ตรัง ดัน “ข้าวเบายอดม่วง” สู่พืช GI หอม นุ่ม โภชนาการสูง

ข้าว สิ่งที่อยู่คู่กับคนไทยมาอย่างยาวนาน ทั้งเป็นอาหารหลักประจำวันและพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของคนไทย ซึ่งสายพันธุ์ของข้าวที่เพาะปลูกอาจแตกต่างกันไปตามพื้นที่ เช่นเดียวกับข้าวเบายอดม่วง เป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่ในอดีตมีการเพาะปลูกอย่างแพร่หลายในพื้นที่จังหวัดตรัง โดยเฉพาะในพื้นที่ตำบลวังคีรี อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง แต่เนื่องจากในช่วงหลังมีการส่งเสริมให้ปลูกข้าวสายพันธุ์เศรษฐกิจชนิดอื่นในพื้นที่ จึงทำให้มีการปลูกข้าวเบายอดม่วงลดลงตามไปด้วย

คุณกมลศรี พลบุญ Young Smart Farmer และประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนชาวนาตำบลวังคีรี อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง

คุณกมลศรี พลบุญ Young Smart Farmer และประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนชาวนาตำบลวังคีรี อำเภอห้วยยอด อยู่บ้านเลขที่ 11 หมู่ที่ 2 ตำบลวังคีรี อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง ได้เล่าให้ฟังว่า ตนเองเป็นคนพื้นเพดั้งเดิมอยู่ที่ตำบลวังคีรี แต่ไปทำงานอยู่ที่กรุงเทพมหานคร จนเมื่อประมาณปี 2550 ได้กลับมายังบ้านเกิด และเริ่มทำนาอย่างจริงจัง เนื่องจากในตำบลวังคีรีมีพื้นที่ที่มีการปลูกข้าวกันมาตั้งแต่สมัยปู่ ย่า ตา ยาย และพบว่าข้าวที่ปลูกกันส่วนใหญ่จะเป็นสายพันธุ์เศรษฐกิจที่มีการสนับสนุนให้ปลูก ซึ่งบางสายพันธุ์ให้ผลผลิตได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากสภาพพื้นที่ไม่เหมาะแก่การปลูก จนมีอยู่วันหนึ่งตนเองได้มีโอกาสรับประทานข้าวชนิดหนึ่งซึ่งเป็นข้าวที่หอม นุ่ม แม้วางทิ้งไว้จนเย็นก็ไม่แข็ง ได้สอบถามทราบว่า เป็นข้าวพันธุ์เบายอดม่วง ซึ่งเป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่มีการปลูกในพื้นที่มาแต่ดั้งเดิม ตนเองจึงได้ขอแบ่งเมล็ดพันธุ์มาทดลองปลูก จำนวน 5 กิโลกรัม

ลักษณะข้าวเบายอดม่วง

จากนั้นได้เก็บเมล็ดพันธุ์พร้อมกับนำไปแจกจ่ายให้แก่เกษตรกรที่เป็นสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนชาวนาวังคีรี นำไปปลูกตั้งแต่ปี 2551 จนกระทั่งปัจจุบัน มีเกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวสายพันธุ์เบายอดม่วง จำนวน 15 ราย พื้นที่เพาะปลูกข้าวเบายอดม่วงในตำบลวังคีรี ประมาณ 80 ไร่ และได้มีการแบ่งปันให้ชาวนาในพื้นที่จังหวัดตรังอย่างแพร่หลาย

ลักษณะเมล็ดข้าวเบายอดม่วง

ลักษณะประจำพันธุ์

ข้าวเบายอดม่วง เป็นข้าวพันธุ์เบา นาปี ระยะเวลาการปลูกประมาณ 4 เดือนครึ่ง ถึง 5 เดือน เป็นข้าวประจำถิ่นจังหวัดตรัง มีถิ่นกำเนิดที่ตำบลวังคีรี อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง ปลูกมากในพื้นที่ตำบลวังคีรี อำเภอห้วยยอด และพื้นที่ใกล้เคียง ต้นสูงประมาณ 1.50 เมตร ให้ผลผลิตต่อไร่ประมาณ 400 กิโลกรัม มีลักษณะเด่นที่เปลือกเมล็ดข้าวเมื่อแก่จัดจะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีม่วงเหมือนสียอดมะม่วงเบา เมล็ดข้าวสารมีทั้งสีขาวขุ่นคล้ายข้าวเหนียว และสีแดงคล้ายข้าวสังข์หยด เมื่อสีเป็นข้าวสารแล้ว เมล็ดข้าวสารจะมีสีขาวขุ่น เมล็ดเล็ก ยาวรี รสชาติดี นุ่ม และหอม

ผลิตภัณฑ์ข้าวเบายอดม่วง

ในปัจจุบันได้มีการคัดเลือกและพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวเบายอดม่วง ซึ่งเป็นข้าวเจ้าพันธุ์พื้นเมืองให้เป็นข้าวพันธุ์บริสุทธิ์ เพื่อผลักดันและส่งเสริมให้ได้รับ GI (Geographical Indication) สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ประจำจังหวัดตรังในอนาคต โดยได้ดำเนินการยื่นขึ้นทะเบียนจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 และอยู่ในระหว่างการประเมินและตรวจสอบเพื่อขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ชุมชนในพื้นที่ต่อไป

จากการวิจัยของคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ศรีวิชัย อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช เรื่องคุณค่าทางโภชนาการของข้าวกล้องพื้นเมืองตรัง โดยใช้ข้าวกล้องพื้นเมืองในจังหวัดตรัง 7 สายพันธุ์ ได้แก่ ข้าวเบายอดม่วง ข้าวลูกปลา ข้าวช่อมุด ข้าวงวงช้าง ข้าวหอยสังข์ ขาวนางขวิด และข้าวนางเอก พบว่า ข้าวกล้องพันธุ์เบายอดม่วง มีปริมาณฟีนอลิก ทั้งหมด 2.45 mg Ferulic Acid/g DW และค่าความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ ร้อยละ 66.67 ซึ่งมีปริมาณสูงสุดในข้าวทั้ง 7 ชนิด ที่นำมาทำการวิจัย ทำให้มีประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้บริโภคในการป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง เนื่องจากสารประกอบฟีนอลิกเป็นสารที่ีมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันการกระจายของเชื้อแบคทีเรีย การติดเชื้อ และการขยายตัวของเซลล์มะเร็ง ซึ่งเหมาะสำหรับการนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพ

คุณมานะ กุญชรินทร์ เกษตรอำเภอห้วยยอด เยี่ยมเยียนกลุ่ม

กลุ่มชาวนาในตำบลวังคีรี จึงได้รวมตัวกันขอจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนชาวนาตำบลวังคีรี กับสำนักงานเกษตรอำเภอห้วยยอด เพื่อรวบรวมผลิตภัณฑ์จากสมาชิกจำหน่ายในนามกลุ่มวิสาหกิจชุมชนชาวนาวังคีรี ผลิตภัณฑ์หลักในปัจจุบันคือการสีข้าวจำหน่ายในรูปแบบข้าวสาร ในราคากิโลกรัมละ 60 บาท ให้แก่ผู้ที่สนใจ

Advertisement

ซึ่งในแต่ละปีปริมาณข้าวที่สามารถผลิตเพื่อจำหน่ายได้อยู่ที่ประมาณ 19,000 กิโลกรัม จึงยังไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค เนื่องจากกำลังการผลิตที่มีจำกัด และทางกลุ่มได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ในการแปรรูปและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากข้าวเบายอดม่วง เช่น โจ๊กข้าวเบายอดม่วง และซีเรียลบาร์ ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการปรับปรุงสูตรให้ได้ปริมาณสารอาหารที่เหมาะสม

และทางกลุ่มชาวนาในพื้นที่ได้ร่วมกันสร้างโรงเรียนชาวนาเพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชน เกี่ยวกับข้าวและการทำนา ให้แก่เยาวชนและผู้ที่สนใจ เพื่อเป็นการสืบทอดการทำนาให้คงอยู่กับคนรุ่นหลังต่อไป

Advertisement

สำหรับท่านที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่ คุณกมลศรี พลบุญ โทร. 086-016-2744 หรือสำนักงานเกษตรอำเภอห้วยยอด โทร. 075-271-099