มทร.สุวรรณภูมิ วางระบบบริหารจัดการภายใน เตรียมขับเคลื่อนสู่มหาวิทยาลัยสีเขียว

ยูไอ กรีนเมตริก (UI Green Metric) คือ การจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวโลก เพื่อวัดความพยายามเกี่ยวกับความยั่งยืนของมหาวิทยาลัย บนกรอบแนวคิดเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ความประหยัด และความเที่ยงธรรม ตัวชี้วัดและหมวดต่างๆ ในการจัดอันดับจะมีความเกี่ยวเนื่องกันกับแนวคิดทั้งหมด การเข้าร่วมในการจัดอันดับ ยูไอ กรีนเมตริก จะช่วยสร้างเสริมความพยายามที่จะทำให้มหาวิทยาลัยมีความเป็นสากลและได้รับการยอมรับ

ยูไอ กรีนเมตริก เริ่มต้นด้วยการสร้างความตระหนัก แต่ในอนาคตจะมีการนำไปปรับใช้เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง ถึงเวลาแล้วที่จำเป็นต้องแปรความเข้าใจให้เป็นการกระทำ สิ่งนี้นับว่ามีความสำคัญมาก หากเราต้องการจะจัดการกับความท้าทาย ที่กำลังเกิดขึ้นทั้งโลกในขณะนี้

ผศ.ไพศาล บุรินทร์วัฒนา อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยมีความมุ่งมั่นในการสร้างแบบอย่างและเตรียมพร้อมก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University) โดยเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด คุ้มค่าและยั่งยืน Green University คือ การบริหารจัดการทรัพยากรและการพัฒนาเพื่อไปสู่ความยั่งยืน จึงได้จัดทำโครงการสำรวจสภาพปัญหาผังโครงการก่อนเข้าสู่มหาวิทยาลัยสีเขียว ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัย พ.ศ. 2560-2564 ตามประเด็นยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยที่ 5 คือการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อความมั่นคงและการบริหารจัดการตนเองได้ มีเป้าหมายการดำเนินโครงการอยู่ 2 ประเด็นหลักที่สำคัญ ประเด็นแรก เพื่อสำรวจสภาพปัญหาทางกายภาพของมหาวิทยาลัย และประเมินตนเองตามเกณฑ์มาตรฐานสากล UI GreenMetric ประเด็นที่สอง เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะในการบริหารจัดการ และการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่มาตรฐานมหาวิทยาลัยสีเขียวสากล โดยการสำรวจสภาพปัญหาทางกายภาพของมหาวิทยาลัยเพื่อประเมินตนเองตามเกณฑ์มาตรฐานสากล UI GREENMETRIC

มหาวิทยาลัยได้เพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยการปลูกหญ้า ปลูกต้นไม้ และได้เริ่มต้นใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นอาคารแรก ณ อาคารจัดการบริหารเชิงบูรณาการ นอกจากนั้น การดำเนินงานอาคารสีเขียวของมหาวิทยาลัย มีการกำหนดเป็นนโยบาย การก่อสร้างและปรับปรุงอาคารให้สามารถระบายอากาศได้ดี ใช้แสงธรรมชาติตลอดทั้งวัน มีระบบการจัดการพลังงานในอาคาร การจัดการ ของเสีย มหาวิทยาลัยอยู่ได้มีการวางแผนนโยบาย เพื่อลดการใช้กระดาษและพลาสติก และส่งเสริมโครงการนำของเสียในมหาวิทยาลัย กลับมาใช้ใหม่ ใช้สื่อในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือการประชาสัมพันธ์ที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศแทน ลดปริมาณการเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในมหาวิทยาลัย การกำจัดของเสียอินทรีย์และอนินทรีย์ รวมถึงโครงการจัดทำปุ๋ยหมัก ด้านน้ำ ได้ดำเนินการโครงการอนุรักษ์การนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ในระยะเริ่มต้นที่อาคารโรงอาหาร RUS Food Senter และโครงการเปลี่ยนอุปกรณ์ประหยัดน้ำ โดยในปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมีปริมาณการใช้น้ำประปา และปริมาณการใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ลดการใช้น้ำประปา ส่วนด้านการขนส่ง ระบบการขนส่งเป็นปัจจัยสำคัญในเรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมลพิษในมหาวิทยาลัย มีนโยบายส่งเสริมการเดินเท้า มีการรณรงค์การใช้รถจักรยานภายในมหาวิทยาลัยแทนรถยนต์หรือรถจักยานยนต์ มีระบบขนส่งสาธารณะและจัดที่จอดรถอย่างเป็นระบบ กำหนดโซนที่จอดรถหรืออาคารที่จอดรถให้ง่ายต่อการบริหารจัดการมลภาวะทางอากาศ สำหรับด้านการศึกษา มหาวิทยาลัยได้สอดแทรกรายวิชาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนในหลักสูตร และสนับสนุนทุนวิจัยให้แก่นักวิจัย ทำงานเกี่ยวกับด้านสิ่งแวดล้อม