก.ค. 2014 เทียบกับเด็กในแถบแคริบเบียนที่เกิดภาวะสมองบวมและชักคล้ายๆ กัน แต่กรณีเด็กในแถบแคริบเบียนนั้นมีสาเหตุมาจากการกินผลไม้ที่ชื่อว่า ackee ซึ่งเป็นผลไม้ที่มีสารพิษชื่อไฮโปไกลซิน (Hypoglycin) ซึ่งสารดังกล่าวจะไปยับยั้งการสร้างกลูโคสของร่างกาย โดยจากการทดสอบพบลิ้นจี่ก็มีสารดังกล่าวด้วย
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจึงได้ประกาศแจ้งเตือนผู้ปกครอง ให้ตรวจสอบให้ดีว่าเด็กเล็กกินอาหารเย็นก่อนกินลิ้นจี่ รวมถึงต้องจำกัดปริมาณการกินลิ้นจี่ของเด็กๆ ด้วย