วว. ถ่ายทอดเทคโนโลยีเตาชีวมวลเพื่อผลิตก้อนเพาะเห็ด จังหวัดสระบุรี ภายใต้โครงการสนับสนุนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเหมาะสมเพื่อชุมชน

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม ถ่ายทอดเทคโนโลยีเตาชีวมวลเพื่อผลิตก้อนเพาะเห็ด ภายใต้โครงการสนับสนุนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเหมาะสมเพื่อชุมชน (CTAP) ให้แก่ กลุ่มเกษตรกรผู้เพาะบ้านโพธิ์พร้อมจิต ซึ่งเป็นต้นแบบของการดำเนินโครงการฯ และเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ได้จากการพัฒนาและปรับปรุงเตาชีวมวลให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเกษตรกรผู้เพาะเห็ดอย่างเป็นรูปธรรม

โดยการสนับสนุนของสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดสระบุรี การถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวประกอบด้วย กิจกรรมการสาธิตวิธีการใช้งาน การบำรุงรักษา และแก้ไขปัญหาเบื้องต้น รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกลุ่มเกษตรกรและนักวิจัย วว. โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการพัฒนาและสร้างเครือข่ายระหว่างเกษตรกรด้วยกันเอง รวมทั้งเครือข่ายการดำเนินงานระหว่างเกษตรกรและภาครัฐเพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไป

ทั้งนี้ วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม ประสบผลสำเร็จในการวิจัยและพัฒนา เตาชีวมวลเพื่อชุมชน ซึ่งมีคุณลักษณะพิเศษด้านการออกแบบเพื่อประหยัดพลังงาน ดังนี้

  1. มีการออกแบบให้อากาศไหลเวียนอย่างเหมาะสม จึงทำให้เกิดการเผาไหม้อย่างสมบูรณ์ และคายความร้อนออกมาได้มาก
  2. มีช่องว่างอากาศภายในเตา ทำหน้าที่เป็นฉนวนกันการสูญเสียความร้อน และเกิดการไหลเวียนของออกซิเจนภายในเตาได้อย่างเหมาะสม
  3. สามารถกำหนดทิศทางการไหลของแก๊สร้อนและแก๊สเสียได้อย่างลงตัว ทำให้นำความร้อนทิ้ง กลับมาใช้ได้ มีการใช้ปริมาณไม้ 15-21 กิโลกรัมถ่าน 5-7 กิโลกรัม ขึ้นอยู่กับความชื้นในไม้และถ่าน มีค่าความร้อน 32,500-45,500 Kcal/kg (กิโลแคลอรี ต่อกิโลกรัม)อุณหภูมิภายในเตา (เชื้อเพลิงไม้) 500-600 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิภายในเตา (เชื้อเพลิงถ่าน) 600-800 องศาเซลเซียส

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม รับคำแนะนำปรึกษา และรับบริการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม จาก วว. ติดต่อได้ที่ โทร. 02-577-9000 โทรสาร 02-577-9009 เว็บไซต์ www.tistr.or.th อี-เมล [email protected] Line@TISTR