มะเร็งป้องกันได้ แค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

ในสหรัฐอเมริกา ผู้คนเสียชีวิตด้วยสาเหตุจากโรคหัวใจและโรคมะเร็ง คิดเป็น 23 เปอร์เซ็นต์ ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด มีการคาดการณ์ว่า ปี 2020 จะมีคนเสียชีวิตประมาณ 12 ล้านคนจากโรคมะเร็ง ด้วยเหตุนี้เอง จึงมีการประกาศสงครามกับโรคมะเร็ง

การค้นหาและลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ จึงเป็นแนวทางการเอาชนะโรคมะเร็งที่เหล่านักวิจัยได้มีการศึกษาและนำมาประยุกต์ใช้ในทางการแพทย์ จากความเชื่อที่ว่ามะเร็งนั้น หากพ่อแม่เป็น ลูกจะมีโอกาสสูงที่จะเป็นด้วย ความจริงแล้วปัจจัยด้านพันธุกรรมมีผลประมาณ 5-10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น นอกนั้นเป็นปัจจัยเสี่ยงจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต

ปัจจัยเสี่ยงด้านการสูบบุหรี่ ในบุหรี่มีสารก่อมะเร็งอย่างต่ำ 50 ชนิด กลไกการก่อมะเร็งของบุหรี่ เรายังไม่เข้าใจทั้งหมด แต่ทราบว่าการสูบบุหรี่ทำให้เกิดการอักเสบภายในร่างกายได้ ซึ่งมีงานวิจัยพบว่า Curcumin ที่สกัดจากขมิ้นชัน สามารถยับยั้งกระบวนการอักเสบที่ถูกกระตุ้นจากการสูบบุหรี่ได้

ปัจจัยด้านการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แอลกอฮอล์อาจไม่ใช่สารก่อมะเร็งโดยตรง แต่ถือว่าเป็นผู้ร้ายร่วมที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งกล่องเสียง มะเร็งหลอดลม ถ้าสูบบุหรี่ร่วมด้วยจะทำให้แอลกอฮอล์ดูดซึมเข้าไปที่หลอดอาหารได้มากขึ้น ก็จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งได้มากขึ้นตามมา นอกจากนี้ หากดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป อาจทำให้เกิดโรคตับแข็งเรื้อรัง ส่งผลให้มีโอกาสเป็นมะเร็งตับสูงขึ้น

ปัจจัยด้านพฤติกรรมการรับประทานอาหาร 70 เปอร์เซ็นต์ เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ คำแนะนำคือ พยายามหลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อแดงและอาหารปิ้งย่าง

ปัจจัยเรื่องการควบคุมน้ำหนัก มีการวิจัยพบว่า เมื่อมีภาวะอ้วน (ดัชนีมวลกายมากกว่า 30) จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย เช่น อินซูลิน ฮอร์โมนเพศ สารสื่อประสาท ซึ่งมีผลกระตุ้นให้เกิดการอักเสบภายในเซลล์ได้ และจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งตามมา

ปัจจุบันมียาแผนปัจจุบันหลายชนิดที่พบว่าสามารถป้องกันมะเร็งได้ แต่ก็ตามมาด้วยความเสี่ยงของการเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงและการเกิดโรคอื่นๆ มากขึ้นเช่นกัน ฉะนั้น ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติจึงเป็นทางเลือกที่สำคัญในการป้องกันมะเร็ง สารจากธรรมชาติที่มีบทบาทในการป้องกันมะเร็ง จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า มีมากกว่า 25,000 ชนิด แต่มีเพียงไม่กี่ชนิดที่โดดเด่นในการนำมาใช้ในมนุษย์ เช่น

Curcumin ที่สกัดมาจากขมิ้นชัน ให้ผลดีในการรักษาโรคมะเร็งลำไส้ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว และลดการทำลายเนื้อเยื่อที่เกิดจากโรคมะเร็งหลายชนิด

Gingerol ที่สกัดจากขิง สามารถต้านมะเร็งได้ด้วยกลไกการออกฤทธิ์ที่หลากหลาย เช่น การต้านอนุมูลอิสระ ยับยั้งการตายของเซลล์ และต้านการอักเสบ

สมมติฐานหนึ่งในการเกิดโรคมะเร็ง คือเกิดจากการอักเสบแบบเรื้อรังภายในร่างกาย หากเราปฏิบัติตัวเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงนี้ได้ ก็เท่ากับว่าเราสามารถป้องกันการเกิดโรคมะเร็งได้ ซึ่งวิธีที่ทำได้ง่ายและประหยัดที่สุด เริ่มจากการปรับพฤติกรรมในการใช้ชีวิต การรับประทานอาหารและอย่าลืมออกกำลังกายเป็นประจำ

ขอบคุณข้อมูล ภก.ณัฐดนัย มุสิกวงศ์ คอลัมน์พืชใกล้ตัว อภัยภูเบศรสาร ปีที่ 15 ประจำเดือนพฤษภาคม 2561

หญ้าดอกขาว สมุนไพรช่วยลดความอยากบุหรี่

จากคอลัมน์คนงามเพราะแต่ง โดย ภญ.อาสาฬา เชาวน์เจริญ ในอภัยภูเบศรสาร ปีที่ 15 ประจำเดือนพฤษภาคม 2561 นำเสนอเรื่องหญ้าดอกขาว เพราะวันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก บุหรี่ก็เป็นตัวการสำคัญที่ทำร้ายความสวยงาม ไม่ว่าจะเป็นในผู้ชายหรือผู้หญิง เช่น ทำให้หน้าแก่ก่อนวัย ทำให้เกิดปัญหาโรคปริทันต์อักเสบ

ในการแพทย์แผนไทยใช้หญ้าดอกขาวเป็นยาบำบัดโรคเสพยาสูบ บรรเทาอาการไอ แก้หอบหืด รักษาหลอดลมอักเสบ โดยเริ่มมีรายงานอย่างชัดเจนว่าใช้หญ้าดอกขาวเพื่อช่วยเลิกบุหรี่มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 หญ้าดอกขาว ช่วยเลิกบุหรี่ เป็นภูมิปัญญาของคนไทยที่ไม่ปรากฏการใช้ในประเทศอื่นๆ

ปัจจุบันมีงานวิจัยมากมายที่ยืนยันถึงประสิทธิภาพของหญ้าดอกขาวในการเลิกบุหรี่ รวมถึงประโยชน์ในด้านอื่นๆ เช่น มีการศึกษาในหลอดทดลองพบว่า หญ้าดอกขาวมีฤทธิ์ยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งปอด มีการศึกษาในหนูทดลองที่ได้รับสารนิโคติน พบว่า เมื่อได้รับสารสกัดหญ้าดอกขาว 6 เดือน มีผลปรับปรุงเนื้อเยื่อทางเดินหายใจให้ดีขึ้น โดยวัดจากการที่มีการลดลงของเซลล์อักเสบ มีบริเวณที่เกิดพังผืดลดลง นอกจากนี้ ยังมีสารกลุ่มฟลาโวนอยด์และเทอร์พีนอยด์ ซึ่งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและลดการอักเสบ

ในประเทศญี่ปุ่น มีการจดสิทธิบัตรใส่หญ้าดอกขาว เข้าไปในก้นกรองบุหรี่ สารสำคัญคือ โซเดียมไนเตรต โดยมีผลทำให้ตุ่มรับรู้ที่ลิ้นเปลี่ยนและรู้สึกชา ดังนั้น เวลาสูบบุหรี่จะทำให้ผู้สูบไม่สามารถรับรสชาติของนิโคตินได้ ทำให้ลดปริมาณการสูบบุหรี่ลงได้ รู้สึกเหม็นกลิ่นบุหรี่ และลดความอยากบุหรี่ นอกจากนี้ ยังมีสารนิโคตินปริมาณเล็กน้อย ที่ช่วยลดผลข้างเคียงจากอาการเลิกบุหรี่ได้

ปัจจุบันหญ้าดอกขาว เป็นยาสมุนไพรที่อยู่ในบัญชีหลักแห่งชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 โดยมีข้อบ่งใช้เพื่อช่วยลดความอยากบุหรี่ ส่วนที่ใช้ส่วนเหนือดิน

วิธีใช้

รับประทานครั้งละ 2 กรัม ชงน้ำร้อนประมาณ 120-200 มิลลิลิตร (1 แก้ว) วันละ 3-4 ครั้ง หลังอาหาร

ข้อควรระวัง

ควรระวังการใช้กับผู้ป่วยโรคหัวใจและโรคไต เนื่องจากยาหญ้าดอกขาว มีโพแทสเซียมสูง อาการไม่พึงประสงค์ ปากแห้ง คอแห้ง

……………………………

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่