สืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชดำริด้าน “ดิน” นำสุข..สู่เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน

“ดินที่เหมาะสมสำหรับการเกษตรกรรม ต้องมีคุณสมบัติต่าง ๆ ดังนี้ มีแร่ธาตุที่เรียกว่า ปุ๋ย ส่วนประกอบสำคัญคือ 1) N (nitrogen) ในรูป nitrate 2) P (phosphorus) ในรูป phosphate 3) K (potassium) และแร่ธาตุ อื่น ๆ O H Mg Fe มีระดับ เปรี้ยว ด่าง ใกล้เป็นกลาง (pH 7) มีความเค็มต่ำ มีจุลินทรีย์ มีความชื้นพอเหมาะ (ไม่แห้ง ไม่แฉะ) มีความโปร่งพอเหมาะ (ไม่แข็ง)”

คำแนะนำจากเอกสารพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงพระราชทานเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2540 ได้สะท้อนถึงพระอัจฉริยภาพ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีต่อการพัฒนาด้านดิน เพื่อให้เหมาะสมกับการเพาะปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหารต่าง ๆ ของเกษตรกรไทยในฐานะที่เป็นครัวของโลก

การพัฒนาด้านดิน เป็นอีกหนึ่งพระราชกรณียกิจที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงให้ความสำคัญ และได้พระราชทานแนวพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาดิน การอนุรักษ์และฟื้นฟูดิน อันสืบเนื่องมาจากการเสื่อมโทรม การชะล้างพังทลาย สภาพที่เปรี้ยวจัดหรือเค็มจัด จนไม่เหมาะสมกับการเกษตรกรรม เป็นต้น

ด้วยพระปรีชาสามารถ และพระวิริยะอุตสาหะในการทรงงานเพื่อการพัฒนาด้านดิน จึงทรงได้รับการสดุดีและเทิดพระเกียรติฯ ทั้งจากสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ (The International Union of Soil Science)  ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล นักวิทยาศาสตร์ทางดินเพื่อมนุษยธรรม (The humanitarian Soil Scientist) เพื่อสดุดีพระเกียรติคุณฯ และที่สำคัญ คือ การที่องค์การสหประชาชาติได้กำหนดวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันพระราชสมภพของพระองค์ เป็น “วันดินโลก” (World Soil Day)

สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกินของเกษตรกร ด้วยวิธีการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จึงได้มุ่งเน้นการดำเนินงาน เพื่อสนองตามพระราชดำริทั้งในด้านการปฏิรูปที่ดินควบคู่กับการพัฒนาดินมาอย่างต่อเนื่อง

“ตลอด 45 ปี ที่ผ่านมา ส.ป.ก. ดำเนินการบริหารจัดการพื้นที่ปฏิรูปที่ดิน และเพิ่มศักยภาพพื้นที่เกษตรกรรม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร สู่ความผาสุก ได้เน้นการน้อมนำพระบรมราโชบาย และหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นหลักชัยในการดำเนินงานแบบบูรณาการ โดยเฉพาะพระราชดำริเรื่อง “ดิน”  ด้วยพระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอันเป็นล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้ ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น ทั้งด้านการแก้ปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกินของเกษตรกร  และด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูดินในเขตปฏิรูปที่ดิน”

ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กล่าวถึงการน้อมนำแนวทางตามพระราชดำริ มาปรับใช้ในการทำงานเพื่อสร้างการอยู่ดี มีความสุขให้กับเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน จำนวน 2.9 ล้านราย ใน 72 จังหวัด ที่ได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินในเขตปฏิรูปที่ดินรวม  36.2 ล้านไร่  โดยส.ป.ก. ได้น้อมนำแนวทางดังกล่าวมาเพื่อสร้างการรับรู้ รวมถึงการขยายผลองค์ความรู้ตามแนวทางการพัฒนาตามพระราชดำริด้านดิน เพื่อแก้ปัญหาในแต่ละภูมินิเวศของแต่ละภูมิภาค โดยเฉพาะการเร่งฟื้นฟูสภาพดินที่เสื่อมโทรมในเขตปฏิรูปที่ดิน ให้กลับมามีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการทำเกษตร ภายใต้โครงการต่าง ๆ เช่น โครงการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริในเขตปฏิรูปที่ดิน ที่ช่วยลดปัญหาการชะล้างพังทลาย  โครงการปลูกไม้ยืนต้นเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำตามพระราชดำริปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ที่ช่วยคืนความอุดมสมบูรณ์ และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์จากป่า เป็นต้น

ผลการดำเนินงานของ ส.ป.ก. นั้น ส่งผลทำให้เกิดความสำเร็จ สามารถคืนความอุดมสมบูรณ์แก่ผืนดินของเกษตรกร อาทิ นายบุญนพ เมืองมานะ เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ ที่วันนี้ ไม่เพียงแต่สามารถเปลี่ยนพื้นที่เสื่อมโทรมให้กลายเป็นพื้นที่ ที่อุดมสมบูรณ์ ยังสามารถได้ประโยชน์ทั้งการเป็นแหล่งอาหาร ยา ที่อยู่ พลังงาน เมื่อได้รับการสนับสนุนจาก ส.ป.ก. ให้น้อมนำแนวทางตามพระราชดำริ ปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง ไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง

ขณะที่ นายประมวล คำศรี เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ลดปัญหาการชะล้างพังทะลายของหน้าดิน และคืนความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดิน ด้วยการปลูกหญ้าแฝกในรูปแบบแนวขั้นบันไดในบริเวณที่ลาดชัน ทำให้เมื่อฝนตก น้ำจะเซาะดินมาติดแนวหญ้าแฝกที่ปลูกไว้ ทำให้ดินไม่ทลาย และอีกวิธี คือการปลูกล้อมต้นไม้เป็นครึ่งวงกลม  เมื่อใส่ปุ๋ยแล้วฝนตกจะไม่ชะล้าง แต่จะคงอยู่รอบ ๆ เพราะติดแนวหญ้าแฝกครึ่งวงกลมที่ปลูกไว้ พร้อมกันนี้ยังได้ใช้หญ้าแฝกทำเป็นปุ๋ยหมัก ลดต้นทุนการซื้อปุ๋ยได้ด้วยอีกทางหนึ่ง

ส่วน นายวรศักดิ์ อำนวย เกษตรกรในเขตพื้นที่ปฏิรูปที่ดินจังหวัดกระบี่ เดิมนั้นต้องประสบกับปัญหาการชะล้างพังทะลายของหน้าดิน ด้วยเหตุพื้นที่เป็นดินทราย ส.ป.ก. จึงได้แนะนำและส่งเสริมให้ปลูกหญ้าแฝกตามพระราชดำริ พร้อมสนับสนุนองค์ความรู้ในด้านต่าง ๆ จนประสบความสำเร็จ สามารถอยู่ได้ และมีความสุขบนผืนดินที่ได้รับ

“หญ้าแฝก เป็นหญ้าพระราชทานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ผมถือว่าเป็นมงคลแก่ชีวิตของผมและครอบครัว พระองค์ท่านได้พระราชทานสิ่งที่มีประโยชน์และมีคุณค่ามาก” นายวรศักดิ์ ได้สะท้อนถึงความรู้สึก

ทั้งหมดนี้ คือ พระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 ผู้เป็นพ่อของแผ่นดิน ที่ ส.ป.ก. ได้ยึดมั่น สืบสาน รักษา และต่อยอด จนเกิดผลเป็นรูปธรรม ช่วยขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน ไปสู่การมีความสุขในชีวิตอย่างยั่งยืนตลอดไป…