“ผ้าไหม” ย้อมสีธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์เด่นของ “บ้านโนนสามัคคี”

ศรีสะเกษเป็นจังหวัดหนึ่งของบ้านเราที่มีกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่หลากหลายกลุ่ม และนอกจากจะมีวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์แล้ว ที่นี่ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง อย่างเช่น อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร ผามออีแดง ฯลฯ ที่สำคัญยังมีชื่อเสียงเรื่องผ้าไหมอีกด้วย โดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านโนนสามัคคี ตำบลพรหมสวัสดิ์ อำเภอพยุห์ ที่มี คุณทองคำ กาญจนหงส์ นั่งเป็นประธานกลุ่ม

นางทองคำ กาญจนหงส์

แหล่งศึกษาดูงานทอผ้า

วันนี้ใครไปเยือนบ้านโนนสามัคคีในฐานะเป็นชุมชนโอท็อปนวัตวิถี ใช่จะได้ยลโฉมผ้าไหมสวยๆ เท่านั้น ยังจะได้ชมกระบวนการผลิตตั้งแต่เริ่มต้นเลยทีเดียว เริ่มตั้งแต่การปลูกต้นหม่อน เลี้ยงไหม แล้วนำไหมมาผ่านกระบวนการต่างๆ จนเป็นผ้าไหมให้ได้สวมใส่กัน พร้อมกันนั้น สามารถใช้บริการรถอีแต๋นนำเที่ยวชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนที่มีอาชีพเกษตรทำไร่ทำนาเป็นหลัก พอมีเวลาว่างก็ทอผ้าเป็นอาชีพเสริม

ด้วยความที่มีครบทุกกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทำให้ที่นี่เป็นแหล่งศึกษาดูงานในการทอผ้าไหมของคนในประเทศและต่างประเทศ

สมาชิกที่เลี้ยงไหม
ตัวไหม

ก่อนอื่นมารู้จักบ้านโนนสามัคคีกันก่อน ในอดีตนั้นชื่อบ้านโนนสว่าง ต่อมาแยกตัวออกมาเป็นบ้านโนนสามัคคี ในหมู่บ้านแม้จะมีทั้งห้วย หนอง คลองต่างๆ แต่เก็บน้ำไม่อยู่ เนื่องจากสภาพดินเป็นดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำได้ดี ถือว่ามีความอุดมสมบูรณ์ดี เพราะสามารถปลูกพืชได้ตลอดทั้งปี อีกทั้งในแต่ละบ้านล้วนปลูกหม่อนเลี้ยงไหม อันเป็นอาชีพดั้งเดิมที่สืบทอดกันมา

คุณทองคำเองแม้จะเป็นคนร้อยเอ็ด แต่ต่อมาย้ายมาอยู่ที่บ้านโนนสามัคคี ก็เริ่มเรียนรู้จากการช่วยพ่อแม่เลี้ยงไหม สาวไหม ฟอกย้อม มัดหมี่ และทอผ้า จนกระทั่งรวบรวมสมาชิกที่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงก่อตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านโนนสามัคคี ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐหลายแห่ง

คุณทองคำ เล่าว่า มีสมาชิกในกลุ่มที่เป็นผู้หญิง 100 กว่าคน มีคนปลูกหม่อนเลี้ยงไหม 105 คน ตั้งกลุ่มเมื่อปี 2539 โดยกลุ่มทำตั้งแต่การเลี้ยงไหมวัยอ่อน ขายรังไหม ขายเส้นไหม และขายผ้า ซึ่งผ้าก็มีทุกชนิด ทั้งผ้ามัดหมี่ ผ้าลายลูกแก้ว ผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ ทำผ้าพื้น และผ้าโสร่ง ลูกค้ารายไหนสั่งอะไรก็จะขายตามที่ต้องการ

ส่วนผ้าไหมจะไปขายตามงานที่ทางราชการจัดให้ไป และก็มีขายอยู่ในหมู่บ้านด้วย โดยจะนำผ้าของสมาชิกที่กระจัดกระจายอยู่ตามบ้านมาขายรวมกัน และมีบางบ้านที่ใช้ใต้ถุนบ้านเป็นโชว์รูมขายผ้าชนิดต่างๆ ที่ทำขึ้นเอง รวมถึงของที่ระลึกต่างๆ ที่ทำจากเศษผ้าหรือรังไหม

เทคนิคย้อมสีธรรมชาติ

รังไหม

อย่างที่เกริ่นไปแล้วว่า ชาวบ้านที่นี่เลี้ยงไหมและทอผ้ากันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ฉะนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนในชุมชนบ้านโนนสามัคคีจะมีความรู้ความสามารถในเรื่องการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และทอผ้าชนิดต่างๆ เป็นอย่างดี เรียกว่าเชี่ยวชาญตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำเลยทีเดียว ซึ่งก็มีหลายหน่วยงานของรัฐมาให้การสนับสนุน

คุณทองคำแจกแจงถึงขั้นตอนการเลี้ยงไหมว่า สมาชิกจะเลี้ยงไหมกันทุกบ้าน รวมถึงปลูกต้นหม่อนด้วย ซึ่งตัวไหมมี 2 ประเภท คือไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้าน ไหมพันธุ์ไทยลูกผสม พันธุ์ไทยลูกผสมจะมี 2 อย่าง คือพันธุ์เหลืองสระบุรี และดอกบัวจากอุบลราชธานี ซึ่งเลี้ยงแบบเดียวกัน แต่เส้นไหมแตกต่างกัน ไหมไทยพื้นบ้านดีกว่า เส้นไหมจะไม่แตก และเส้นไหมจะเหนียวและสวยกว่า ถ้าเป็นไหม 2 กิโลกรัม จะได้ผ้าประมาณ 10 ผืน

ต้มตัวไหม

ในการเลี้ยงตัวไหมนั้น จะเลี้ยงในโรงเรือน ซึ่งผู้มาเยือนสามารถเข้าไปชมตัวไหมในแต่ละช่วงวัยได้ จะมีสมาชิกของกลุ่มคอยให้คำอธิบายรายละเอียดต่างๆ พอดูการเลี้ยงไหมเสร็จก็จะไปดูกระบวนการสาวไหม ต้มไหม ย้อมไหม จนถึงการทอผ้าไหม

ประธานวิสาหกิจชุมชนบ้านโนนสามัคคีพูดถึงจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ที่นี่ว่า อยู่ที่การย้อมผ้าสีธรรมชาติ และยังมีผ้าหมักโคลนด้วย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผิวพรรณ ใส่ได้สบาย และไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ในส่วนของการย้อมสีธรรมชาตินั้นมีหลากหลายสี อาทิ ถ้าเป็นสีดำจะใช้มะเกลือและเปลือกสมอ จะเป็นสีเหลือง ส่วนสีชมพูจะใช้ครั่ง หรือใช้เปลือกมะพร้าวแห้งที่หาได้ง่ายที่สุดใช้ทำผ้าลายลูกแก้ว

สำหรับเทคนิคการย้อมสีธรรมชาติให้ติดคงทนนั้น คุณทองคำสาธยายให้ฟังว่า ถ้าเป็นครั่งจะใช้มะขามเปียก ใส่ตอนต้มน้ำให้เดือดแล้วใส่สารส้มเข้าไปด้วย พอน้ำเดือดจะใส่น้ำมะขามเปียกเข้าไป พร้อมคนให้เข้ากัน จากนั้นนำไหมลงสารส้มจะช่วยให้สีเข้มขึ้น

ทอเส้นไหม

ผ้าไหมของกลุ่มนี้แม้จะราคาแพงกว่าผ้าไหมที่อื่นๆ แต่ก็เป็นที่นิยมของผู้ที่ชื่นชอบผ้าไหม เนื่องจากเป็นผ้าไหมที่มีคุณภาพ อย่างที่คุณทองคำให้ข้อมูลว่า จุดเด่นของกลุ่มอยู่ตรงที่ใช้ไหม ถ้าใช้ไหมอย่างไหนจะบอกลูกค้าตามนั้น อย่างเช่น ไหมที่สาวจากเส้นไหมน้อย จะบอกว่าเป็นเส้นไหมน้อย ถ้าจากเส้นไหมไทยลูกผสม พันธุ์ไทยลูกผสม จะบอกว่าพันธุ์ไทยลูกผสม และถ้าเส้นยืนมาจากเส้นไหมจุลโรงงาน จะบอกว่าอันนี้คือไหมจุลโรงงาน

ส่วนเส้นผ้ามัดหมี่จะใช้เส้นยืนเป็นไหมจุลโรงงาน แล้วไหมเป็นมัดหมี่ ถ้าลูกค้ารับได้พอใจก็ซื้อ ถ้าอยากได้ไหมแท้ 100 เปอร์เซ็นต์ จะพาไปดู ไปซื้อกับสมาชิกที่ทำ ซึ่งอยู่ในชุมชนเดียวกัน

ขายดักแด้ไหมกิโลกรัมละ 120 บาท

สำหรับตัวไหมนั้นเมื่อต้มเสร็จและได้รังไหมเรียบร้อยแล้ว สามารถขายตัวไหมหรือที่เรียกว่าดักแด้ได้อีก กิโลกรัมละ 120 บาท ถือเป็นผลพลอยได้ บางวันขายได้ถึง 4 กิโลกรัม สนใจผลิตภัณฑ์ของกลุ่มสั่งซื้อได้ที่โทร. 064-694-8306

ผู้ที่มาเยือนที่นี่มักจะได้ลิ้มลองเมนูที่ทำจากดักแด้หลากหลายเมนู ซึ่งเมนูเด็ดก็คือ ผัดเผ็ดดักแด้ แค่คิดก็เปรี้ยวปากแล้ว ความอร่อยอยู่ตรงที่ตัวดักแด้มีความมันอยู่ในตัว วันที่ไปนั้นมีเมนูดักแด้คั่วเคล้าเกลือให้ชิม ปกติไม่เคยกินดักแด้มาก่อน แต่เมื่อชิมแล้วก็ติดใจต้องกินซ้ำอีกหลายรอบ

สูตรของผัดเผ็ดดักแด้นั้น ใช้พริกขี้หนูกับกระเทียมโขลกให้เข้ากัน สูตรเดียวกับผัดกะเพรา แล้วนำไปใส่ในกระทะร้อนที่มีน้ำมันพอประมาณ พอพริกกับกระเทียมเหลืองได้ที่ก็ใส่ตัวดักแด้เข้าไป เติมรสชาติด้วยน้ำปลา พลิกกลับไปกลับมาไม่กี่นาทีเป็นอันเสร็จ จะใส่กะเพราหรือโรยด้วยมะกรูดฝอยหั่นก็ได้แล้วแต่ชอบ

ประธานวิสาหกิจชุมชนบ้านโนนสามัคคีบอกด้วยว่า การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมของสมาชิกและการทอผ้า เป็นอาชีพเสริมหลังจากทำนา ซึ่งทำให้มีรายได้มาจุนเจือครอบครัว โดยในเดือนๆ หนึ่ง กลุ่มมีรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ประมาณ 50,000 บาท และแบ่งรายได้กันตามจำนวนผ้าของแต่ละคนที่ขายได้