แบนสารเคมี 3 ชนิด จะมีผลอย่างไร

เรียน คุณหมอเกษตร ทองกวาว ที่นับถือ

ขณะนี้มีข่าวเกี่ยวกับการแบนสารเคมี 3 ชนิด อย่างเอาจริงเอาจัง บางฝ่ายบอกว่า แบนแล้วจะดี และอีกฝ่ายหนึ่งจะเกิดผลกระทบกับการทำอาชีพเกษตรกรรม ผมจึงเกิดความสงสัยว่าจะไปทางไหนดี ผมจึงขอรบกวนคุณหมอเกษตร ทองกวาว กรุณาให้ข้อมูลกับผม และจะเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านไปพร้อมกัน ผมถือโอกาสขอบคุณมา ณ โอกาสนี้ครับ และผมจะติดตามอ่านในนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านต่อไป

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

นพดล ทวีชัยสกุล

กรุงเทพฯ

ตอบ คุณนพดล ทวีชัยสกุล

ประเทศไทย ตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้นฝนตกชุก จึงเป็นประเทศที่พลเมืองส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งในแต่ละปีมีมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร นำเงินตราเข้าประเทศปีละ 1.2 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะข้าว สามารถทำเงินให้ประเทศปีละ 1.5 แสนล้านบาท หากมองลึกลงไปจะเห็นว่ามีการใช้พื้นที่เพื่อผลิตสินค้าเกษตรหลากชนิด โดยเฉพาะสาขาการผลิตพืช ประกอบด้วย ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ปาล์มน้ำมัน และสับปะรด ครอบครองพื้นที่การผลิต 6.7, 6.5, 7.8, 9.9, 4.7 ล้านไร่ และ 4.7 แสนไร่ ตามลำดับ

ทั้งนี้ การผลิตสินค้าทางการเกษตรจำเป็นต้องมีปัจจัยการผลิตเข้ามาสนับสนุน เพื่อให้ได้ทั้งปริมาณและคุณภาพของผลผลิตพอเพียงกับความต้องการบริโภคภายในประเทศ และเพื่อการส่งออก นำเงินตราเข้ามาในประเทศดังที่กล่าวมาแล้ว ปัจจัยการผลิตดังกล่าวประกอบด้วย น้ำ ปุ๋ย และสารกำจัดศัตรูพืช ส่วนแสงแดดและน้ำ บางช่วงธรรมชาติท่านให้มาโดยไม่คิดมูลค่า จากผลงานวิจัยทางวิชาการระบุว่า การปลูกพืชเศรษฐกิจเกือบทุกชนิด หากไม่มีการควบคุมศัตรูพืชจะมีผลทำให้ผลิตลดลงประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์

ศัตรูพืช (Pest) ในระบบสากลจำแนกไว้ดังนี้ โรคที่เกิดจากเชื้อรา อาการของโรคเกิดแผลเน่า และมักพบเส้นใยสีขาว หรือสีชมพูปรากฏให้เห็น โรคที่เกิดจากแบคทีเรีย อาการของโรคเกิดแผลเน่า มีน้ำเมือกไหลออกมา และมีกลิ่นเหม็น โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส อาการของโรคทำให้ใบหงิกงอ เหลืองซีด หรือมีจุดวงกลมขนาดเล็กสีเหลืองซีด แมลงศัตรู เข้ากัดกิน เจาะไช ทั้งที่ใบและผล หนู มีนิสัยกัดกินผลและหัวใต้ดินของพืชที่ปลูก รวมทั้งบุกรุกกินผลิตผลการเกษตรในโรงเก็บ เมื่อมีศัตรูก็มีคนค้นคิดสารเคมีกำจัดศัตรูพืชประเภทต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

1.สารกำจัดเชื้อรา (Fungicide) มีทั้งในรูปของผงและสารละลาย 2. สารกำจัดเชื้อแบคทีเรีย (Bacteriocide) มีทั้งชนิดผลและสารละลาย 3. สารกำจัดเชื้อไวรัส (Viricide) ในความเป็นจริงสารเคมีกำจัดเชื้อไวรัสยังไม่มี แต่จะมีสารที่เพิ่มภูมิต้านทานให้ต้นไม้ปลูกเท่านั้น 4. สารกำจัดแมลงศัตรู (Imsecticide) มีทั้งชนิดสัมผัสตาย หรือฉีดพ่นถูกที่ตัวแมลง ชนิดกินแล้วตาย ตายคือสารเคมีเข้าไปทำลายระบบทางเดินอาหาร และบางชนิดเข้าไปทำลายระบบประสาทของแมลง 5. สารกำจัดหนู (Rodenticide) ปัจจุบัน มีการใช้น้อยลง เกษตรกรหันมาใช้กับดักทดแทนมากขึ้น และ 6. สารกำจัดวัชพืช (Herbicide) มีจำหน่ายทั้งในรูปผง และสารละลาย นอกจากนี้แล้วสารกำจัดวัชพืชยังแยกย่อยในการใช้ในวัยต่างๆ ของวัชพืช ชนิดฉีดพ่นก่อนเมล็ดวัชพืชงอก (Pre-emergent) หมายถึงการกำจัดวัชพืช โดยฉีดสารเคมีชนิดนี้ลงในพื้นที่เพาะปลูกขณะดินแห้งอยู่ เมล็ดวัชพืชยังไม่งอก แต่เมื่อเมล็ดเริ่มงอกหลังได้รับความชื้นทั้งน้ำค้างหรือเม็ดฝน ทันใดนั้นสารดังกล่าวจะไปยับยั้งขบวนการเปลี่ยนแป้งในเมล็ดไม่ให้ดำเนินการเปลี่ยนรูปเป็นน้ำตาลสำหรับเป็นอาหารของต้นอ่อนได้ ในที่สุดต้นอ่อนของวัชพืชจะเหี่ยวแห้งและตายลงในที่สุด

และอีกชนิดหนึ่ง ใช้หลังเมล็ดงอก (Post-emergent) คือฉีดพ่นเมื่อเป็นต้นที่สมบูรณ์ มีใบสีเขียวพร้อมสังเคราะห์แสงได้ นอกจากนี้ ยังแบ่งย่อยได้อีก ชนิดสัมผัสตาย (Contact) คือฉีดพ่นที่ใบ หรือลำต้นที่มีสีเขียวแล้วเหี่ยวแห้งตาย แต่ส่วนใต้ดินยังไม่ตาย อาจฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้อีก และชนิดดูดซึม (Systemic) ใช้ฉีดพ่นที่ใบ ต่อมาสารชนิดนี้จะเคลื่อนที่ไปยังส่วนต่างๆ ของต้นวัชพืช ทำลายได้แม้ส่วนที่อยู่ใต้ดินก็ตาม ทำให้วัชพืชตายทั้งต้น

สารเคมี 3 ชนิด ที่กำลังมาแรง

1.ไกลโฟเสต (Glyphosate) หรือมีชื่อทางการค้าว่า ราวด์อัพ (Roundup) เป็นสารเคมีประเภทดูดซึม จะแสดงผลทำให้วัชพืชตายภายใน 3-4 ชั่วโมง การรับสารชนิดนี้เข้าร่างกายทำให้เกิดอาเจียน คลื่นไส้รุนแรง ชาตามใบหน้า แขน ขา และกล้ามเนื้อกระตุก

  1. พาราควอต (Paraguard) เป็นสารกำจัดวัชพืชชนิดสัมผัสตาย ไม่เคลื่อนย้ายไปตามส่วนต่างๆ ของวัชพืช และทำให้วัชพืชเหี่ยวเฉาภายในไม่กี่ชั่วโมงความเป็นพืช ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ ปวดท้อง อาเจียน เสี่ยงกับสตรีที่ตั้งครรภ์
  2. คลอร์ไพรีฟอส (Chlorpyrifor) เป็นสารกำจัดแมลง โดยเข้าทำลายระบบประสาทของแมลงศัตรู ใช้ได้ดีกับการกำจัดเพลี้ยอ่อน พิษของสารชนิดนี้ทำให้เกิดการอาเจียน ท้องเดิน ตาพร่า หายใจลำบาก แน่นอนว่าสารเคมีทุกชนิดหากเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากจะทำให้เสียชีวิตได้

ลองมาฟังข้อคิดเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน ดังนี้

นายแพทย์ ดร. สมชัย บวรกิตติ ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตสถาน อดีตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบทางเดินหายใจ สรุปว่าไม่พบรายงานเกี่ยวกับสารกำจัดวัชพืชพาราควอตในสายสะดือของสตรีตั้งครรภ์ระยะใกล้คลอด แต่จะชัดเจนเมื่อคนกินเข้าไป ทำให้เสียชีวิตแน่นอน

ศาสตราจารย์ ดร. รังสิต สุวรรณมัคคา ผู้เชี่ยวชาญด้านวัชพืช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความเห็นว่า สารกำจัดวัชพืชพาราควอต เมื่อไหลไปปนเปื้อนในแม่น้ำลำคลอง อนุภาคของดินขนาดเล็กที่ละลายอยู่ในน้ำจะจับเอาโมเลกุลของสารพาราควอตเอาไว้ แล้วตกตะกอน และสลายตัวภายใน 36-40 วัน โดยจุลินทรีย์และแสงแดด นอกจากนี้ ศ.ดร. รังสิต ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า สารกำจัดวัชพืชยังมีความจำเป็นสำหรับเกษตรกร ดังนั้น ระยะนี้ที่ยังไม่สามารถทำสารกำจัดวัชพืชชนิดอื่นมาทดแทนได้ จำเป็นต้องให้คำแนะนำการใช้อย่างถูกต้องกับเกษตรกรผู้ใช้สารเหล่านี้ ดีกว่าให้แบนสารเคมีวัชพืชทั้ง 2 ชนิด และสารกำจัดแมลงไปพร้อมกัน ทั้ง 3 ชนิด

รองศาสตราจารย์ ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอว่า สารกำจัดแมลงคลอร์ไพรอฟอส นั้นสามารถแบนได้ไม่น่ามีปัญหา เพราะมีสารเคมีชนิดอื่นทดแทนอยู่แล้ว แต่สารกำจัดวัชพืชอีก 2 ชนิด คือ ไกลโฟเสต และ พาราควอต จะให้แบนทันทีนั้นย่อมมีผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของเกษตรกรอย่างแน่นอน

ผมได้นำเสนอข้อมูลบางส่วนมาให้เห็นภาพลางๆ จึงขอให้คุณนพดล และท่านผู้อ่านโปรดนำไปพิจารณาด้วยตัวท่านเองอีกชั้นหนึ่ง ขอให้ท่านติดตามข่าวต่อไปอย่างใกล้ชิด ผมขอภาวนาให้ปัญหาดังกล่าวยุติลงได้อย่างสวยงาม มีความพอใจทั้งสองฝ่าย