ม.อุบลฯ ผลิตเครื่องรังสีอัลตราไวโอเลตฆ่าเชื้อโควิด-19 แบคทีเรีย มอบให้โรงพยาบาลทั้งจังหวัด

มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผลิตเครื่องสร้างรังสีอัลตราไวโอเลตฆ่าเชื้อโควิด-19 และเชื้อแบคทีเรียต่างๆ ที่มีขนาดเล็ก มอบให้โรงพยาบาลในจังหวัดใช้ฆ่าเชื้อในห้องทำงานแพทย์หรือห้องผู้ป่วยติดเชื้อฟรี

ที่โรงพยาบาลประจำอำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พร้อม ดร.อนิรุธ สืบสิงห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มอบเครื่อง UBU-UVC: Smart Germicidal Irradiation Machine ให้กับโรงพยาบาลอำเภอวารินชำราบ เพื่อนำไปใช้ฆ่าเชื้อโรคในห้องทำงานของคณะแพทย์ พยาบาล รวมไปถึงห้องผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 1 เครื่อง โดยมีบริษัท อาร์เอสที โรโบติกส์ ผู้ประกอบการหน่วยบ่มเพาะอุทยานวิทยาศาสตร์ เป็นผู้พัฒนาขั้นตอนการผลิต ทั้งโครงสร้างและองค์ประกอบฮาร์ดแวร์ของเครื่อง

ดร.อนิรุธ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้คิดค้นประดิษฐ์เครื่อง UBU-UVC ซึ่งเป็นเครื่องผลิตรังสีอัลตราไวโอเลตใช้ฆ่าเชื้อโรคกล่าวถึงประสิทธิภาพว่า เครื่องสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัสโควิด-19 ที่อาจตกค้างในห้องปฏิบัติงาน รวมถึงเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ได้ทุกชนิด

โดยเครื่องมีระบบการทำงานด้วยหลอดยูวีซี (UVC ) ขนาดรวม 320 วัตต์ สามารถสร้างรังสีอัลตราไวโอเลต มีความยาวคลื่นที่ 253.7 นาโนเมตร ซึ่งเป็นช่วงแสง UVC มีประสิทธิภาพสูงในการกำจัดสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กหรือเชื้อโรคต่างๆ

โดยความยาวคลื่นนี้ มีความสามารถทำลายโครงสร้างดีเอ็นเอและอาร์เอ็นเอของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กอย่างไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อโรคชนิดต่างๆ ไม่ให้แพร่พันธุ์และฆ่าพาหะเหล่านี้ ครอบคลุมพื้นที่ขนาด 14-25 ตารางเมตร หรือห้องที่มีความกว้าง 4 คูณ 4 เมตร จะให้ประสิทธิภาพในการใช้งานได้สูง โดยใช้มือถือควบคุมการเปิด-ปิดเครื่อง และตั้งเวลาการทำงานได้จากระยะไกล เพื่อใช้เวลาฆ่าเชื้อต่อครั้ง 15-30 นาที

โดยเครื่อง UBU-UVC ที่นำมามอบให้โรงพยาบาลอำเภอวารินชำราบนี้ เป็นเครื่องต้นแบบ และมีเป้าหมายผลิตอีก 5 เครื่อง เพื่อส่งมอบให้กับโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ โรงพยาบาล 50 พรรษามหาวชิราลงกรณ และโรงพยาบาลในต่างอำเภอ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อไวรัสต่างๆ รวมทั้งไวรัสโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาล

สำหรับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่สนใจให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผลิตแล้วนำไปบริจาคให้กับหน่วยงานด้านสาธารณสุข สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ดร.อนิรุธ สืบสิงห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โทรศัพท์ (097) 992-9428 หรือที่อีเมล [email protected]

———————————————————————————————————

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิถุนายน 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่