เทคโนโลยีผลิตมะม่วงนอกฤดู นวัตกรรมเด่น “มหาวิทยาลัยนเรศวร”

มะม่วง เป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ก้อนโตให้แก่เกษตรกรไทยในแต่ละปี โดยมีอัตราการเติบโตกว่า ปีละ 10% ทำให้มะม่วงเป็นไม้ผลที่มีพื้นที่ปลูกมากที่สุดในประเทศ กว่า 1.97 ล้านไร่ ผลผลิตรวม 3.12 ล้านตัน ผลผลิตเฉลี่ย 1,583 กิโลกรัม ต่อไร่ ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 5.42 บาท ต่อกิโลกรัม โดยราคาที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ย 29.75 บาท ต่อกิโลกรัม นับเป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่ให้ผลตอบแทนสูงมาก คุ้มค่ากับการลงทุน จึงเป็นพืชเศรษฐกิจอันดับต้นๆ ที่เกษตรกรหน้าใหม่สนใจเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง

ช่วงฤดูกาลผลิตมะม่วงของประเทศไทย (เมษายน-มิถุนายน) มีปริมาณการส่งออก 117,472 ตัน มูลค่าส่งออก 4,385 ล้านบาท ซึ่งตลาดหลักสำคัญคือ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ สินค้าขายดีคือ มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง เป็นสายพันธุ์มะม่วงที่ตลาดญี่ปุ่นมีความต้องการสูง เนื่องจากลักษณะเด่นของมะม่วงสายพันธุ์นี้ เมื่อผลสุกผิวของเปลือกมีสีเหลืองนวลถึงเหลืองทอง เนื้อสีเหลืองมีกลิ่นหอม เนื้อละเอียดมีเสี้ยนค่อนข้างน้อย รสหวาน ในปี 2562 ไทยส่งออกมะม่วงสดอบไอน้ำไปญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ จำนวน 12,136.70 ตัน มูลค่า 1,261.70 ล้านบาท (ที่มา : ศูนย์สารสนเทศการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร 2561)

เทคโนโลยีการผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองนอกฤดู

ผศ.ดร. พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร เล็งเห็นความสำคัญของตลาดมะม่วง จึงได้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองนอกฤดู ถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรชาวสวนมะม่วงทั่วประเทศ ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวมีขั้นตอนการผลิตดังต่อไปนี้ คือ

1. ตัดแต่งกิ่ง เพื่อให้ทรงพุ่มโปร่งและควบคุมความสูงของต้นมะม่วง ไว้ที่ 2.5-3 เมตร

2. เร่งการแตกใบอ่อนให้แตกพร้อมกันทั้งต้น โดยการใช้สารไทโอยูเรีย อัตรา 2.5 กิโลกรัม หรือโพแทสเซียมไนเตรต อัตรา 12.5 กิโลกรัม และสาหร่ายสกัด อัตรา 1.5 ลิตร ต่อน้ำ 1,000 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วลำต้น

ผศ.ดร. พีระศักดิ์ ฉายประสาท

3. ภายหลังจากพ่นสารไทโอยูเรีย หรือโพแทสเซียมไนเตรต ประมวณ 1 สัปดาห์ มะม่วงจะเริ่มแตกตา จากนั้นฉีดพ่นด้วยปุ๋ยทางใบ 30-20 10 อัตรา 3-4 กิโลกรัม และสาหร่ายสกัด อัตรา 1.5 ลิตร ต่อน้ำ 1,000 ลิตร ทุกๆ 7 วัน

4. ภายหลังการแตกใบอ่อนได้ประมาณ 1 เดือน มะม่วงจะพัฒนาเข้าสู่ระยะเพสลาด ใช้สารแพคโคลบิวทราโซลละลายน้ำเล็กน้อย อัตรา 10 กรัม ต่อเส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม 1 เมตร (ปริมาณสารออกฤทธิ์ 10% ราดบริเวณรอบๆ โคนต้น)

5. ช่วงสะสมอาหาร ฉีดพ่นปุ๋ยทางใบ 0-52-34 อัตรา 5 กิโลกรัม และแคลเซียม-โบรอน อัตรา 1.5 ลิตร ต่อน้ำ 1,000 ลิตร (แคลเซียม ความข้มข้น 22.5%) และโบรอน ความเข้มข้น 0.03%)

6. ภายหลังการราดสารแพคโคลบิวทราโซล ประมาณ 2 เดือน ใบแก่จัดมียอดนูนเห็นได้ชัด เป็นระยะที่เหมาะกับการบังคับให้ออกดอก (การดึงดอก) หรือเมื่อใช้มือกำใบมะม่วงแล้วคลายออก จะเห็นเส้นสีขาวปรากฏขึ้น

ถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรชาวสวนมะม่วง

7. การฉีดพ่นไทโอยูเรีย หรือโพแทสเซียมไนเตรต เพื่อบังคับการออกดอก โดยการใช้สารไทโอยูเรีย อัตรา 2.5 กิโลกรัม หรือโพแทสเซียมไนเตรต 12.5 กิโลกรัม และสาหร่ายสกัด อัตรา 1.5 ลิตร ต่อน้ำ 1,000 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วลำต้น

8. ระยะเดือยไก่ ภายหลังจากการฉีดพ่นสารไทโอยูเรีย หรือโพแทสเซียมไนเตรต ประมาณ 8-12 วัน

– ควรฉีดพ่นสาร NAA ความเข้มข้น 4.5% อัตรา 500 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 1,000 ลิตร เพื่อเพิ่มให้ดอกสมบูรณ์เพศ

– ฉีดพ่น แคลเซียม-โบรอน อัตรา 1.5 ลิตร ต่อน้ำ 1,000 ลิตร (แคลเซียม ความเข้มข้น 22.5% และโบรอน ความเข้มข้น 0.75%)

– ฉีดพ่นด้วยปุ๋ยทางใบ 10-52-17 อัตรา 3 กิโลกรัม ต่อน้ำ 1,000 ลิตร

– ฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดแมลงและเชื้อราชนิดดูดซึม

9. ระยะก้างปลา ควรฉีดพ่น ดังนี้

– ฉีดพ่นแคลเซียม-โบรอน อัตรา 1.5 ลิตร ต่อน้ำ 1,000 ลิตร (แคลเซียม ความเข้มข้น 22.5% และโบรอน ความเข้มข้น 0.75%)

– ฉีดพ่นด้วยปุ๋ยทางใบ 10-52-17 อัตรา 3 กิโลกรัม ต่อน้ำ 1,000 ลิตร

– ฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดแมลงและเชื้อราชนิดดูดซึม

มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง

10. ระยะดอกบาน หากพบการแพร่ระบาดเพลี้ยไฟ ควรฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดแมลงชนิดดูดซึม ไม่ควรฉีดพ่นแคลเซียม-โบรอน เพราะจะทำให้เกิดดอกพลาสติกและลูกกะเทย (ผลที่ไม่ได้รับการผสมเกสร)

11. มะม่วงจะอยู่ในระยะดอกบาน ควรงดการฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดแมลง และใช้แมลงวันช่วยผสมเกสร โดยมีปลาสดเป็นเหยื่อล่อ

12. ภายหลังดอกบาน ประมาณ 60-67 วัน หรือขนาดเท่าไข่ไก่ ควรฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชและแมลงชนิดดูดซึม จากนั้นห่อผลด้วยกระดาษคาร์บอนชนิดบาง และปิดปากถุงให้สนิท พร้อมทำสัญลักษณ์ เพื่อให้ทราบวันที่ห่อผลและสามารถเก็บผลมะม่วงได้ตามความแก่ที่เหมาะสม

13. การเก็บเกี่ยวมะม่วงเพื่อการส่งออก ควรดูองค์ประกอบ ดังนี้ี

– อายุของผลหลังดอกบาน ประมาณ 110-115 วัน

– การจุ่มในน้ำหรือน้ำเกลือ 2% หากมะม่วงจมน้ำ แสดงว่ามีความแก่หรือสมบูรณ์ที่ 80%

-ไม่พบสะดือบริเวณผลมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง

– พบไคลหรือไขนวล บริเวณเปลือกของผล

เทคโนโลยีการผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเพื่อการส่งออก

“ยืดอายุมะม่วง” เพื่อการขนส่งทางเรือ

ในปีนี้ เมืองไทยมีผลผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองจำนวนมาก แต่โชคร้าย เจอผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ทำให้การขนส่งสินค้าทางอากาศโดยสายการบินพาณิชย์มีค่าระวางสินค้าที่แพงขึ้น ทำให้ไทยไม่สามารถส่งออกมะม่วงทางเครื่องบินไปยังตลาดพรีเมี่ยมสำคัญ คือ ประเทศญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ได้ตามปกติ ทำให้เกิดปัญหาผลผลิตล้นตลาดและขายได้ราคาต่ำ

โชคดีที่ก่อนหน้านี้ ผศ.ดร. พีระศักดิ์ ฉายประสาท และคณะ ประกอบด้วย รศ.ดร. มาฆะสิริ เชาวกุล นายพุทธพงษ์ สร้อยเพชรเกษม มหาวิทยาลัยนเรศวร ผศ.ดร. รณฤทธิ์ ฤทธิรณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ดร. ปัณณวิชญ์ ใบกุหลาบ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ได้ร่วมกันศึกษาเรื่อง “การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเพื่อการส่งออกตลาดประเทศญี่ปุ่นโดยการขนส่งทางเรือเชิงพาณิชย์” ภายใต้ทุนวิจัยมุ่งเป้าจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

ทีมนักวิจัยลงพื้นที่สวนมะม่วง

นวัตกรรมดังกล่าวช่วยยืดอายุการเก็บรักษามะม่วงน้ำดอกไม้สีทองในสภาพดัดแปลงบรรยากาศ โดยการบรรจุถุงพลาสติก WEB (White ethylene absorbing bag) และเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 13 องศาเซลเซียส สามารถยืดอายุการเก็บรักษามะม่วงน้ำดอกไม้สีทองได้เป็นระยะเวลา 33 วัน จากเดิมที่เก็บรักษามะม่วงได้เพียง 15 วัน โดยถุงพลาสติก WEB ช่วยลดการสูญเสียน้ำ ลดอัตราการหายใจ และลดการผลิตเอทิลีน โดยยังคงรักษาคุณภาพมะม่วงให้อยู่ในระดับที่ได้รับการยอมรับของผู้บริโภค

เก็บรักษามะม่วงในสภาพดัดแปลงบรรยากาศ (MAP) โดยบรรจุถุงพลาสติก WEB

ก่อนหน้านี้ ทีมคณะวิจัยได้ทดลองส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองทางเรือไปประเทศญี่ปุ่นในช่วงฤดูร้อน จำนวน 1.2 ตัน เพื่อยืนยันผลการศึกษาด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและวิธีการยืดอายุมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง โดยเริ่มต้นจากคัดเลือกผลผลิตมะม่วงจากสวนที่ได้มาตรฐาน ผ่านการตรวจคุณภาพความแก่ ทำความสะอาด และกระบวนการยืดอายุ ก่อนขนส่งมะม่วงโดยเรือบรรทุกสินค้าเดินทางถึงท่าเรือโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น ใช้ระยะเวลาตั้งแต่เก็บเกี่ยวจนถึงประเทศญี่ปุ่น 20 วัน ผลการทดลองพบว่า มะม่วงทั้งหมดอยู่ในสภาพสดพร้อมจำหน่าย แถมยังคงรสชาติความอร่อยได้ดี เป็นที่พึงพอใจของผู้บริโภค

ผลงานวิจัยดังกล่าว ช่วยให้ผู้ส่งออกไทยสามารถขนส่งมะม่วงทางเรือ โดยมีต้นทุนการขนส่งไม่เกิน 30 บาท ต่อกิโลกรัม นับว่า นวัตกรรมดังกล่าวช่วยลดต้นทุนการขนส่งได้ประมาณ 2 เท่า (ที่หน่วยขนส่ง 10 ตันทางอากาศ เทียบกับ 10 ตันทางเรือ) สามารถแก้ไขปัญหาการส่งออกมะม่วงในภาวะวิกฤต โควิด-19 ได้อย่างดีเยี่ยม

เทคโนโลยีนี้ช่วยยืดอายุมะม่วงได้ 33 วัน จึงส่งออกสินค้าทางเรือได้

หากเกษตรกรหรือผู้ส่งออกรายใดสนใจนวัตกรรมดังกล่าว หรือต้องการความช่วยเหลือทางวิชาการ สามารถเข้ารับการฝึกอบรมออนไลน์ หรือหากต้องการให้ประสานงานกับผู้ส่งออกและนำเข้าปลายทางในประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย สามารถติดต่อ ผศ.ดร. พีระศักดิ์ ฉายประสาท ได้ที่เบอร์โทร. 081-971-3510 หรือ อีเมล [email protected] ได้ตลอดเวลา

มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองที่วางขายในญี่ปุ่น

…………..
พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่