ไปดู กิจกรรมเกษตร งานฝึกค้าขาย และงานสหกรณ์ ดอกไม้ประชาธิปไตยบานในโรงเรียน ที่กุสุมาลย์ สกลนคร

วันนี้มีโอกาสเดินทางไปอำเภอกุสุมาลย์ โดยได้รับคำเชิญชวนจาก คุณนพรัตน์ ไชยอิ่นคำ หัวหน้าฝ่ายบริหารทั่วไป (นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ) สำนักงานสหกรณ์จังหวัดสกลนคร โดยมี คุณอัจฉริยา อินธิแสน ตำแหน่งนักวิชาการสหกรณ์ สังกัดกลุ่มจัดตั้งและส่งเสริมสหกรณ์ จังหวัดสกลนคร ร่วมเดินทางไปตรวจเยี่ยมและชมผลงานของคณะครูและนักเรียน บ้านกุงศรี และบ้านนาเพียงเก่า ตำบลนาเพียง อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร ในเรื่องการจัดทำสหกรณ์นักเรียน และการเกษตรในโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนทั้งสองแห่งมีกิจกรรมที่ถือว่าประสบผลสำเร็จ ในด้านสหกรณ์

เดินทางด้วยรถยนต์ของสำนักงานสหกรณ์จังหวัดสกลนคร มี คุณกรวิภา คงอิ่ม สหกรณ์จังหวัดสกลนคร ได้มอบหมายให้ คุณอัจฉริยา อินธิแสน ตำแหน่งนักวิชาการสหกรณ์ สังกัดกลุ่มจัดตั้งและส่งเสริมสหกรณ์ จังหวัดสกลนคร เป็นผู้พาคณะเดินทางลงพื้นที่

สมาชิกรุ่นจิ๋ว

เช้าตรู่นัดแนะกันที่ หน้าสำนักงานสหกรณ์จังหวัดสกลนคร รถพร้อมคนพร้อมมุ่งหน้าไปตามถนนสายสกลนคร-นครพนม ผ่านตัวเมือง เลี้ยวขวา เข้าสู่เส้นทางสกลนคร-นครพนม ถึงบ้านท่าแร่ ดินแดนที่โด่งดังหากเอ่ยชื่อแล้วน้อยคนนักที่ไม่รู้จัก บ้านท่าแร่ที่กำลังจะกลายเป็นตำนานไปแล้ว แต่เดิมเป็นแหล่งปลา ที่ขึ้นชื่อ จนเรียกว่า “ท่าแร่” อยู่ติดริมหนองหาร แต่เดิมเป็นแหล่งปลาที่ชาวบ้านทำเป็นอาชีพที่ควบคู่กับการทำนา ทำการเกษตร วันนี้ “ท่าแร่” จึงเหลือเพียงตำนาน “เกวียนพวง” ที่ขน “ปลาแดก” ไปแลกข้าวหรือขายให้กับคนพื้นที่สูง เช่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม เป็นต้น “วัฒนธรรมปลาแดก” จึงล่มสลาย?

พอถึงบ้านท่าแร่ แยกกลางหมู่บ้าน เลี้ยวซ้าย สู่ถนนท่าแร่-ศรีสงคราม จังหวัดนครพนม เลียบเลาะตามถนนเส้นนี้เดิม แต่ก่อนนั้นระหว่างบ้านท่าแร่ ในอดีตหากผ่านเส้นทางนี้ จะพบกับแหล่งจำหน่ายเนื้อสุนัข ที่ชำแหละวางจำหน่ายให้เห็นหลายราย มีทั้งเนื้อสดวางตัวและตัดหัววางขาย และเนื้อแดดเดียว แต่วันนี้ ถนนสายที่เคยคึกคักไปด้วย “เนื้อสวรรค์” ไม่มีให้เห็นอีกแล้ว

ขับรถผ่านมาราว 15 กิโลเมตร ก็เข้าเขตตำบลอุ่มจาน อำเภอกุสุมาลย์ และอีก 5 กิโลเมตร ก็ถึงโรงเรียนบ้านกุงศรี ตำบลนาเพียง อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร อยู่ติดริมถนน

พบคณะครูที่ดูแลเกี่ยวกับงานสหกรณ์นักเรียน เด็กนักเรียนกำลังเข้าแถวซื้อสินค้าและนำเงินมาออมกันคึกคักด้วยท่าทีมีความสุข

สหกรณ์เป็นองค์การประชาธิปไตย ที่ควบคุมโดยสมาชิกผู้มีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน การกำหนดนโยบายและการตัดสินใจ บุรุษและสตรีผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็นผู้แทนสมาชิก

คุณอัจฉริยา อินธิแสน ตำแหน่งนักวิชาการสหกรณ์ บอกว่า หลักการสหกรณ์ คือ “แนวทางที่สหกรณ์ยึดถือปฏิบัติเพื่อให้คุณค่าทางสหกรณ์เกิดผลเป็นรูปธรรม” ซึ่งประกอบด้วยการที่สำคัญรวม 7 ประการ กล่าวคือ

  1. การเป็นสมาชิกโดยสมัครใจและเปิดกว้าง
  2. การควบคุมโดยสมาชิกตามหลักประชาธิปไตย
  3. การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของสมาชิก
  4. การปกครองตนเองและความเป็นอิสระ
  5. การศึกษา ฝึกอบรมและสารสนเทศ
  6. การร่วมมือระหว่างสหกรณ์
  7. การเอื้ออาทรต่อชุมชน ปัจจุบันระบบสหกรณ์ได้ถูกนำมาขยายต่อประชาชนอย่างกว้างขวาง

สำหรับในส่วนของจังหวัดสกลนคร มีสหกรณ์ 98 แห่ง แยกเป็น สหกรณ์ออมทรัพย์ 9 แห่ง สหกรณ์ร้านค้า 2 แห่ง สหกรณ์การเกษตร 64 แห่ง สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน 13 แห่ง สหกรณ์บริการ 10 แห่ง กลุ่มเกษตรกร 85 แห่ง และยังมี กิจกรรมสหกรณ์นักเรียน 31 โรงเรียน ในส่วนของ “สหกรณ์นักเรียน” ถือเป็นกิจกรรม ให้เด็กนักเรียนได้ทดลองเรียนรู้โดยการปฏิบัติจริง แต่ไม่สามารถจดทะเบียนเป็นสหกรณ์ตามกฎหมายได้

การจัดตั้งสหกรณ์นักเรียน มีสำนักงานสหกรณ์จังหวัดไปดูแลโดยหลักการสหกรณ์ดังกล่าว ซึ่งสหกรณ์เป็นองค์การพื้นฐานประชาธิปไตย

การสร้างสหกรณ์ในโรงเรียน เป็นแบบอย่างของความร่วมมือ ความสามัคคี ซึ่งประกอบด้วยการที่สำคัญ 7 ประการนั้น เพราะตามหลักการสหกรณ์ เป็นพื้นฐานประชาธิปไตยที่สร้างให้เกิดกับเด็กเยาวชน โดยเฉพาะเด็กในสถานศึกษา

คุณอัจฉริยา บอกว่า ทุกเดือนจะมีการเข้าตรวจเยี่ยมโรงเรียนตามแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร อย่างโรงเรียนบ้านกุงศรี และโรงเรียนบ้านนาเพียงเก่าสนธิราษฎร์สามัคคี อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร เพื่อส่งเสริมให้ครูและนักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับการบันทึกบัญชีให้เป็นปัจจุบัน การบันทึกรายงานการประชุมของคณะกรรมการให้ประชุมประจำทุกเดือน แนะนำการจัดสินค้าให้เป็นหมวดหมู่ และการเกษตรในครัวเรือน เพื่อให้นักเรียนไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน

พบว่าสหกรณ์นักเรียนมีการพัฒนาก้าวไกล เด็กนักเรียนเรียนรู้และบางแห่งสามารถจัดทำบัญชีได้เอง และทำงบบัญชีได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าดีใจและภาคภูมิใจ และกิจกรรมสหกรณ์ในโรงเรียน เป็นกิจกรรมที่เด็กนักเรียนสามารถนำไปใช้ในครัวเรือนได้ เช่น การทำบัญชีรายรับ ร่ายจ่าย การประหยัด การออมเงินตลอดจนความสามัคคี ร่วมทำงานเป็นกลุ่ม

นอกจากนี้ โรงเรียนทุกโรงจะมีการทำกิจกรรมการเกษตร ปลูกผักสวนครัว เลี้ยงเป็ด ไก่ เพื่อใช้นำมาเป็นการสมทบในโครงการอาหารของเด็กนักเรียน และสนับสนุนให้มีการนำไปจำหน่ายในตลาดโดยผ่านระบบสหกรณ์ในโรงเรียน ด้วยทำให้เด็กนักเรียนรู้จักการคิดคำนวณต้นทุนและค่าใช้จ่ายเป็น

เด็กหญิงวรรณวิสา อุ่มภูธร ชั้น ป.6 ประธานสหกรณ์โรงเรียนกุงศรี บอกว่า โรงเรียนมีนักเรียนทั้งหมด 117 คน มีบุคลากรครู 10 คน นักเรียนมีตั้งแต่อนุบาลจนถึงชั้น ป.6 ได้ฝึกออมเงินตั้งแต่อนุบาล จนถึง ป.6 และถือหุ้นสหกรณ์ หุ้นละ 10 บาท และเงินออมอย่างน้อยวันละ 1 บาท

การจัดทำบัญชีจะมีครูคอยแนะนำและสอนให้ ปัจจุบัน สหกรณ์มีเงินออมกว่า 150,000 บาท และจะมีการปิดบัญชีทุก 6 เดือน และมีการแบ่งปันกำไร และจัดสรรตามระบบสหกรณ์ เช่น ปันผล กรรมการ ทุนสาธารณะ สำหรับกิจกรรมสหกรณ์ นอกจากมีการออมเงินแล้วยังมีการนำเงินมาลงทุน เช่น ร้านค้าสหกรณ์นักเรียนซื้อสินค้ามาจำหน่าย สมุด ดินสอ ปากกา ตลอดจนนำกิจกรรมการซื้อ-ขาย ผลผลิตที่นักเรียนทำ เช่น ผัก ไข่ไก่ และเลี้ยงปลา จากนั้นนำไปจำหน่ายในตลาดหมู่บ้าน สร้างรายได้และช่วยกิจกรรมการเกษตร ผักที่ปลูก ผักบุ้ง ผักกาด กะหล่ำ ต้นหอม

ปัจจุบันมีกิจกรรมประมงเลี้ยงปลาในบ่อโรงเรียน ไก่ไข่ 94 ตัว โดยเฉพาะไก่ไข่จะมีการเก็บทุกวัน อย่างน้อยได้วันละ 80 ฟอง นำมาจำหน่ายในสหกรณ์ของนักเรียน

แปลงผัก

เด็กหญิงจักรพรรดิ์ ทะวงศรี อายุ 12 ปี ชั้น ป.6 โรงเรียนบ้านนาเพียงเก่าสนธิราษฎร์สามัคคี บอกว่า กิจกรรมของนักเรียนที่นี่มีปลูกมะนาว พืชผักสวนครัว และเลี้ยงปลา เป็นกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ทางการเกษตร เด็กนักเรียนนำไปต่อยอดในครอบครัว ปลูกกินเอง และนำไปจำหน่ายสร้างได้ เด็กๆ มีเงินออมเมื่อจบออกไปเขาก็ถอนหุ้นและรับคืนเงินที่ออมไว้ คนละหลักพันบาทขึ้นไป

สหกรณ์ในโรงเรียน ส่งเสริมให้เด็กรู้จักหลักประชาธิปไตย มีการลงคะแนนเสียง และหาเสียง ตลอดจนความสามัคคี ที่เป็นกิจกรรมร่วมกัน อยากให้กิจกรรมหรือสหกรณ์เกิดขึ้นและเจริญงอกงาม เพราะระบบสหกรณ์เป็นระบบที่เสมอภาคและเท่าเทียมกัน มีสิทธิ์ มีเสียงเท่ากัน

สำหรับผู้ที่สนใจอยากศึกษาดูงาน สามารถติดต่อได้ที่ คุณกรวิภา คงอิ่ม หัวหน้าสำนักงานสหกรณ์จังหวัดสกลนคร โทร. (084) 607-9557 หรือ คุณนพรัตน์ ไชยอิ่นคำ หัวหน้าฝ่ายบริหารทั่วไป (นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ) สำนักงานสหกรณ์จังหวัดสกลนคร โทร. (083) 358-2061