8 ปี Wreck Dive “เรือหลวงช้าง” จากบ้านปลาขนาดใหญ่ สู่อนาคตอุทยานใต้ท้องทะเลตราด

เมื่อเร็วๆ นี้ บริเวณท่าเทียบเรือบางเบ้า ตำบลเกาะช้างใต้ อำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด คุณภิญโญ ประกอบผล ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล. จังหวัดตราด) ได้จัดกิจกรรม “ศรชล.ร่วมอนุรักษ์ทะเลตราด กับเรือหลวงช้าง” ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ-เอกชน ผู้นำชุมชน อาสากู้ภัยฯ เขตเกาะช้าง, กลุ่ม Trash Hero Koh Chang ผู้ประกอบธุรกิจดำน้ำ ด้วยเห็นว่า เรือหลวงช้างถูกจมลงเป็นปะการังเทียมให้นักท่องเที่ยวมาดำน้ำดูปะการัง ระยะเวลานานถึง 8 ปี ได้สร้างรายได้ให้จังหวัดตราดจำนวนมาก ทุ่นวางตามตำแหน่งและโครงสร้างเรือชำรุด เสียหาย ควรทำทุ่นใหม่แสดงตำแหน่งที่เรือหลวงช้างจมและทำแผนที่เดินเรือป้องกันอันตรายกับผู้สัญจรทางน้ำและรักษาแหล่งดำน้ำบริเวณเรือหลวงช้างที่อุดมสมบูรณ์ที่เป็นจุดขาย ช่วยปลุกกระแสการท่องเที่ยวจังหวัดตราด

ทั้งนี้ น.อ. นฤพนธ์ วิไลธัญญา รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล จังหวัดตราด กล่าวว่า กิจกรรมต่างๆ จัดขึ้นนี้สอดคล้องกับภารกิจหน้าที่ของ ศรชล. เพื่อการพิทักษ์รักษาอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติทางทะเลให้มั่งคั่ง ยั่งยืน ไฮไลต์คือ จัดทำปะการังเทียมจากคอนกรีต พร้อมทุ่นผูกเรือนำไปวางบริเวณเรือหลวงช้าง และมีเวทีเสวนาประวัติความเป็นมาของเรือหลวงช้าง และประโยชน์ที่ได้รับในด้านท่องเที่ยวและการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ จาก น.ท. สมบัติ บุญเกิดพานิช หรือ เสธบัติ อดีตนายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดตราด คุณอัยการ เชยชื่น ครูสอนดำน้ำ (Instructor) ของบริษัท บีบีไดรเวอร์ส เกาะช้าง (BB Divers Koh Chang) 1 ใน 4 บริษัทดำน้ำในเกาะช้าง และ คุณธีรศักดิ์ สรวมชีพมาเสือ รองนายกเทศบาลตำบลเกาะช้าง จังหวัดตราด และแกนนำ กลุ่ม Trash Hero Koh Chang นอกจากนั้น มีการปล่อยพันธุ์ปลาทะเลและกิจกรรมเก็บขยะจากทะเลของกลุ่ม Trash Hero Koh Chang

วางเรือหลวงช้าง เมื่อปี 2555

 

โปรเจ็กต์เรือหลวงช้าง แหล่งดำน้ำลึก

น.ท. สมบัติ เล่าถึงเรือหลวงช้าง (His Thai Majesty’s Ship : HTMS Chang) ที่นำมาวางใต้ท้องทะเลบริเวณเกาะช้าง จังหวัดตราด สร้างเป็นบ้านปลาขนาดใหญ่ว่า จากวิกฤตปะการังฟอกขาว ปี 2553 บริเวณเกาะต่างๆ และเกาะช้างที่เป็นแหล่งดำน้ำปะการังได้ถูกทำลาย ทำให้แหล่งท่องเที่ยวในทะเลไม่มีจุดสนใจ ช่วงนั้นเป็นนายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดตราด ด้วยเป็นคนท้องถิ่นมีประสบการณ์ดำน้ำ เห็นว่าบริเวณเกาะช้าง จังหวัดตราด น่าจะมีแหล่งดำน้ำลึกแบบสกูบาเพิ่มขึ้น และชาวประมงพื้นบ้านจะมีแหล่งหาปลาเพื่อเพิ่มรายได้ ด้วยเหตุผล 2-3 ข้อ จึงคิดทำโปรเจ็กต์บ้านปลาขนาดใหญ่ โดยขอเรือรบหลวงช้าง 712 ขนาดใหญ่ที่ปลดระวางจากกองทัพเรือมาวางในท้องทะเลตราด

พล.ต.หญิง จรัสพิมพ์ ธีรลักษณ์ ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษเกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง (สพพ.1) องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ช่วยสนับสนุนของบประมาณ อพท. ได้ 5.5 ล้านบาท ภายใต้วงเงินที่จำกัดมากๆ คุณกิตติ โกสินสกุล นายกสมาคมประมงจังหวัดตราดขณะนั้น ร่วมกับสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดตราด นำเรือหลวงช้างมาวางใต้ท้องทะเลเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2555 ผ่านมา 8 ปีเห็นความสำเร็จ เร็กไดฟ์ (Wreck Dive) HTMS Chang เป็นบ้านปลาขนาดใหญ่และเป็นแหล่งดำน้ำลึกที่ได้รับความนิยมจากนักดำน้ำลึกทั้งต่างประเทศและไทยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับจังหวัดตราดปีละหลายสิบล้านบาท

น.ท. สมบัติ กล่าวว่า โปรเจ็กต์นี้น่าจะเป็น “โมเดลเร็กไดฟ์” ที่ต้องพิถีพิถันในรายละเอียดเพื่อให้ประสบความสำเร็จ 2 อย่าง คือ 1. การทำความสะอาดเรือให้ปราศจากมลพิษให้มากที่สุด และตกแต่งให้เหมาะกับการดำน้ำลึก ตัดอุปกรณ์บางอย่างที่กีดขวาง ไม่ปลอดภัย ลบจุดที่น่ากลัว เจาะผนังห้องให้มีหน้าต่างทะลุให้ปลาเข้ามาข้างในและกว้างพอให้นักดำน้ำเข้าไปอย่างปลอดภัย และ 2. การเลือกพื้นที่วางเรือให้เหมาะกับที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำและการดำน้ำ ตรงนี้ได้รับความร่วมมือจากบริษัทดำน้ำ สมาคมประมงจังหวัดตราด ร่วมกันดำน้ำลงไปสำรวจพื้นที่จริงพบว่า บริเวณหินราบ-หินลูกบาตร ตำบลเกาะช้างใต้ อำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด ห่างจากเกาะช้าง 8 ไมล์ทะเล มีความเหมาะสมมากคือ ท้องทะเลแข็ง ไม่เป็นดินเลน รับน้ำหนักเรือได้ ความลึกได้ระดับ 30 เมตร น้ำใสที่แสงแดดส่องลงลึกให้สิ่งมีชีวิตเติบโตและเหมาะกับการดำน้ำลึก เป็นบริเวณที่น้ำเคลื่อนที่และเป็นทางผ่านของปลาขนาดใหญ่จากแหลมญวนของเวียดนามผ่านท้องทะเลกัมพูชามาไทย ปีแรกภายหลังวางเรือหลวงช้าง นักดำน้ำได้เริ่มเข้ามาพร้อมๆ กับปลาเล็ก ปลาใหญ่ รวมทั้งฉลามวาฬปลาที่นักดำน้ำใฝ่ฝัน ทำให้กิจกรรมดำน้ำลึกเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปีๆ มาหยุดชะงักในช่วงโควิด-19 เพราะลูกค้าดำน้ำลึกเป็นชาวต่างประเทศ 60-70%

Wreck Dive “เรือหลวงช้าง”

Wreck Dive เรือหลวงช้าง
อนาคตอุทยานใต้ท้องทะเลตราด

น.ท. สมบัติ กล่าวว่า Wreck Dive เรือหลวงช้างนี้ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจท่องเที่ยวอย่างเชื่อมโยงและอาชีพประมงพื้นบ้านจากบริษัททำธุรกิจดำน้ำลึก 3-4 บริษัทรวมทั้งฟรีแลนซ์ เชื่อมโยงกับโรงแรม รีสอร์ต ร้านอาหาร รถเช่า ด้วยลักษณะพิเศษของเรือหลวงช้างที่นักดำน้ำลึกสนใจ คือ 1. เรือหลวงช้างขายประวัติศาสตร์ความสำคัญของเรือได้ 2. จุดที่วางเรือเป็นแหล่งขยายพันธุ์ปลา สร้างอาชีพให้ชาวประมงและมีปลาใหญ่อย่างฉลามวาฬมาให้เห็น 3. โครงสร้างของเรือมีขนาดใหญ่ ความยาว 100 เมตร สามารถดำน้ำภายในห้องต่างๆ ของเรือได้อย่างปลอดภัย เหมาะกับนักดำน้ำลึกอย่างสมบูรณ์ และ 4. ด้วยระดับความลึกไล่ระดับ 5-40 เมตรเหมาะทั้งนักดำน้ำทั่วไปและเรียนหลักสูตรการดำน้ำ ระดับพื้นฐาน Open Water Diver ถึงระดับขั้นสูง Advance Diver เพื่อรับใบอนุญาตและขึ้นสู่มืออาชีพ Dive Master ครูฝึก และ Instructor Training เป็นครูสอนดำน้ำ

Advertisement

“อนาคตได้เตรียมพื้นที่บริเวณเรือหลวงช้าง ประมาณ 1 ตารางกิโลเมตร เตรียมสร้างอุทยานใต้ท้องทะเล เพื่อรองรับการนำเรือรบหลวงที่ปลดระวางที่รัฐบาลต้องเสียงบประมาณในการดูแล นำมาวางเพิ่มเติม เพราะจากการวางเรือหลวงช้างเราได้ข้อสรุปว่าพื้นที่นี้เหมาะสมกับการสร้างบ้านปลาขนาดใหญ่ หากมีเรือรบหลายลำสามารถขยายพื้นที่ออกไปได้อีก ซึ่งจะเป็นแหล่งดำน้ำที่ต่างประเทศให้ความสนใจ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำที่อุดมสมบูรณ์ สร้างรายได้ให้ธุรกิจท่องเที่ยวและเป็นแหล่งทำมาหากินของชาวประมงในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ปัญหาโควิด-19 แม้ว่านักท่องเที่ยวต่างประเทศลดลงไปถึง 70-80% แต่นักท่องเที่ยวไทยมีแนวโน้มที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ในกลุ่มนักท่องเที่ยวต้องการประสบการณ์สร้างสรรค์ ซึ่งต้องเน้นการประชาสัมพันธ์ให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย” น.ท. สมบัติ กล่าว

เชอร์รี่-เข็มอัปสร สิริสุขะ ดารานักอนุรักษ์ ร่วมงานด้วย

ปรับตัวหลังโควิด-19 นักดำน้ำไทยเริ่มสนใจ

คุณอัยการ กล่าวว่า 8 ปี Wreck Dive เรือหลวงช้างนี้ จำนวนนักดำน้ำลึกมีอัตราการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ 80% เป็นชาวต่างประเทศ คนไทย 20% และเริ่มมีนักท่องเที่ยวไทยสนใจดำน้ำเพิ่มขึ้น ช่วงปี 2560-2562 ก่อนโควิด-19 อัตราการเติบโตสูง มีไดฟ์ดำน้ำทุกวัน แต่เมื่อเกิดโควิด-19 นักดำน้ำต่างประเทศเข้ามาไม่ได้ นักดำน้ำลดลง 50% ต่อมาเริ่มฟื้นตัวเพราะปรับเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายจับตลาดคนไทย กลุ่มครูดำน้ำและกลุ่มชาวต่างประเทศในไทย ตอนนี้ Wreck Dive เรือหลวงช้างยังไม่เป็นที่รู้จักกว้างขวางเท่าแหล่งดำน้ำลึกทางภาคใต้ อาจจะเป็นเพราะการประชาสัมพันธ์ ภาคใต้มีบริษัททำธุรกิจดำน้ำประมาณ 70 บริษัทจะสื่อสารได้มากกว่า เกาะช้างที่มีเพียง 3-4 บริษัท ถ้าภาคธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดตราดรวมตัวกันทำพีอาร์อย่างจริงจัง น่าจะทำตลาดสู้กับภาคใต้หรือที่อื่นๆ ได้ เพราะไฮไลต์เรือหลวงช้างคือ มีขนาดใหญ่ โครงสร้างเรือสมบูรณ์ ดำน้ำภายในตัวเรือได้อย่างปลอดภัย ลำเรือวางสวยงาม น้ำใส มีโอกาสเห็นฉลามวาฬที่นักดำน้ำใฝ่ฝัน และใช้เวลาเดินทางจากท่าเรือบางเบ้า เกาะช้าง ด้วยเรือไม้ ประมาณ 40 นาที

Advertisement

“การวางทุ่นเว้นระยะห่างจากเรือหลวงช้างและกำหนดแผนที่การเดินเรือ ทำให้แหล่งดำน้ำลึกเรือหลวงช้างมีอายุยืนยาวขึ้น อย่างไรก็ตาม ในอนาคตต้องปรักหักพังไป การเตรียมการสร้างอุทยานใต้ท้องทะเล นำเรือรบหลวงที่ปลดระวางลำใหม่ๆ มาวางเพิ่มขึ้นเป็นเรื่องที่ภาครัฐควรสนับสนุนให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ซึ่งบริเวณโดยรอบเรือหลวงช้างมีความเหมาะสมมาก อนาคตจังหวัดตราดจะเป็นแหล่งดำน้ำขนาดใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ เชื่อว่านักดำน้ำจากทั่วโลกต้องใฝ่ฝันจะมาดำน้ำที่นี่ เช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวไทยที่ชื่นชมการดำน้ำที่มีปริมาณมากขึ้น” คุณอัยการ กล่าว

เรือหลวงช้าง แหล่งดำน้ำลึก

Trah Hero Koh Chang ห่วงโซ่ปะการัง

คุณธีรศักดิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเห็นประโยชน์ของเรือหลวงช้างอย่างชัดเจน ในเชิงเชื่อมโยงกับชุมชนเกาะช้างและช่วยสร้างรายได้ 2 ด้าน คือ ด้านกิจกรรมท่องเที่ยว การดำน้ำ ตกปลา เพราะเรือหลวงช้างมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจดึงดูดนักดำน้ำได้ และด้านชาวประมงพื้นบ้านที่เป็นแหล่งทำมาหากินสร้างรายได้

ส่วนด้านแกนนำกลุ่ม Trah Hero Koh Chang นั้นพยายามที่จะสื่อสารให้ชุมชนเห็นความเชื่อมโยงระหว่างขยะกับแหล่งปะการัง ให้เห็นภาพขยะที่ทำลายห่วงโซ่ของปะการังต้นกำเนิดของแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ ถ้าไม่มีปะการังคือไม่มีปลา เพราะขยะที่พบ อุปกรณ์ประมง อวน เชือก มักจะยึดโยงกับปะการังเมื่อถูกกระแสน้ำแรงพัดพาให้ปะการังเสียหายหยุดการเจริญเติบโต การจัดเก็บขยะในทะเลที่ติดอยู่ตามโขดหิน ก้นอ่าว เพื่อตัดวงจรไม่ให้ขยะไปทำลายปะการัง ซึ่งกลุ่มได้จัดทำโดยอาสาสมัครมาตลอด แต่ยังพบขยะในปริมาณมาก อย่างในช่วงก่อนวันจัดกิจกรรมนี้ อาสาสมัคร 60 คน เก็บขยะรอบเกาะ บริเวณเกาะคลุ้ม เกาะรัง เกาะหวาย ได้ปริมาณ 340 กิโลกรัม เราจึงพยายามสื่อสารหาแนวร่วมในหลายภาคส่วนให้รับรู้ข้อมูลโดยประชาสัมพันธ์ผ่านกิจกรรม เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันขยายวงกว้างออกไป

คาดหวังว่า อนาคต “อุทยานใต้ท้องทะเลตราดจะเกิดขึ้น” เพื่อผลประโยชน์ของชาติทางทะเลให้มั่งคั่ง ยั่งยืน ด้วยการต่อยอดโมเดล Wreck Dive “เรือหลวงช้าง” นี้