เกษตรกรหญิงบุรีรัมย์ เลี้ยงแกะครบวงจร เน้นแปรรูป สร้างตลาดออนไลน์ ทำรายได้ยั่งยืน

แกะ ในปัจจุบันกำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในการเลี้ยงเพื่อจำหน่ายเป็นสัตว์เศรษฐกิจ โดยเฉพาะเกษตรกรในจังหวัดบุรีรัมย์ มีการรวมกลุ่มการเลี้ยงแพะแกะกันอย่างเข้มแข็ง เรียกชนิดที่ว่าสามารถต่อลองในเรื่องของการทำตลาดได้เป็นอย่างดี จึงทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสามารถทำตลาดได้อย่างไม่ต้องกลัวในเรื่องของการถูกกดราคา และยิ่งไปกว่านั้นทางกลุ่มได้มีการจัดการเนื้อแกะให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ด้วยการนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ สามารถส่งจำหน่ายทำตลาดออนไลน์ได้เป็นอย่างดี

คุณรดา แย้มโกสุมภ์

คุณรดา แย้มโกสุมภ์ เกษตรกรเลี้ยงแกะ อยู่ที่ตำบลคูเมือง อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ได้แบ่งพื้นที่จากที่เคยทำเกษตรเชิงเดี่ยวเพียงอย่างเดียว มาทำปศุสัตว์เสริมอีกหนึ่งช่องทาง ทำให้สามารถสร้างรายได้มากขึ้น โดยเน้นปลูกพืชอาหารสัตว์ไว้ให้สัตว์ภายในฟาร์มกิน จึงทำให้สามารถประหยัดต้นทุนได้อีกหนึ่งช่องทาง เมื่อจำหน่ายแกะจึงเกิดรายได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ให้กินหญ้าที่ปลูกเอง

คุณรดา เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนเน้นทำการเกษตรแบบพืชไร่เพื่อเป็นการสร้างเงิน เมื่อเวลาผันผ่านมาถึงปี 2558 รายได้ที่ทำยังไม่ตอบโจทย์ที่ทำให้มีเงินเก็บได้มากนัก จึงตัดสินใจซื้อแกะเข้ามาเลี้ยงเริ่มแรก 5 ตัว เมื่อเลี้ยงไปได้ระยะหนึ่งเกิดความรักและความชอบที่อยากจะทำอย่างจริงจัง จึงทำให้ตัดสินใจที่อยากจะเลี้ยงเพื่อสร้างเป็นอาชีพทำเงิน ทำให้ได้มีโอกาสเข้าอบรมการเลี้ยง และการทำตลาดที่มีความเข้มแข็งจากทางกลุ่ม จึงเกิดทักษะและความชำนาญในการเลี้ยงสามารถมองทิศทางของการทำตลาดมากขึ้นตามไปด้วย

มีผู้เข้ามาดูงานอยู่เสมอ

“ช่วงแรกเราก็ซื้อมาเลี้ยงเฉยๆ เหมือนคิดว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงดูเล่น แต่พอเลี้ยงไปเลี้ยงมา รู้สึกชอบและคิดว่าตลาดน่าจะไปได้ดี เราก็จริงจังที่จะเลี้ยง เพราะฉะนั้น การทำอะไรให้ประสบผลสำเร็จและเกิดความชำนาญ ต้องนำพาตนเองไปเรียนรู้ให้ลงลึก เพื่อที่เราจะสามารถเลี้ยงแกะได้อย่างผู้ที่ประสบผลสำเร็จ และสามารถรู้ทิศทางการทำตลาดด้วย ว่าจะต้องไปในทิศทางไหน เพราะกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงแพะ-แกะที่นี่ ถือว่ามีความเข้มแข็งมาก ไม่ว่าจะช่วยกันในเรื่องของการแก้ปัญหาการเลี้ยง ยังช่วยกันทำงานในเรื่องของการตลาดอีกด้วย” คุณรดา เล่าถึงความเป็นมาของการเลี้ยงแกะเป็นอาชีพทำเงิน

เนื้อแกะแปรรูปพร้อมจำหน่าย

ในเรื่องของการจัดพื้นที่และโรงเรือนสำหรับเลี้ยงแกะนั้น คุณรดา บอกว่า แบ่งพื้นที่สำหรับโรงเรือนและพื้นที่ให้แกะไว้เดินเล่นประมาณ 1-2 ไร่ และพื้นที่สำหรับปลูกหญ้าอาหารสัตว์อยู่บนเนื้อที่ 7 ไร่ จึงทำให้ในแต่ละวันสามารถมีอาหารที่ให้แกะทั้ง 70 ตัว กินได้อย่างสบายๆ โดยที่ไม่ต้องออกไปตัดไกลบ้าน หรือซื้อจากที่อื่นเข้ามาเพื่อเพิ่มต้นทุนการเลี้ยงแกะในฟาร์มของเธอ

การออกร้านตามงานต่างๆ

การจับคู่ผสมพันธุ์แกะที่อยู่ภายในฟาร์มจะเลือกอายุให้มีความเหมาะสม โดยพ่อพันธุ์เลือกที่มีอายุ 1 ปีขึ้นไป และต้องเปลี่ยนพ่อพันธุ์ทุก 2-3 ปีครั้ง ส่วนแม่พันธุ์อายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป เมื่อผสมพันธุ์จนแม่พันธุ์ตั้งท้องแล้ว จากนั้นรอแม่แกะตั้งท้อง 5 เดือน เมื่อออกลูกมาในช่วงแรกจะเลี้ยงแบบแยกให้อยู่กับแม่ก่อนเพื่อกินนม ถ้าเริ่มกินอาหารได้ก็จะเริ่มให้กินอาหารข้นและหยาบสลับกันไป

การส่งสินค้าให้กับลูกค้าที่อยู่ไกล

“แกะในฟาร์มอาหารข้นจะเน้นให้กินอาหารอยู่ที่ 200 กรัม ต่อตัว ต่อวัน และนอกนั้นตลอดทั้งวัน ก็จะให้กินอาหารหยาบจำพวกหญ้าและอื่นๆ ที่เรานำมาให้กินตลอดทั้งวัน ลูกแกะเลี้ยงไปแบบนี้ได้อายุ 3 เดือนสำหรับตัวผู้ก็ขายทันที ส่วนตัวเมียก็จะเก็บไว้ทำแม่พันธุ์ ในเรื่องของการทำวัคซีนให้กับแกะภายในฟาร์มนั้น จะเน้นในเรื่องของการถ่ายพยาธิทุก 3 เดือน นอกนั้นก็จะเป็นในเรื่องของการทำวัคซีนป้องกันโรคปากเท้าเปื่อย” คุณรดา บอก

เนื้อแกะสำหรับทำเป็นเนื้อสเต๊ก

การทำตลาดเพื่อจำหน่ายแกะที่เลี้ยงภายในฟาร์มนั้น คุณรดา บอกว่า ในช่วงแรกจะเน้นแบบจำหน่ายแบบยกตัวก่อน โดยลูกแกะที่มีอายุ 3 เดือน น้ำหนักอยู่ที่ 28-30 กิโลกรัม จำหน่ายแบบชั่งน้ำหนักอยู่ที่กิโลกรัมละ 100 บาท ซึ่งการจำหน่ายแต่ละครั้งจะเน้นรวมกลุ่ม จึงทำให้สามารถจำหน่ายได้ราคาโดยที่ไม่โดนพ่อค้าคนกลางกดราคา เพราะฉะนั้น การจะทำให้ตลาดแกะสามารถยั่งยืนได้ การรวมกลุ่มของเกษตรกรผู้เลี้ยงจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ

ในเวลาต่อมากลุ่มจึงเกิดแนวความคิดในเรื่องของการทำตลาด เน้นนำแกะที่เลี้ยงเข้าโรงเชือดที่อยู่ไม่ไกลจากฟาร์มมากนัก จากนั้นนำเนื้อที่ได้มาทำการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงได้ดีไม่น้อยทีเดียว

“พอเรานำแกะที่เลี้ยงเข้าโรงเชือด แล้วนำเนื้อมาผ่านการแปรรูปเอง ทำให้เราสามารถทำเป็นสินค้าได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการหมักทำสเต๊ก การทำลูกชิ้นต่างๆ พอได้ผลิตภัณฑ์เราก็นำไปขาย ออกตามงานออกบู๊ธต่างๆ พอลูกค้าเริ่มรู้จัก เขาก็จะสั่งซื้อขายแบบออนไลน์ ทำให้เวลานี้ไม่ว่าลูกค้าอยู่จังหวัดไหน ก็สามารถสั่งผลิตภัณฑ์ของเราไปกินได้ง่ายๆ ที่บ้าน โดยราคาเนื้อแกะที่ผ่านการแปรรูปแล้ว สามารถจำหน่ายได้ถึงกิโลกรัมละ 900 บาท ถือว่าเป็นการตอบโจทย์ที่ทำสินค้าแปรรูปคุณภาพออกมา” คุณรดา บอก

สำหรับท่านใดที่สนใจในเรื่องของการเลี้ยงแกะและแพะเป็นอาชีพ คุณรดา แนะว่า ก่อนที่จะลงมือทำจริงจังในเรื่องของการเลี้ยงสัตว์ ให้ถามใจตนเองก่อนว่าชอบที่จะเลี้ยงสัตว์หรือไม่ เพราะแกะเป็นสิ่งมีชีวิต บางครั้งต้องการในเรื่องของการเอาใจใส่ เพราะฉะนั้น ถ้ารักและชอบก็ให้ลงมือศึกษาอย่างจริงจัง และค่อยๆ พัฒนาการเลี้ยงไปเรื่อยๆ สิ่งที่ทำนี้จะช่วยให้มีรายได้ตามมาได้อย่างแน่นอน

สนใจเข้าชมฟาร์มหรือศึกษาดูงานในเรื่องของการเลี้ยงแกะ-แพะ พร้อมการจัดการตลาดสู่กระบวนการแปรรูปสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณรดา แย้มโกสุมภ์ หมายเลขโทรศัพท์ 084-529-1479

เผยแพร่ครั้งแรกวันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564