รีสอร์ต ไร่คุณนงลักษณ์ น้ำหนาว สวิตเซอร์แลนด์เมืองไทย ประทับใจที่ได้มาเยือนถึงถิ่น

ถ้าหากจะเอ่ยถึงเรื่อง คำว่า “รีสอร์ต” คนไทยรู้จักกันดี เริ่มจากภาคใต้ถึงเหนือ และอีสาน ว่ากันอย่างงั้นหลายปีผ่านไป ความนิยมการเที่ยวชมธรรมชาติของคนไทยเริ่มหันเหมาทางภาคเหนือตอนบน ตอนล่าง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เหตุผลจากอะไร หลายคนอาจไม่ทราบ!!!

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานรางวัลชนะเลิศภาพถ่าย ซึ่งภาพดังกล่าวถ่ายที่ไร่คุณนงลักษณ์ รีสอร์ตน้ำหนาว โครงการ “สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ”

เพราะสภานที่ดังกล่าวช่างสวยงามตามธรรมชาติ มีป่าเขาลำเนาไพรดูสวยงาม และที่สำคัญ นักท่องเที่ยวรายได้น้อยก็มีโอกาสมาเที่ยวได้ เพราะราคาและการครองชีพรายจ่ายไม่แพงเกินไปนัก

ต่างกับภาคใต้ ทั้งระยะทางไกล ค่าที่พัก อาหารทะเล ค่าใช้จ่ายสูง แพงไป ไม่เหมาะกับคนไทยยุคเศรษฐกิจตกต่ำ เลยหันมาท่องเที่ยวภาคอื่นกันดีกว่า

ภาพถ่ายชนะเลิศที่หน้าผารีสอร์ต ไร่คุณนงลักษณ์ น้ำหนาว เพชรบูรณ์ ผู้ท่องเที่ยวจากชลบุรีมาพักแล้วถ่ายภาพไปประกวด ในโครงการ “สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ” ได้รับพระราชทานรางวัล ชนะเลิศ 1 แสนบาท

แม้ว่าทางภาคใต้จะเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ หันมาใช้ระบบ “โฮมสเตย์” ที่มีราคาถูกกว่า ทั้งอาหารทะเลสด หรือค่าที่พัก แต่ก็มีอุปสรรคในการเดินทางอยู่ดี ยกเว้นคนชั้นกลางที่พอจะมีเงินเพียงพอพากันไปเป็นกลุ่มคณะที่พอจะกระจายรายได้สู่ต่างจังหวัดได้ นี่คือ เสน่ห์ของโฮมสเตย์

เพราะฉะนั้นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล คนภาคอื่นมักจะไปสนุกกับทะเลพัทยา บางแสน หรือชะอำ ที่เดินทางไม่ไกล แถมสนนราคาอาหารทะเลไม่แพงเว่อร์จนเกินไป

ผู้เขียน กับ คุณจินดา บุญรอด หลานชาย มองเห็นทิวทัศน์ด้านหลังยังสวยสด

ทำให้นักท่องเที่ยวหันเหไปเที่ยวทะเลหมอกภูเขาที่เชียงใหม่ เชียงราย เพชรบูรณ์ หรือภาคอีสานที่จังหวัดเลย นครราชสีมา (โคราช) และอุบลราชธานี ที่นักท่องเที่ยวในยุคเทศกาลจะมาแห่แหนกันไปจองที่พัก โดยเฉพาะในฤดูหนาว คนจะหนาแน่น จนที่พักต้องจับจองล่วงหน้ากันเลย

ไม่แปลก!! รีสอร์ตในภาคเหนือตอนล่าง ตอนบน ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด หากเป็นจังหวัดเพชรบูรณ์ เฉพาะที่อำเภอเขาค้อ หรือใกล้เคียง มีการบุกรุกที่ดินของรัฐ ที่เรียกว่า ข้ามเขตมาปลูกรีสอร์ตในป่าสงวนแห่งชาติจนเป็นข่าว ทำให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ต้องบุกยึดคืน แล้วรื้อสิ่งก่อสร้างบ้านพักรีสอร์ตจนราพณาสูร เมื่อรัฐเอาจริง เพื่อเป็นตัวอย่างของคนไทยกลุ่มหนึ่งชอบบุกรุกเข้ามาทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างน่าเสียดาย

คุณนงลักษณ์ บุญรอด เจ้าของรีสอร์ต ไร่คุณนงลักษณ์ น้ำหนาว เพชรบูรณ์ ในยามพักผ่อนกับน้องชาย

เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานั้น

ผู้เขียนได้มีโอกาสได้ไปจังหวัดขอนแก่นอีกครั้งหนึ่ง เพื่อไปงานศพของเพื่อนร่วมรุ่นที่เคยเรียนกันมาจากแม่โจ้ที่เสียชีวิตไป ในฐานะเป็นเพื่อนรักกันมากในสมัยเรียนหนังสือ

หลังเสร็จพิธีศพแล้วได้คิดล่วงหน้า ไหนๆ จะได้ไปขอนแก่น ควรจะเลยไปเยี่ยมญาติที่อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น

คุณนงลักษณ์ พานั่งชมวิวที่ห้องบริการคาเฟ่ “บ้านสน” ร้านน้องสาวเธอ เปลี่ยนบรรยากาศอีกมุมหนึ่งใกล้ๆ รีสอร์ต

เพราะญาติๆ จากจังหวัดกำแพงเพชรอพยพมาอยู่ที่นี่นานแล้วกว่า 5 ทศวรรษ มาตั้งถิ่นฐานอาชีพใหม่กันหลายคน  เลยถือโอกาสที่ญาติส่งรถมารับยังที่ สถานที่วัดแห่งหนึ่งหลังฌาปนกิจศพเพื่อนแล้ว มุ่งหน้ามายังอำเภอชุมแพทันที

ความตั้งใจของผู้เขียนที่อยากจะมาเยี่ยมญาติแล้ว เป้าหมายต่อไป มีหลานชายทำรีสอร์ตไว้ที่อำเภอน้ำหนาว

เหตุผล ในต้นปีหน้า 2564 ผู้เขียนรับหน้าที่เป็นประธานจัดงานแม่โจ้ 27 มีนัดเลี้ยงสังสรรค์ที่นี่

ธุรกิจค้าพืชไร่ของ คุณจินดา บุญรอด ที่ตำบลบ้านหัน อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น

ครั้นมาแล้วไม่เสียเที่ยวเปล่า ใช้เวลาที่มีอยู่จำกัดมาสำรวจพื้นที่รีสอร์ตของหลานชายคนโต ที่ทำธุรกิจพืชไร่ใหญ่โตในตำบลบ้านหัน อำเภอชุมแพ มานานกว่า 50 ปี

เป้าหมายของหลานชาย ชื่อ “จินดา บุญรอด” มีเจตนาจะรับผู้เขียนไปพักผ่อนที่รีสอร์ต ไร่คุณนงลักษณ์ อำเภอน้ำหนาว โดยทั้งคู่เป็นนักธุรกิจค้าขายพืชไร่มากกว่าจะมาดูแลรีสอร์ต ที่ผู้เขียนจะเล่าให้ฟัง มันเหมือนทั้งคู่ตกบันไดพลอยโจนทำนองนั้น

เมื่อรถยนต์พาหนะที่ลูกน้องหลานมารับในเมืองขอนแก่น ขณะที่หลานมัวยุ่งกับธุรกิจค้าขายพืชไร่อยู่ในตำบลบ้านหัน เลยอำเภอชุมแพไป 12 กิโลเมตร

ด้านหลังผู้เขียนเป็นหอคอยที่ทุกคนต้องขึ้นไปชมทิวทัศน์ยามเช้า สวยงามมาก

จากขอนแก่นมุ่งหน้าสู่อำเภอชุมแพ อำเภอที่ใหญ่มาก เกือบจะเป็นจังหวัดอยู่หลายครั้ง ชาวอำเภอชุมแพรอเก้อที่จะเป็นจังหวัดเสียทีมาหลายปี ที่ผ่านมากลายเป็นข่าวโคมลอย ว่ากันอย่างนั้น

“ระยะทางจากขอนแก่นถึงอำเภอชุมแพ 80 กิโลเมตร จำได้ในอดีตเคยมาครั้งแรก ถนนสายนี้เริ่มก่อสร้างลาดยางบนพื้นถนนเมื่อ 50 กว่าปีมาแล้ว สมัยผู้เขียนทำงานที่จังหวัดเลยครั้งแรกในชีวิต กว่าจะถึงจังหวัดเลย ผมหัวสีน้ำตาลเหมือนย้อมผม แล้วต่อไปยังอำเภอท่าลี่ อีก 2 ชั่วโมง กลายเป็นว่านั่งรถจากขอนแก่นเช้า หลังลงจากรถไฟเริ่มเวลา 8 โมงเช้า ถึงจังหวัดเลย 17.00 น. พอดี ปลายทางที่ท่าลี่ ถึงเวลา 20.00 น. รวมแล้ว 12 ชั่วโมง แสนจะทรมาน”

บรรยากาศจุดนี้ผู้มาพักผ่อนชอบมานั่งดูน้ำตกตอนฤดูฝน มองไปที่หน้าผาตรงข้ามกัน

กระทั่งรถยนต์ผ่านอำเภอชุมแพ ที่มีญาติหลายคนค้าขายอยู่ที่นี่ แต่รถยนต์มุ่งหน้าสู่ตำบลบ้านหัน สถานที่ค้าขายของร้านที่มีกิจการพืชไร่ ค้าขายอุปกรณ์ ปุ๋ย และเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด พร้อมไซโลอบเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดมากมาย

เพียงไม่กี่นาทีก็ถึงสถานที่การค้าของหลานชายคนโต ชื่อร้าน จินดาวัฒนา ตั้งตระหง่านที่ตำบลบ้านหัน ห่างจากอำเภอชุมแพ เพียง 12 กิโลเมตร

แม้เวลา 17.00 น. พอดี เพื่อไม่เสียเวลาหลานชายทำหน้าที่โชเฟอร์ต่อ มุ่งหน้าไปรีสอร์ตน้ำหนาวทันที หลังนั่งพักเพียง 10 นาที เพื่อดื่มน้ำและพักเหนื่อยผ่อนคลาย

จากตำบลบ้านหัน รถมุ่งหน้าไปยังน้ำหนาว ที่ไม่ไกลนัก หลานบอกว่า เส้นทางตรงไปถึงอำเภอหล่มสักและพิษณุโลก เพียง 200 กว่ากิโลเมตร

สถานที่จัดเลี้ยงด้านบน และข้างล่างสนามหญ้าที่กว้างขวาง จุได้เป็นร้อยๆ คน สวยงามมาก

หากจะมาน้ำหนาวจากภาคเหนือ ควรมาทางพิษณุโลก หล่มสัก และน้ำหนาว เส้นทางสะดวก ทิวทัศน์สวยงามทั้งสองฟากทางริมถนนซุปเปอร์ไฮเวย์

แต่ถ้าหากมาจากกรุงเทพฯ นั่งเครื่องบินมาลงขอนแก่นสะดวกที่สุด นั่งรถมาถึงน้ำหนาวไม่เกิน 150 กิโลเมตร

เราสองคนนั่งคุยกันตามประสาน้าหลานที่นานๆ ได้พบกัน สมัยยังเด็กอยู่ที่อำเภอคลองขลุง หลานอยู่ด้วยกันที่บ้านคุณตา หรือบิดาผู้เขียน สมัยเด็กจนเรียนจบมัธยมฯ ก็แยกย้ายกันไปตามวิถีชีวิต ครอบครัวหลานอพยพมาอยู่ที่ชุมแพ พร้อมพี่สาว พี่ชาย ของผู้เขียน มาหาใหม่ที่น่าเสี่ยงโชคชะตา จากถิ่นเดิมที่ดูท่าทีจะไปไม่รอดในภาวะเศรษฐกิจ กลายเป็นอำเภอคลองขลุง เกือบจะเป็นอำเภอร้างไปเสียนี่

รถยนต์แล่นผ่านออกจากบ้านหัน มุ่งหน้าอำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ รถยนต์ผ่านพื้นที่ถึง 3 จังหวัด กล่าวคือ ขอนแก่น ชัยภูมิ และเพชรบูรณ์

จากระยะทางตำบลบ้านหันถึงทางแยกอำเภอน้ำหนาว ด้วยถนนดีจากสายหล่มสัก-ชุมแพ ระยะทางบ้านหันถึงทางแยกอำเภอน้ำหนาว ประมาณเกือบ 40 กิโลเมตร

ป้ายทางแยกน้ำหนาวบอกระยะทางถึงอำเภอน้ำหนาว เพียง 20 กิโลเมตรเท่านั้น เส้นทางดีตลอดสาย

เราทั้งสองมุ่งหน้าไปรีสอร์ต ไร่คุณนงลักษณ์ หลานบอกว่า เลยแยกทางเข้าเพียง 10 กิโลเมตร จะถึงไร่นงลักษณ์ก่อน สังเกตเมื่อรถแล่นมาถึงระยะที่บอกแล้ว จะเห็นป้ายเขียนว่า “ทางไปน้ำตกตาดฟ้า” อยู่ซ้ายมือครับ

แล้วขอให้ชำเลืองดูป้าย พร้อมมองทางขวาจะเห็นบ้านหลังคาแดงเด่นตระหง่าน ให้รถชิดขวาเพื่อชะลอเลี้ยวเข้าถนนซอยที่เทลาดคอนกรีต ป้ายปากทางเขียนว่า ทางเข้าน้ำตกตาดใหญ่ และตาดฟ้า เป็นเส้นทางเดียวกับไปรีสอร์ตน้ำหนาว ไร่ของคุณนงลักษณ์ เลยไร่ไปจะเป็นน้ำตก 2 แห่ง ที่อยู่ถัดไปคือ น้ำตกตาดฟ้า กับน้ำตกตาดใหญ่ ที่ป้ายบอกไว้ ไร่นงลักษณ์ ระยะทาง 700 เมตร หาได้ง่าย

บริเวณรีสอร์ต ไร่คุณนงลักษณ์ เป็นชื่อภรรยาของหลาน จินดา บุญรอด ที่มาช่วยบุกเบิกรีสอร์ตกว่า 20 ปี คุณจินดา เล่าให้ฟังว่า

“สมัยกว่า 30 ปี ได้ซื้อที่เอาไว้ 50 ไร่เศษ จากลูกค้า แล้วตั้งใจจะมาปลูกบ้านพัก เพื่อมาพักผ่อนทั้งครอบครัว เพราะแม้จะถูกภรรยาบ่นว่าซื้อที่ดินแพงไป แต่มาถึงปัจจุบันที่ดินแพงมากในเขตน้ำหนาว มีเงินก็หาซื้อยากในพื้นที่ดีๆ” เสียงจากภรรยา คุณนงลักษณ์ กล่าวเสริมว่า

“พื้นที่แห่งนี้ไม่มีต้นไม้เลย มีแต่หญ้าคาป่าทึบ ต้องมาปฏิรูปพื้นที่กันใหม่ หารถแทรกเตอร์มาบุกเบิก แล้วสร้างบ้านพัก เพื่อมาพักผ่อนยามเสร็จจากงาน ต้นไม้ต้องซื้อมา เป็นต้นขนาดใหญ่ แล้วปลูกพืชไร่ ข้าวโพด ไม้ผลทุเรียน แต่พอพรรคพวกมาพักแล้วไม่เพียงพอ ก็เลยปลูกบ้านเสริมขึ้นทีละหลัง จนต้นไม้ใหญ่ฟื้นตัว ปกคลุมหนาแน่นดูสวยงามขึ้น” นักธุรกิจสาวที่พูดจาฉะฉาน เป็นสาวเก่งคนหนึ่งของชาวอำเภอชุมแพที่มีหน้าที่รับใช้สังคมมากมาย

พร้อมเสิร์ฟอาหารมื้อค่ำเริ่มทยอยออกมา ด้วยฝีมือหลานสะใภ้ เพราะทราบว่าผู้เขียนจะมาพักในฐานะญาติผู้ใหญ่ที่นานแล้วไม่ได้มาหลายปี

เพราะฝีมือของหลานสะใภ้นงลักษณ์ จัดอันดับ 5 ดาว อาหารที่น่าใส่ดาวให้หลายดวงคือ สุกี้ไหหลำ เนื้อย่าง ข้าวผัดเกลือ ที่แขกระดับ VIP จากระดับสูง รองผู้ว่าฯ เขตเหนือ และผู้บริหารจาก กทม. ต่างติดใจรสฝีมือปรุงอาหารของเธอ ต้องมากันทุกปีเพื่อพักผ่อน

รีสอร์ตแห่งนี้ เจ้าของไร่นงลักษณ์เล่าว่า ที่พักระดับ 3 ดาว แต่ภูมิทัศน์รอบรีสอร์ตเป็นที่ประทับใจผู้มาเยือน ระดับ 5 ดาว เลยทีเดียว หลายคนว่า น้ำหนาวที่นี่คล้าย “สวิตเซอร์แลนด์เมืองไทย” ช่างสวยงามจริงๆ พับผ่า!! สมคำเล่าลือ

ในสถานที่ตั้งรีสอร์ต หันหน้าออกไปตรงข้ามจะมองเห็นหน้าผาน้ำตกไหลลงมาในฤดูหน้าฝนเดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคม ระหว่างหน้าผาน้ำตก ตั้งตระหง่านสวยงามจะคั่นด้วยเหวลึกเอาไว้ ทางรีสอร์ตทำแผงรั้วไม้กั้นไว้เพื่อความปลอดภัย

บริเวณรีสอร์ตได้สร้างที่พักไว้หลายระดับ สร้างบ้านพักเตียงหมู่ ขนาด 15 คนนอน 8 คนนอน 5 คนนอน และ 2 คนนอน ถ้านอนตามบ้านพักได้ สามารถรองรับแขกมาพักได้มากกว่า 50 คน จนถึง 58 คน ไว้บริการพร้อมสรรพด้วยแอร์ ห้องน้ำ

ในกรณีคนมาพักเป็นจำนวนร้อยคน ถ้าหากจะพักที่เต๊นท์ เรามีให้บริการถึง 100 เต๊นท์ ใกล้ๆ เต๊นท์จะมีห้องน้ำบริการจำนวนมาก เพียงพอที่จะบริการผู้นอนในเต๊นท์ได้ อย่าห่วง!!

“การมาพักที่นี่ น่าจะมาพักได้ 3 ฤดู ฤดูฝน เดือนช่วงฝนตกจะเห็นน้ำตก หน้าผา ตกลงมาดูสวยงาม ใครอยากมาเห็นน้ำตกเชิญเลยค่ะ” เจ้าของเชิญชวนจากใจจริง

ส่วนฤดูหนาว ใครที่ชอบอากาศหนาว ควรมาเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม แต่น่าจะเหมาะที่สุดคือเดือนธันวาคม จะหนาวจับใจ ไม่อยากลุกขึ้นมาเข้าห้องน้ำ คนสูงวัยขอแนะนำให้พกคอมฟอร์ต 100 มาด้วย ปวดปัสสาวะก็ใช้ได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลาลุกขึ้นมา เดี๋ยวไม่ทันการ จะไหลรดที่นอนเปล่าๆ หลายคนเคยพกมาแล้ว ปลอดภัย สะดวกดีมากเลยค่ะ

รอบบริเวณรายล้อมด้วยต้นไม้ เช่น อินทนิล ตะแบก นางพญาเสือโคร่ง ประดู่เหลืองอินเดีย แคแสด กัลปพฤกษ์ และแคนา ไม้หลากชนิดที่คุณนงลักษณ์จัดหามา ในสนนราคาแพงก็รู้ เพราะบรรยากาศจะดูสวยงามอย่างนี้ แขกมาเยือนแล้วต้องมาอีก ประทับใจและชอบบรรยากาศ อาหารอร่อย และอัธยาศัยดีของเจ้าของ

หากดูตามภาพ เหนือคำบรรยายจริงๆ สภาพเป็นจริงทั้งกลางวัน กลางคืน มีห้องประชุม ลานอาหาร บริการสำหรับแขกเหรื่อมานั่งชมวิวสบายกันหลายคน แต่ถ้าเป็นกลุ่มเล็กๆ มาพักกันน้อย แนะควรออกมารับประทานอาหารข้างนอกดีกว่า สะดวกดี ทั้งสองฝ่ายไม่เสียเวลาเตรียมอาหาร

เรื่องไฟฟ้า กลางคืนสว่างไสว เหมาะกับบรรยากาศการร้องรำทำเพลง มีคาราโอเกะให้เล่น ดนตรี ใครใคร่ร้อง ใครใคร่เต้น แต่ที่นี่มีบริการเพียง 21.30 น. เพราะเสียงเพลง ดนตรีกลางดึกมันมีเสียงก้องไปไกลจนพระสงฆ์องค์เจ้าจะพลอยนอนไม่หลับเอานะสิ ปกติคนมาพักจะอยู่ไม่ดึกอยู่แล้ว

แม้ว่าจะมาตอนช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ เวลาตื่นเช้าขึ้นมาอากาศยังเย็นสบาย ไม่ร้อนอย่างที่คิด อุณหภูมิตอนเช้าจะหนาวเย็นตลอดปี เหมาะกับการมาพักผ่อนคลายร้อน

รอบสวนรีสอร์ตมีไร่ข้าวโพด สวนทุเรียน กำลังโต ไม้ผลอื่นๆ ที่สอดแทรกอีกหลายชนิด เจ้าของชอบมากในเรื่องต้นไม้ที่ประดับไว้รอบบริเวณรีสอร์ต

รุ่งเช้าคุณจินดา หลานรักพาเดินรอบรีสอร์ต แม้ว่าอากาศจะแห้งแล้งกว่าทุกปี เป็นที่ทราบกันดี แต่ 3 วันผ่านไป ฝนฤดูแล้งตกลงมาไม่ลืมหูลืมตา ชุ่มฉ่ำด้วยน้ำที่หล่อเลี้ยงน้ำให้ต้นไม้ที่รอคอยมาหลายเดือนฟื้นโดยฉับพลัน

หลังตระเวนบ้านพัก ต้นไม้ แหล่งบริการห้องกาแฟริมธารน้ำที่แห้งผาก ต่างกับฤดูฝน เห็นภาพวิวทอดไกลอย่างสวยงาม

คุณนงลักษณ์ เล่าว่า “เมื่อปีที่แล้ว 2562 มีแขกมาพักที่นี่แล้วถ่ายรูปบริเวณนี้หน้าริมเหว ด้วยทิวทัศน์สวยงาม ใครมาพักก็อดถ่ายกลับไปไม่ได้ แขกที่มาพักได้นำภาพดังกล่าวส่งเข้าประกวด ในโครงการ ‘สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ’ ได้รางวัลชนะเลิศ จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี”

หลังตระเวนดูรอบพื้นที่ทั้งรอบกลางคืน ที่มีแสงสว่างชัดแจ้งทั่วรีสอร์ต พร้อมบรรยากาศที่จะอำนวยความสะดวก ที่ใครจะมาพักที่นี่ ไม่ผิดหวัง มีพร้อมสรรพ เพื่อนำกลับไปเล่าให้เพื่อนแม่โจ้ 27 ฟัง จะได้สบายใจขึ้นอีกโข

ครั้นกลางวัน พวกเราออกไปดูที่อำเภอน้ำหนาว เพื่อชมทัศนียภาพสองฟากถนน และภูมิทัศน์รอบๆ อำเภอน้ำหนาว เห็นความสวยงามปราศจากสลัม บ้านพักบนภูเขาให้ระคายตา และเสียอารมณ์ ที่ต่างจากสถานที่อื่น เช่น เขาใหญ่ ปากช่อง เขาค้อ ฯลฯ

และที่สำคัญนอกจากราคาที่ดินแสนแพงแล้ว ยังไม่มีคนขายด้วย สมคำเล่าลือ!

อำเภอน้ำหนาว ได้ประกาศห้ามไม่ให้ชาวบ้าน “ปลูกโฮมสเตย์โดยเด็ดขาด” เพราะมันจะทำลายสิ่งแวดล้อมและความสวยงามของเมืองน้ำหนาว ใครไปแล้วจะสมอารมณ์หมายแท้จริง

หากผู้ใดสนใจ รีสอร์ต ไร่คุณนงลักษณ์ ที่น้ำหนาว โปรดติดต่อที่ โทรศัพท์ 065-789-2365 ยินดีต้อนรับ

___________________________________________________

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 30% ตั้งแต่วันนี้ –  15 ก.ย. 63 เท่านั้น!คลิกดูรายละเอียดที่นี่