บุกเบิกสร้างเยาวชนหมอจิ๋วที่แม่แจ่ม สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กรู้รักสุขภาพ และดูแลผู้สูงอายุในชุมชน

แม่แจ่ม 8012563_๒๐๐๑๒๒_0161

ดร. ศศินันท์ วาสิน พร้อมด้วยทีมงานสาขาวิชาเวชศาสตร์ครอบครัว ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ร่วมกับ โรงพยาบาลเทพรัตนเวชชานุกูล เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ลงพื้นที่สำรวจวิถีชีวิตและสุขอนามัยของประชาชนในพื้นที่เพื่อจัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการให้ความรู้เบื้องต้นด้านสุขศึกษาแก่เยาวชนให้สามารถทำหน้าที่เป็นหมอจิ๋วดูแลสุขอนามัยผู้สูงอายุและผู้ป่วยเรื้อรังที่นอนติดเตียงได้ และจากการสำรวจชุมชนก่อนจัดโครงการ พบว่า ชุมชนอำเภอแม่แจ่มต้องการให้ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เข้ามาช่วยให้ความรู้และรณรงค์ให้ชาวบ้านและเกษตรกรลดการใช้สารเคมีเพื่อการเกษตร ซึ่งปัญหาหลักมาจากการใช้สารเคมีในกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟสกับการทำการเกษตรในทุกพื้นที่ ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งและโรคไตจำนวนมาก  สารเคมีจากการเกษตรกระจายลงแหล่งน้ำและสะสมทุกวัน ซึ่งแหล่งน้ำ 30% ของแม่แจ่มไหลลงแม่น้ำปิง จึงจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีกับการเกษตรโดยเร่งด่วน  นอกจากนั้นยังพบปัญหาหมอกควันจากการเผาตอซังข้าวโพดและพืชไร่ต่างๆ จึงควรอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับโรคหอบหืด และปัญหาสำคัญที่ควรเร่งให้ความรู้แก่เยาวชนก็คือเรื่องของพิษภัยจากยาเสพติด

 

นอกจากนั้นพบว่า วิถีชีวิตส่วนใหญ่ของชาวบ้านอยู่กันแบบสังคมผู้สูงอายุ ปู่ย่าตายายอยู่บ้านกับหลานๆ ส่วนคนวัยทำงานและวัยรุ่นมักจะไปทำงานหรือไปมีครอบครัวต่างถิ่น ทำให้ทางชุมชนสนใจที่จะให้ทางทีมงานเวชศาสตร์ครอบครัวเข้ามาช่วยเรื่องการอบรมสร้างหมอจิ๋วให้มีความรู้เบื้องต้นสำหรับดูแลปู่ย่าตายายและผู้สูงอายุในหมู่บ้าน

ดังนั้น ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จึงได้จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การดูแลผู้สูงอายุที่บ้านโดยจิตอาสาหมอจิ๋ว” ขึ้นระหว่างวันที่ 7-9 มกราคม 2563 ณ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เข้าร่วมอบรมจำนวน 20 คน และนักเรียนจากโรงเรียนบ้านพร้าวหนุ่ม และโรงเรียนบ้านทุ่งยาว จำนวน 70 คน หัวข้อการอบรมประกอบด้วย การทำงานของร่างกายและสัญญาณชีพ โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง การเฝ้าระวังโรคติดต่อเชิงรุก กิจกรรมเข้าฐานสัญญาณชีพและฐานความรู้ 10 ฐาน ประกอบด้วย การวัดความดันโลหิต, การจับชีพจร, การวัดไข้, การวัด BMI, การเคลื่อนย้ายผู้ป่วย, การปฐมพยาบาล, การออกกำลังกาย, การเช็ดตัวลดไข้, การป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และยาเสพติด

 

แม่แจ่ม 8012563_๒๐๐๑๒๒_0027

และหลังจากฝึกอบรมในครั้งนี้แล้ว ตลอดปี 2563 เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และ อสม. จะเป็นพี่เลี้ยงให้กับหมอจิ๋วที่ผ่านการฝึกอบรม ลงพื้นที่ปฏิบัติหน้าที่อาสาสมัครหมอจิ๋ว ลงเยี่ยมบ้านในชุมชน โดยมีกระบวนการเยี่ยมบ้าน 3 ขั้นตอน คือ 1. ระยะก่อนเยี่ยมบ้าน หมอจิ๋วต้องวางแผนเตรียมข้อมูลผู้ป่วยและครอบครัว โดยใช้แฟ้มอนามัยครอบครัว OPD Card อุปกรณ์กระเป๋าเยี่ยมบ้านที่มีใบสั่งยา เบอร์โทรศัพท์ผู้ป่วย เครื่องวัดความดันโลหิต หูฟัง ชุดเครื่องมือตรวจหูและตา ปรอทวัดไข้ ไม้กดลิ้น สำลี แอลกอฮอล์ ชุดดทำแผล ถุงมือ เครื่องวัดระดับน้ำตาลแบบพกพา แผ่นพับสุขศึกษา ถุงใส่ขยะ 2. ระยะเยี่ยมบ้าน หมอจิ๋วจะได้ฝึกทักษะการสื่อสารเพื่อสร้างสัมพันธภาพ ค้นหาปัญหา รู้จักเข้าใจ ซักประวัติผู้ป่วย สังเกตและประเมินอาการผู้ป่วย ตรวจดูสภาพแวดล้อมรอบบ้าน พูดคุยกับญาติผู้ป่วยเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและโภชนาการ   3. ระยะหลังการเยี่ยมบ้าน หมอจิ๋วจะต้องสรุปปัญหาของผู้ป่วยและครอบครัวที่เยี่ยม หาแนวทางการแก้ปัญหาและติดตามเยี่ยมบ้านครั้งต่อไป และนำผลที่ได้มาบันทึกลงในรายงานการเยี่ยมบ้านเพื่อประกอบการดูแลต่อเนื่องและประชุมสรุปงานกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และ อสม.

ซึ่งโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การดูแลผู้สูงอายุที่บ้านโดยจิตอาสาหมอจิ๋ว” เป็นโครงการเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนรู้รักษาสุขภาพของตนเอง ครอบครัว และชุมชน เพื่อตอบเป้าประสงค์ของการบริการวิชาการสู่ชุมชนในยุคสังคมผู้สูงอายุ (Aged Society) เพราะคนที่จะดูแลผู้สูงอายุได้ดีก็คือคนในครอบครัวและชุมชน ดังนั้นถ้าเราสร้างให้เยาวชนมีความรู้ด้านสุขอนามัยที่ถูกต้อง พวกเขาจะเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยให้คนในชุมชนมีสุขภาพแข็งแรง และทางคณะผู้จัดโครงการจะไปเยี่ยมติดตามและฝึกอบรมให้ความรู้เพิ่มเติมอย่างสม่ำเสมอทุกปี