ชาวสวนยางแห่ร่วม “มหกรรมยางพารา 2564” วันที่สองคึกคัก! กยท. จัดแข่งขัน “กรีดยาง-นกกรงหัวจุก-ธิดาชาวสวนยาง”

การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จับมือหน่วยงานรัฐและเอกชน จัด มหกรรมยางพารา 2564 “นครฯ แห่งนวัตกรรมยางพารา” ระหว่างวันที่ 8-10 เมษายน ที่สนามการยางแห่งประเทศไทย เขตภาคใต้ตอนกลาง อำเภอช้างกลาง จังหวัดนครศรีธรรมราช โชว์ศักยภาพประเทศไทยสู่ศูนย์กลางการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีการแปรรูปยางพาราของโลก พร้อมนำเสนอแนวคิดและนิทรรศการ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “นครฯ แห่งนวัตกรรมยางพารา”

วันที่ 9 เมษายน ซึ่งเป็นวันที่สองของการจัดงาน ประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรชาวสวนยาง ต่างทยอยเข้าชมงานตั้งแต่เช้า ท่ามกลางมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเคร่งครัด โดยจะมีพิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป มี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธี ร่วมด้วย นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวต้อนรับ และ นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน

ยกขบวนสาระความรู้ “ยางพารา” ครบวงจร

ผ่านนิทรรศการ เวิร์กชอป และเวทีเสวนา จากผู้รู้จริง

มหกรรมยางพารา 2564 “นครฯ แห่งนวัตกรรมยางพารา” นำเสนอนิทรรศการความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมยางพารา การแสดงขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น วิถีชาวสวนยาง มีการจัดแบ่งโซนนิทรรศการและกิจกรรมต่างๆ มากมาย อาทิ โซนนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ, โซนนิทรรศการ นครฯ เมืองแห่งยางพารา, โซนนิทรรศการ พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี

พลาดไม่ได้กับโซนนวัตกรรมยางพาราจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ทั้ง 7 เขตทั่วประเทศ, สถาบันวิจัยยาง กยท., ฝ่ายอุตสาหกรรมยาง กยท. เปิดตัวแอปพลิเคชั่น Rubber Way เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำสวนยาง รวมถึงแอปฯ Rubbee ที่ กยท. รวบรวมข้อมูลทุกสรรพสิ่งเกี่ยวกับยางพารา พร้อมอัพเดตแบบเรียลไทม์ทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็น ราคาซื้อ-ขาย ข่าวสารกิจกรรม รวมไปถึงสิทธิประโยชน์, โปรโมชั่นต่างๆ ที่สมาชิกจะได้รับภายในแอปฯ เดียว

ภายในงาน กยท. ยังเปิดโซนจับคู่ธุรกิจและเจรจาการค้า (business matching) เพื่อผลักดันเศรษฐกิจการค้ายางพาราไทยสู่การค้าระดับนานาชาติ โดย กยท. ได้ติดต่อประสานงานกับผู้ค้ายางทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมจับคู่ธุรกิจตลอด 3 วันของการจัดงาน

ขณะเดียวกัน ยังมีโซนเมืองนครฯ มาร์เก็ต ตลาดสินค้าชุมชนต้นแบบ ส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อยให้มีตลาดและคู่ค้าที่ขยายวงกว้างขึ้น ซึ่ง กยท. ได้รวบรวมสินค้าและผลิตภัณฑ์จากยางพารามาจัดแสดงและจำหน่าย พร้อมส่งเสริมอัตลักษณ์ผลิตภัณฑ์ยางพาราท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักแก่ภูมิภาคอื่นๆ เป็นการพัฒนาธุรกิจยางพารา รวมทั้งช่องทางการตลาด ยางพาราทั้งระบบในอนาคตต่อไป

สำหรับวันที่สองของการจัดงาน ยังอัดแน่นด้วยสาระความรู้เช่นเคย ประเดิมด้วยกิจกรรมเวิร์กช็อป “ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางพารา” โดย ดร.จิณณ์ดี ทัฟฟรีย์ และ ดร.เอกวิทย์ เพียรอนุรักษ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช

ส่วนเวทีเสวนา พูดคุยในหัวข้อ “นวัตกรรมยางพารา และอนาคตยางพาราไทย” โดย นายขจรจักษณ์ นวลพรหมสกุล รองผู้ว่าการด้านบริหาร การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) รศ.ดร.เจริญ นาคะสรรค์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี และกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ผศ.ดร.เอกวิภู กาลกรณ์สุรปราณี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา และ นายศุภเดช อ่องสกุล รองเลขาธิการสมาคมยางพาราไทย ดำเนินรายการโดย ดร.กฤษดา สังข์สิงห์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.)

ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง จังหวัดพิษณุโลก ไม่พลาดร่วมงาน

ไม่เพียงเกษตรกรสวนยางพาราในจังหวัดนครศรีธรรมราชและพื้นที่ใกล้เคียง จะทยอยมาร่วมงานอย่างไม่ขาดสาย แต่มหกรรมยางพารา 2564 “นครฯ แห่งนวัตกรรมยางพารา” ยังดึงดูดเกษตรกรจากทั่วประเทศให้มาร่วมงานอย่างเนืองแน่นด้วยเช่นกัน

ร.ต.อ. สมพงษ์ พรหมมณี ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง จังหวัดพิษณุโลก วัย 73 ปี ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า ตนเองมีสวนยางขนาด 50 ไร่ และทำงานช่วยเหลือขับเคลื่อนชาวสวนยางอยู่แล้ว เมื่อทราบข่าวว่ามีมหกรรมยางพารา 2564 จึงเดินทางมาจากจังหวัดพิษณุโลก เพราะต้องการมาเยี่ยมชมนิทรรศการ และองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมต่างๆ เกี่ยวกับยางพารา หวังว่างานนี้จะช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยางจากทั่วทั้งประเทศได้พบปะพูดคุยสานสัมพันธ์กัน เพื่อประโยชน์ของชาวสวนยางทุกคนในอนาคต

“ภาคใต้เปรียบเสมือนเมืองหลวงของยางพารา แต่ก่อนชาวสวนยางอาจพูดคุยสนิทสนมกันเฉพาะในภูมิภาคเดียวกัน แต่งานนี้ทำให้ได้พบเจอชาวสวนยางจากทั่วประเทศ ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมากขึ้น รู้เขารู้เรา รู้ว่าต้องทำสวนยางอย่างไรจึงจะมีผลผลิตและได้ราคาดี และทำให้เราเดินไปข้างหน้าด้วยกันได้ หากใครสามารถเดินทางมาดูสิ่งที่น่าสนใจในงานนี้ได้ ก็อยากให้มากันเยอะๆ” ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง จังหวัดพิษณุโลก เชิญชวน

พิธีเปิดสุดอลังการ! พร้อมลุ้นชิงแชมป์กรีดยาง-ประกวดนกกรงหัวจุก-ประกวดธิดาสวนยาง

มหกรรมยางพารา 2564 “นครฯ แห่งนวัตกรรมยางพารา” วันที่สอง ยังมีหลากหลายกิจกรรม ที่สร้างความเพลิดเพลินให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางและประชาชนได้ร่วมสนุกและร่วมลุ้นไปด้วยกัน

เริ่มด้วยกิจกรรมแข่งขันกรีดยางพาราชิงแชมป์ระดับประเทศ ชิงเงินรางวัลรวมมูลค่ากว่า 70,000 บาท โดย ตัวแทนจากเกษตรกรชาวสวนยางทั้ง 7 เขตจากทั่วประเทศ รวม 60 คน ลงแข่งขันรอบคัดเลือกในช่วงเช้า และแข่งขันรอบชิงชนะเลิศในช่วงบ่าย เพื่อค้นหาผู้ชนะเลิศแข่งขันกรีดยางพาราชิงแชมป์ระดับประเทศ ซึ่งผู้ชนะเลิศจะได้รับถ้วยรางวัลพร้อมเงินรางวัลจาก ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นอกจากนี้ บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ขอมีส่วนร่วมสนับสนุนทักษะการกรีดยางของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง ด้วยการมอบผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มคาราบาวแดงแก่ผู้ชนะอันดับที่ 1-3 เพื่อความสุขและความสนุกสนานในการจัดงานครั้งนี้

ส่วนการเลี้ยงนกกรงหัวจุก หรือนกปรอดหัวโขน นับเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวสวนยางภาคใต้ กยท. จึงจัดการประกวดแข่งขันนกกรงหัวจุก เต็มอิ่มกับบรรยากาศการแข่งขันนกกรงหัวจุก ที่สนุกสนานตื่นเต้นไม่แพ้การเชียร์มวย มาร่วมโห่ร้อง ตบมือให้จังหวะไปกับผู้เลี้ยงนกและกองเชียร์ ในวันที่ 9 เมษายนได้ตั้งแต่เวลา 10.00-17.00 น.

กิจกรรมสร้างความสุขให้ผู้เข้าร่วมงานยังไม่หมดแค่นี้ เพราะตั้งแต่เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป พบกับพิธีเปิดงานมหกรรมยางพารา 2564 อย่างเป็นทางการ ที่จัดอย่างยิ่งใหญ่อลังการ พร้อมชมชุดการแสดง “โนราห์คล้องหงส์” โดยคณะโนราห์เมืองคอน

จากนั้นร่วมลุ้นกันว่า สาวงามคนไหนจะได้ครองมงกุฎพร้อมสายสะพาย ในการประกวด “ธิดาชาวสวนยาง 2564” พร้อมถ้วยรางวัล และเงินสดรวมมูลค่ากว่า 120,000 บาท ปิดท้ายเวทีความบันเทิงด้วยการแสดงจากศิลปิน “วงพัทลุง” ที่รู้จักกันดีจากเพลงดัง “มหาลัยวัวชน”

ติดตามการแข่งขันกรีดยางชิงแชมป์ระดับประเทศ พิธีเปิดมหกรรมยางพารา 2564 และการประกวดธิดาชาวสวนยาง 2564 ได้ทั้งหน้าเวที และไลฟ์ สตรีมมิ่ง ทางเฟซบุ๊กเพจ การยางแห่งประเทศไทยRAOT ข่าวสด มติชนออนไลน์ เทคโนโลยีชาวบ้าน และเส้นทางเศรษฐี

แชมป์กรีดยางบันนังสตา 2 สมัย พร้อมลุยแข่งกรีดยาง

หนึ่งในกิจกรรมเด่นของมหกรรมยางพารา 2564 “นครฯ แห่งนวัตกรรมยางพารา” วันที่ 9 เมษายน อยู่ที่การแข่งขันกรีดยางพาราชิงแชมป์ระดับประเทศ ชิงเงินรางวัลรวมมูลค่ากว่า 70,000 บาท โดยมีเกษตรกรชาวสวนยาง 60 คนจากทั่วประเทศเข้าร่วมการแข่งขัน

ผู้สื่อข่าวได้พูดคุยกับ นายอัมรี จาปากอ ชาวสวนยาง วัย 35 ปี จากอำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ที่เดินทางมาร่วมงานมหกรรมยางพารา 2564 ตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน และได้เดินชมกิจกรรมต่างๆ ภายในงาน แต่จุดประสงค์หลักคือ มาแข่งขันกรีดยางโดยเฉพาะ หลังจากทราบข่าวจาก กยท. ที่มีการประชาสัมพันธ์ถึงกิจกรรมนี้

“ที่ผ่านมาเคยแข่งขันระดับอำเภอ ซึ่งจัดที่บันนังสตามาก่อน 2 สมัย แต่ยังไม่เคยแข่งระดับอาชีพมาก่อน มางานนี้ก็ตื่นเต้นพอสมควร เพราะจะได้เจอกับแชมป์กรีดยางจากพื้นที่อื่นๆ ด้วย งานนี้ขอเพียงได้รับความสนุก และประสบการณ์ดีๆ จากการแข่งขันในระดับที่ใหญ่ขึ้นกลับไปแค่นั้นก็พอ” แชมป์แข่งกรีดยางระดับอำเภอจากยะลา กล่าว

เกษตรกรชาวสวนยางพาราและประชาชนที่สนใจ สามารถเข้าร่วมงานมหกรรมยางพารา 2564 “นครฯ แห่งนวัตกรรมยางพารา” จัดโดย การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้ถึงวันที่ 10 เมษายนนี้ ที่สนามการยางแห่งประเทศไทย เขตภาคใต้ตอนกลาง อำเภอช้างกลาง จังหวัดนครศรีธรรมราช ภายใต้มาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเคร่งครัด