หนุ่มเบตง เลี้ยงไก่เบตง ประกวด คว้ารางวัลไก่สวยงามในท้องถิ่น สร้างรายได้หลักหมื่น

แดนดินถิ่นเบตง จังหวัดยะลา เป็นดินแดนใต้สุดของสยาม ห่างจากตัวเมืองจังหวัดยะลา มากถึง 140 กิโลเมตร ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง ทำให้อำเภอเบตงมีอากาศดี และมีหมอกตลอดปี เกษตรกรส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จจากการทำการเกษตร เพราะสภาพอากาศและภูมิประเทศเอื้ออำนวย

คุณธนากร ธัญญะสุวรรณ หนุ่มเบตง วัย 42 ปี เป็นเกษตรกรชาวสวนมังคุด แต่ด้วยใจรักในการเลี้ยงสัตว์ และต้องการสร้างรายได้ นอกเหนือจากการทำสวนมังคุด จึงคิดเลี้ยงสัตว์ เพื่อจำหน่าย สร้างรายได้อีกทางไปพร้อมกัน

เริ่มต้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เมื่อคุณธนากร ลงทุนซื้อลูกไก่เบตงมาเลี้ยง เพื่อจำหน่ายเป็นไก่เนื้อ เพราะไก่เบตงได้รับการยอมรับเรื่องคุณภาพของเนื้อ และเป็นจุดเด่นของอำเภอเบตง ตลาดไก่เบตงจึงผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค และถึงปัจจุบัน ก็ยังคงไม่เพียงพอ แม้จะมีผู้เลี้ยงเพิ่มจำนวนมากขึ้นแล้วก็ตาม

ระยะแรก เลี้ยงไก่เบตง ขุนเพื่อจำหน่ายเป็นไก่เนื้อ แต่ด้วยความรักในสัตว์ปีก จึงมองเห็นความสวยงามของไก่เบตง และเห็นว่าระยะหลังแม้ไก่เบตงที่เลี้ยงกันเป็นจำนวนมากจะเป็นสายพันธุ์แท้ แต่ความสวยงามของไก่เบตงที่ควรจะเป็นลดน้อยลงไปมาก เรียกได้ว่า “ไม่สวย”

คุณธนากร จึงคิดพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ไก่เบตงให้มีคุณภาพ คงความสวยเหมือนอดีต

ผสมและคัดเลือกสายพันธุ์ไว้ กระทั่งได้ไก่เบตงที่สวยงาม ลักษณะถูกต้องตามพันธุกรรมของไก่เบตง คือ มีขนสีเหลืองอ่อน หรือสีเหลืองทองที่ลำตัว ทั้งเพศผู้และเพศเมีย ปากและแข้งสีเหลือง ผิวหนังสีขาว น้ำหนักตัวเมื่อให้ไข่ฟองแรก 1,690 กรัม น้ำหนักตัวเมื่ออายุ 12 สัปดาห์ 1,090 กรัม น้ำหนักตัวเมื่ออายุ 16 สัปดาห์ 1,610 กรัม น้ำหนักเมื่อโตเต็มที่ เพศผู้ 2,500 กรัม เพศเมีย 2,000 กรัม ผลผลิตไข่ 63 ฟอง ต่อปี

ไก่เบตง เป็นไก่พื้นเมือง พบเลี้ยงกันมากใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส และไก่เบตงมีเนื้อเหนียวนุ่ม รสชาติอร่อย นิยมทำเป็นไก่สับ ไก่นึ่ง ไก่ต้มเครื่องยาจีน และข้าวมันไก่

เมื่อคุณธนากรเริ่มปรับปรุงพันธุ์ไก่เบตง จนมั่นใจถึงความสวยตามสายพันธุ์และพันธุกรรมแล้ว เมื่อมีการจัดงานประกวดไก่เบตงในพื้นที่ จึงนำไก่เบตงเข้าประกวด และไก่เบตงของที่ฟาร์ม สามารถคว้ารางวัลมาได้หลายรางวัลในหลายต่อหลายครั้งที่มีการจัดประกวดไก่เบตงสวยงามขึ้น

“แต่ผมก็ได้ประกวดแค่ในพื้นที่อำเภอเบตง หรือในจังหวัดใกล้เคียงเท่านั้น มีการจัดการประกวดที่อื่นก็ไม่สามารถเดินทางไปได้ เพราะอำเภอเบตง อยู่ห่างไกล การเดินทางยังลำบากพอสมควร จึงไม่ได้นำไก่เบตงไปประกวดที่อื่น”

เมื่อไก่เบตงเข้าที่เข้าทาง ไก่สวยงามชนิดอื่นคุณธนากรก็สนใจ จึงเริ่มศึกษาเพิ่มเติม และซื้อเข้ามาเลี้ยงเพิ่มเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ได้แก่ ไก่แจ้ ไก่ซิลกี้ ไก่ดำอินโด ไก่ดำมองโกล ไก่ยักษ์บราม่า เพื่อขยายพันธุ์ขายเป็นไก่สวยงาม เช่นเดียวกับไก่เบตงด้วย

ไก่ทั้งหมดมีประมาณ 1,000 ตัว พ่อแม่พันธุ์อยู่ที่ 100 ตัว สัดส่วนไก่เบตง 80 เปอร์เซ็นต์ของไก่ทั้งหมด เพราะไก่เบตง ไม่เฉพาะการเพาะเพื่อจำหน่ายพันธุ์ แต่เพาะเพื่อจำหน่ายเป็นลูกไก่ สำหรับลูกค้าซื้อนำไปเลี้ยงขุนขายเป็นไก่เนื้อด้วย

คุณธนากร บอกว่า ตลาดไก่สวยงามตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ไก่แจ้ ถือว่าเป็นไก่ที่มีความนิยมต่อเนื่องยาวนานที่สุด และความนิยมไก่แจ้ไม่ตามกระแสขึ้นลงเหมือนไก่สวยงามชนิดอื่น อาจจะเป็นเพราะไก่แจ้เป็นไก่พื้นเมืองที่อยู่คู่ประเทศไทยมายาวนาน และมีหลากหลายสีให้เลือก ส่วนไก่ชนิดอื่น ราคาจะขึ้นลงตามกระแสความนิยมในแต่ละช่วง

พื้นที่เลี้ยงไก่ทั้งหมด คุณธนากร แบ่งสัดส่วนจากสวนมังคุดและพื้นที่บ้าน ไว้ 200 ตารางวา สำหรับทำโรงเรือนเลี้ยงไก่ ขนาด 8×16 เมตร จำนวน 2 โรง จำนวนไก่ที่เลี้ยงปล่อยในโรงเรือน ขึ้นอยู่กับขนาด ยิ่งเป็นไก่ไซซ์เล็กจะปล่อยจำนวนมาก เพื่อเพิ่มความอบอุ่นให้กับตัวไก่เอง แต่ถ้าไก่รุ่นหรือไก่ใหญ่จะปล่อยเลี้ยงให้จำนวนน้อย เพื่อลดความแออัดในโรงเรือนลง ไก่จะเจริญเติบโตได้เร็วขึ้น

การดูแลไก่ในแต่ละวัน คุณธนากร ใช้เวลาเพียงวันละ 2 ชั่วโมงเท่านั้น

คุณธนากร เล่าว่า แต่ละวันในตอนเช้าจะออกไปให้น้ำและอาหารไก่ สังเกตไก่ที่ไม่ปกติ เช่น ไม่กินอาหาร มีขี้ตา มีน้ำมูก ซึม หงอย ให้แยกไก่ออกมาจากกลุ่มแล้วให้ยาตามอาการ จากนั้น ต้องทำความสะอาดกรงไก่ โดยปกติจะทำความสะอาดสัปดาห์ละ 1 ครั้ง แต่ถ้าพบว่าโรงเรือนเริ่มสกปรกก่อน 1 สัปดาห์ ก็ควรทำความสะอาดได้ทันที เพราะสิ่งสำคัญที่จะทำให้ไม่เกิดโรคในไก่คือ ความสะอาดทั้งที่อยู่อาศัยและอาหาร

เมื่อมีไข่ไก่ ก็นำไปจดบันทึกและนำเข้าตู้ฟัก

การผสมพันธุ์ของฟาร์ม คุณธนากร ไม่ได้ปล่อยให้ไก่ผสมพันธุ์กันเอง แต่เลือกใช้วิธีผสมเทียม ทำโดยการรีดน้ำเชื้อพ่อพันธุ์ มาฉีดใส่รังไข่ของแม่พันธุ์ เพราะการผสมเทียมจะช่วยให้การผสมแม่พันธุ์ได้ทั่วถึงและครบแม่ตามที่ผู้เลี้ยงต้องการ หากปล่อยให้ผสมเอง พ่อพันธุ์อาจผสมแม่พันธุ์เพียงตัวเดียวก็ได้ ซึ่งโดยปกติ สัดส่วนการผสมจะอยู่ที่ 1 : 5 ตัว

“ถ้ารีดน้ำเชื้อได้น้อย เราจะเอามาผสมกับน้ำเกลือในอัตราครึ่งต่อครึ่ง แล้วค่อยฉีดเข้าไปที่ไก่ตัวเมีย 0.2 ซีซี บางทีถ้าเราเลี้ยงแบบให้ผสมกันเอง ตัวผู้จะผสมกับตัวเมียเดิมๆ ทำให้ได้ลูกไก่ที่ไม่หลากหลาย การผสมเทียมจะช่วยในเรื่องการปรับปรุงพันธุ์ให้ดีด้วย”

ไก่เบตง ของคุณธนากร ขึ้นชื่อเรื่องความสวย มีคนนำไปเลี้ยงเป็นไก่สวยงามจำนวนมาก มีลูกค้าติดต่อเข้ามาซื้อจำนวนมาก ผ่านระบบการขายออนไลน์หน้าเฟซบุ๊ก และมีค่าบริการส่ง ลูกค้าต้องรับผิดชอบค่าส่ง ซึ่งค่าขนส่งอาจจะแพงกว่าปกติ เนื่องจากอำเภอเบตงอยู่ห่างไกล แต่ระยะทางไม่ใช่ปัญหา หากไก่มีคุณภาพ เพราะเห็นได้ว่ามีลูกค้าติดต่อซื้อขายกับคุณธนากรทั่วประเทศ

ราคาซื้อขายลูกไก่เบตง อายุ 2 สัปดาห์ ตัวละ 80 บาท

ราคาซื้อขายลูกไก่เบตง อายุ 3 สัปดาห์ ตัวละ 100 บาท

พ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ ไก่เบตง คัดเกรด คู่ละ 2,000-3,000 บาท

ไก่ซิลกี้ อายุ 2 เดือน ราคาคู่ละ 500 บาท

ไก่แจ้สวยงาม ราคาคู่ละ 300-5,000 บาท ขึ้นกับความสวยและขนาด (สีขาวหางดำ สีขาว สีดอกหมาก สีกาบหมาก สีดำ สีกระดำ สีดอกโสน เป็นต้น)

ไก่ดำอินโด อายุ 1 เดือนครึ่ง คู่ละ 1,000 บาท

ทั้งนี้ ราคาไก่ขึ้นลงอยู่ที่ฤดูกาล ความสวยของไก่ และขนาดตามอายุของไก่ด้วย

สนใจติดต่อได้ที่ คุณธนากร ธัญญะสุวรรณ เลขที่ 83/1 หมู่ที่ 6 ตำบลยะรม อำเภอเบตง จังหวัดยะลา โทรศัพท์ (062) 243-4930 หรือพิจารณาไก่ผ่านหน้าเฟซบุ๊กที่ Rak Tanakorn ได้ตลอดเวลา