กรมปศุสัตว์ย้ำ ไทยปลอดหวัดนกมากว่า 15 ปี แนะรับประทานอาหารปรุงสุกเท่านั้น ขอเกษตรกรดูแลการผลิต เสริมกำลังป้องกันโรคเข้มข้น

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า จากกรณีที่พบการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่ H5N8 ทั้งในเยอรมนี โปแลนด์ ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ และล่าสุดประเทศรัสเซีย พบการติดเชื้อสายพันธุ์นี้ในมนุษย์ เป็นครั้งแรกของโลกนั้น สำหรับประเทศไทยยังไม่พบการแพร่ระบาดของเชื้อดังกล่าว โดยกรมปศุสัตว์ได้ขอความร่วมมือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 77 จังหวัด ในการคุมเข้มเฝ้าระวังและป้องกันไข้หวัดนก H5N8 อย่างเข้มงวด มาตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมเป็นต้นมา เนื่องจากเชื้อนี้มีฝูงนกป่าเป็นพาหะ ทำให้ไทยซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่อยู่ในเส้นทางการบิน มีความเสี่ยงเป็นพิเศษ
“ไทยไม่พบการติดเชื้อไข้หวัดนกในคนตั้งแต่ปี 2549 หรือไม่มีโรคนี้ในประเทศไทยนานกว่า 15 ปี และยังคงสถานะประเทศปลอดไข้หวัดนก ตามรายงานของ OIE นับจากปี 2551 จนถึงปัจจุบัน และยังไม่พบการระบาดของ H5N8 จากการเฝ้าระวัง ป้องกันโรคระบาดในสัตว์ปีกทุกประเภท ผู้บริโภคไม่ต้องกังวลในการบริโภคสัตว์ปีก ขอเพียงเน้นย้ำการรับประทานอาหารปรุงสุกเท่านั้น เพราะเชื้อไม่สามารถติดต่อทางอาหารที่ปรุงสุก และเชื้อจะตายที่อุณหภูมิสูง 70-100 องศา และที่ผ่านมาก็ไม่มีรายงานว่าคนเกิดไข้หวัดนก หรือแม้แต่ติดโรคโควิด-19 จากการรับประทานอาหารที่ปรุงสุก” นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าว

อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวย้ำถึงความร่วมมือของแต่ละจังหวัด ในการยกระดับทุกมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้โรคนี้เข้ามาทำลายอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ปีกของไทยได้ ว่ามีมาตรการสำคัญ ดังนี้ 1. ให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดฝ้าระวังโรคทั้งเชิงรุกและเชิงรับโดยใช้เครือข่ายการเฝ้าระวังโรคในทุกพื้นที่ และรายงานสถานการณ์สัตว์ปีกป่วยตายทุกวัน ทั้งนี้ ขอให้รายงานสัตว์ปีกป่วยตายตามความเป็นจริง หากตรวจพบว่าสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดรายงานเป็นเท็จจะดำเนินการตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง 2. เมื่อได้รับแจ้งหรือพบสัตว์ป่วยตายมีลักษณะอาการเหมือนนิยามโรคไข้หวัดนก ต้องเข้าตรวจสอบและดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรคทันที

ที่สำคัญขอให้เกษตรกรดูแลการผลิต เสริมกำลังป้องกันโรคเข้มข้น มุ่งเน้นระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) ในระดับสูง ตลอดจนประยุกต์ใช้ระบบคอมพาร์ตเม้นต์ ขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ในฟาร์มของตนเองอย่างเหมาะสม ด้วย 4 หลักการสำคัญ เพื่อส่งเสริมสุขอนามัยการผลิตสัตว์ปีกปลอดไข้หวัดนก ประกอบด้วย 1. หลักการด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ (Common Biosecurity) ที่มีมาตรการป้องกันโรคที่สอดคล้องกันตลอดห่วงโซ่การผลิต 2. การเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก (Surveillance) ทั้งภายในระบบคอมพาร์ตเม้นต์และพื้นที่กันชน รัศมี 1 กิโลเมตร รอบฟาร์ม 3. การควบคุมโรค (Control Measure) และ 4. การตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability System)