ระวัง! กินลาบ หลู้ดิบ เสี่ยงไข้หูดับ ป่วยแล้วกว่า 100 รายมากสุด ‘เหนือ-อีสาน’

นพ.เจษฎา โชคดํารงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้บางจังหวัดมีเทศกาลและงานบุญต่างๆ ซึ่งอาจมีการจัดเลี้ยงหรือทำอาหารรับประทานร่วมกัน ดังนั้น จึงควรระวังเรื่องการบริโภคอาหารแบบสุกๆ ดิบๆ โดยเฉพาะเนื้อหมูที่ชำแหละกันเองในหมู่บ้าน และนำมากินดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ หลู้หมูดิบ หมูกระทะปิ้งย่างไม่สุก จิ้มจุ่มที่ต้มไม่สุก ที่สำคัญควรงดนำอาหารดิบไปถวายพระสงฆ์ เพราะเสี่ยงติดเชื้อโรคไข้หูดับ หรือโรคติดเชื้อสเตร็ปโตค็อกคัส ซูอิส และอาจทำให้หูหนวกถาวรหรือเสียชีวิตได้

จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 30 เมษายน 2560 มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้หูดับ 89 ราย เสียชีวิต 6 ราย กลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุด คือ อายุ 65 ปีขึ้นไป รองลงมา คือ 45-54 ปี และ 55-64 ปี ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุดคือภาคเหนือ รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรกเป็นจังหวัดในภาคเหนือทั้งหมด ได้แก่ อุตรดิตถ์ น่าน นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ และพิจิตร นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยเกือบทั้งหมดหรือคิดเป็นร้อยละ 90 อยู่ในภาคเหนือ (50 ราย) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (30 ราย)สำหรับข้อมูลในปี 2559 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยโรคไข้หูดับ 300 ราย เสียชีวิต 16 ราย โดยพบผู้ป่วยในภาคเหนือสูงถึง 210 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 70 ของผู้ป่วยทั้งหมด

นพ.เจษฎา กล่าวต่อว่า โรคไข้หูดับเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สเตร็ปโตค็อกคัส ซูอิส โดยเชื้อนี้จะอยู่ในทางเดินหายใจของหมู และอยู่ในกระแสเลือดของหมูที่กำลังป่วย โรคนี้สามารถติดต่อได้ 2 ทาง คือ 1.การสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อ รวมทั้งเนื้อหมู เครื่องในหมู และเลือดของหมูที่เป็นโรค โดยติดต่อสู่คนทางบาดแผล รอยขีดข่วนตามร่างกายหรือทางเยื่อบุตา 2.การกินหมูดิบๆ หรือสุกๆดิบๆ ทั้งเนื้อ เครื่องใน และเลือด ซึ่งเชื้อจะเข้าไปทำให้เยื่อหุ้มสมอง เยื่อบุหัวใจ อักเสบ และที่สำคัญคือทำให้ประสาทหูทั้ง 2 ข้างอักเสบและเสื่อมจนหูหนวก

หากประชาชนมีอาการป่วยหลังสัมผัสหมูที่ป่วยหรือหลังกินอาหารที่ปรุงมาจากเนื้อหมู เลือดดิบๆ หรือปรุงสุกๆ ดิบๆ ให้รีบพบแพทย์ทันทีและต้องบอกประวัติการกินหมูดิบให้ทราบด้วย เพราะหากมาพบแพทย์เร็วจะช่วยลดอัตราการหูหนวกและเสียชีวิตได้ เนื่องจากโรคนี้รักษาหายและมียารักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศ หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

 

ที่มา : มติชนออนไลน์