มหกรรมยางพารา 2564 วันสุดท้าย! เปิดเวทีแนะทางรอด-ชี้ทางรวยชาวสวนยางยุคโควิด

วันที่ 10 เมษายน โค้งสุดท้ายของ มหกรรมยางพารา 2564 “นครฯ แห่งนวัตกรรมยางพารา” จัดโดย การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ระหว่างวันที่ 8-10 เมษายน 2565 ที่สนามการยางแห่งประเทศไทย เขตภาคใต้ตอนกลาง อำเภอช้างกลาง จังหวัดนครศรีธรรมราช ยังคงมีประชาชนทยอยเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมากโดยต่างต้องการมาชมนิทรรศการให้ความรู้เรื่องยางพารา รวมทั้งนวัตกรรมใหม่ๆ จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน พร้อมเข้าฟังเสวนาและร่วมเวิร์กช้อปอย่างสนใจ โดยวันนี้มีการเสวนา “วิกฤตการณ์โควิดกับวิถีชีวิตชาวสวนยาง” และเวิร์กช็อป “ปลูกพืชผสมผสานในสวนยาง” รวมทั้งกิจกรรมสร้างความเพลิดเพลิน อย่าง การแข่งขันนกกรงหัวจุก ที่ชาวสวนยางต่างส่งเสียงเชียร์กันสุดมันจนถึงรอบตัดเชือก

ระดมองค์ความรู้นวัตกรรมยางพารา เพื่อชาวสวนยาง

มหกรรมยางพารา 2564 “นครฯ แห่งนวัตกรรมยางพารา” นำเสนอนิทรรศการความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมยางพารา และวิถีชีวิตชาวสวนยางพาราแบบครบวงจร มีการแบ่งโซนนิทรรศการและกิจกรรมต่างๆ มากมาย อาทิ โซนนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ โซนนิทรรศการ นครฯ เมืองแห่งยางพารา โซนนิทรรศการ พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี โซนนวัตกรรมยางพาราของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ทั้ง 7 เขตทั่วประเทศ

พร้อมเปิดตัวแอปพลิเคชั่น Rubber Way ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการทำสวนยางพาราอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และสร้างโอกาสการแข่งขันทางการค้าสู่ยุคดิจิทัล รวมถึงแอปฯ Rubbee ที่รวบรวมข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับยางพารา และอัพเดตข้อมูลแบบเรียลไทม์ ทั้งราคาซื้อขาย ข่าวสาร กิจกรรมต่างๆ สิทธิประโยชน์ และโปรโมชั่นต่างๆ ที่สมาชิกจะได้รับ ซึ่งทั้ง 2 แอปฯ ของ กยท. เกิดขึ้นเพื่อรองรับวิถีชีวิตชาวสวนยางยุคดิจิทัล ให้ได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์และถูกต้องได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

ภายในงาน กยท. ยังเปิดโซนจับคู่ธุรกิจและเจรจาการค้า ให้ผู้ซื้อและผู้ขายได้มาเจอกัน เป็นการผลักดันเศรษฐกิจการค้ายางพาราไทยสู่การค้าระดับนานาชาติ รวมทั้งเปิดโซนเมืองนครฯ มาร์เก็ต ตลาดสินค้าชุมชนต้นแบบ โดย กยท. ได้รวบรวมสินค้าและผลิตภัณฑ์จากยางพารามาจัดแสดงและจำหน่าย ส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อยให้ได้พบลูกค้าและคู่ค้า ควบคู่กับการส่งเสริมอัตลักษณ์ผลิตภัณฑ์ยางพาราท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางมากขึ้นในระดับประเทศ

กยท. ยังเป็นสะพานเชื่อมโยงนวัตกรรมสู่ความยั่งยืน นำเสนอไอเดียสร้างสรรค์สร้างมูลค่าเพิ่มยางพาราในรูปแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากมาย เช่น กรวยยางจราจรและเสาล้มลุก แผ่นยางกันชนครอบแบริเออร์คอนกรีต น้ำยางเคลือบใยสังเคราะห์ปูบ่อสระน้ำ กระชังบก (แทงก์น้ำยางพารา) แฟชั่นเครื่องแต่งกายด้วยผลิตภัณฑ์จากยางพารา เป็นต้น

ชาวสวนยางการันตี งานนี้ได้ประโยชน์จริง!

แม้จะเป็นวันสุดท้าย แต่ก็ยังมีเกษตรกรสวนยางเดินทางมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่เวลา 08.30 น. ซึ่งเป็นเวลาเริ่มงาน นับว่าคึกคักไม่แพ้สองวันแรกเลยทีเดียว

นายประพันธ์ ชุมวงค์ วัย 58 ปี ชาวสวนยาง และประธานสหกรณ์กองทุนสวนยางหนองปง อำเภอลำทับ จังหวัดกระบี่ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า เดินทางมาร่วมงานวันนี้เป็นวันที่ 2 แล้ว เพราะมีสวนยาง 30 ไร่ อยู่ที่กระบี่ เมื่อรู้ว่ามีงานนี้ จึงพาทีมงานของสหกรณ์ฯ มาด้วย เพราะเชื่อว่า พี่น้องชาวสวนยางในกระบี่จะได้ประโยชน์มากมายไปปรับใช้จริงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาแปรรูปยางพารา เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า

“กิจกรรมและนิทรรศการในงานนี้ ทำให้ได้เห็นการพัฒนาการเพิ่มมูลค่ายางพารามากขึ้นกว่าแต่ก่อน จากที่เคยทำแต่ยางแผ่นอย่างเดียว ตอนนี้เราสามารถเพิ่มผลผลิตให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ผ่านการแปรรูปยางพารา มีผลิตภัณฑ์เช่น ยางรมควัน น้ำยาง ยางอัดแท่ง แล้วพอเพิ่มมูลค่าได้ จะทำให้เวลาราคายางไม่ดีมาก เราสามารถเก็บผลผลิตไว้ก่อน เพื่อเอาไปขายในช่วงที่ราคาดีขึ้น บางทีเก็บไว้เป็นปีเหมือนกัน แล้วค่อยเอาไปขายช่วงราคาแพง” ประธานสหกรณ์กองทุนสวนยางหนองปง บอก

พลิกวิกฤตเป็นโอกาส-มุ่งสวนยางยั่งยืน ทางรอดยุคโควิด

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยาวนานกว่า 2 ปี ส่งผลต่อวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพเกษตรกรรมสวนยาง ในมหกรรมยางพารา 2564 จึงเปิดเวทีเสวนา “วิกฤตการณ์โควิดกับวิถีชีวิตชาวสวนยาง” มีตัวแทนจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น ดำเนินรายการโดย นายสุนทร รักษ์รงค์ กรรมการ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.)

นายณรงค์ศักดิ์ ใจสมุทร ผู้อำนวยการ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เขตภาคใต้ตอนกลาง กล่าวว่า โควิดทำให้ต้องปรับตัวเข้าสู่การเวิร์กฟอร์มโฮม ทำให้การติดต่อสื่อสารภายในหน่วยงานราชการและการสื่อสารกับพี่น้องชาวสวนยางยากขึ้น แต่ก็เป็นโอกาสให้นำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เพื่อให้ชาวสวนยางที่มีปัญหาและต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อกับเจ้าหน้าที่ได้อย่างรวดเร็ว

“กยท. พัฒนาระบบการให้บริการข่าวสารข้อมูล เพื่อพี่น้องเกษตรกร มีแอปพลิเคชั่นที่ใช้เพื่อประเมินว่า สวนยางของพี่น้องเกษตรกรควรมีการจัดการอย่างไร เพื่อให้ในช่วงวิกฤตแบบนี้ พี่น้องชาวสวนยางสามารถเดินหน้าประกอบอาชีพได้ต่อ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้”

นายถนอมเกียรติ ยิ่งฉ้วน ที่ปรึกษาประธานคณะกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง กยท. ระดับประเทศ กล่าวว่า โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อแรงงาน ทั้งแรงงานกรีดยางและแรงงานที่ทำงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ ทำให้เสียรายได้ที่ควรได้ไม่น้อย รวมทั้งยังส่งผลกระทบถึงลูกหลานชาวสวนยาง ที่ขาดโอกาสในการทำงานสร้างรายได้ ในทางกลับกัน น่าสนใจว่าพอการแปรรูปไม่มาก ยางพาราก็ขาดตลาด และทำให้ราคาดีขึ้น ซึ่งเป็นไปตามกลไกปกติ ถือเป็นโอกาสในวิกฤต แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ากับอาชีพอื่นๆ ยากที่จะหาช่องทางพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส

ด้าน นางเบญจมล ไพรพฤกษ์ ตัวแทนคนกรีดยาง จากจังหวัดพัทลุง เผยว่า การที่ชาวสวนยางต้องสวมหน้ากากอนามัยเข้าไปกรีดยาง ทั้งที่ในสวนยางเป็นพื้นที่กว้างและมีอากาศบริสุทธิ์ ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ส่วนการประกอบอาชีพช่วงโควิดนั้น เกษตรกรสวนยางไม่สามารถรอให้ภาครัฐเข้ามาแก้ไขปัญหาให้อย่างเดียว แต่ต้องจัดการตัวเองอย่างเป็นระบบด้วย

“ตั้งเป็นสโลแกนไว้เลย ใช้สวนยางเป็นเซเว่น เป็นมหาวิทยาลัย เป็นโรงพยาบาล เป็นสวนยางที่เราสามารถพึ่งพาได้ทุกเรื่อง ช่วยให้เราลดรายจ่ายในครัวเรือน โดยไม่จำเป็นต้องกินอาหารหรูๆ เราต้องรู้จักใช้ประโยชน์จากของข้างบ้าน ผักหวานในป่ายาง แกงเลียง ไข่มดแดง มากินได้ในสวนของเราเอง”

ส่วน นายพูลธวัช เล่าประวัติชัย กรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง กยท. ระดับประเทศ ชี้ว่า ทางรอดประการสำคัญในวิกฤตนี้คือ การทำสวนยางยั่งยืน เปลี่ยนจากการทำสวนยางเชิงเดี่ยวแบบเดิมๆ ที่เน้นปลูกแต่ยาง ให้เป็นป่ายาง ที่ปลูกพืชอื่นๆ เพิ่มเติม และแม้ตอนนี้ชาวสวนยางจำนวนมากยังมีรายได้จากยาง ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการ เพื่อนำมาทำถุงมือยางใช้ในทางการแพทย์ แต่ก็ต้องจับตาว่า หากเปลี่ยนให้โรคโควิดเป็นโรคประจำถิ่น จะกระทบต่อเกษตรกรมากน้อยแค่ไหน ดังนั้น ทุกคนต้องปรับตัวตลอดเวลา เพื่อได้รับผลประโยชน์อย่างยั่งยืน

กยท. ชี้ช่องรวย ปลูกพืชผสมผสานในสวนยาง

เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรสวนยางให้ดีขึ้น กยท. ได้เติมความรู้สร้างอาชีพ ในรูปแบบกิจกรรมเวิร์กช็อป “ปลูกพืชผสมผสานในสวนยาง” โดย นายสุรศักดิ์ ชูทอง ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาพืชสวนประดับและภูมิทัศน์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย

นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า การปลูกยางพาราเป็นพืชเชิงเดี่ยว ถือว่ามีความเสี่ยงสูง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จึงพยายามปรับแนวคิดเกษตรกรจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว สู่การทำเกษตรผสมผสาน ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยเลี้ยงสัตว์และมีพืชอื่นปลูกร่วมและปลูกแซมในสวนยางพารา ช่วยให้เกษตรกรมีผลผลิตทั้งพืชและสัตว์หมุนเวียนเข้าตลาดได้ตลอดปี ทำให้ชีวิตมีความมั่งคงและเกิดรายได้อย่างยั่งยืน

เกษตรกรที่ปลูกยางพาราเป็นพืชเชิงเดี่ยว นิยมปลูกต้นยางพาราในระยะห่างระหว่างต้น 7 เมตร ระยะห่างจากแถว 3 เมตร หรือ 76 ต้นต่อไร่ แต่การปลูกพืชผสมผสานในสวนยาง ต้องปรับสัดส่วนการปลูกต้นยางเป็นระยะ 9 เมตร หรือ 12 เมตร x 3 เมตร เพื่อให้มีพื้นที่ว่างสำหรับปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ในสวนยางได้มากขึ้น

แปลงปลูกต้นยางอายุไม่เกิน 3 ปี สามารถปลูกพืชแซมยาง ในกลุ่มพืชผัก สับปะรด ข้าวไร่ บอนสี ฯลฯ ส่วนต้นยางที่อายุ 3 ปีขึ้นไป ภายใต้ร่มเงายาง สามารถปลูกขิง ข่า สละอินโดฯ เป็นพืชร่วมยางได้ รวมทั้งเลี้ยงปลา เลี้ยงกบ แพะ แกะ และวัวในสวนยางได้อย่างสบาย

“เกษตรกรที่ปลูกยางพาราเป็นพืชเชิงเดี่ยว มีรายได้จากการขายน้ำยางเฉลี่ยเดือนละ 6,000 บาทต่อไร่ แต่เกษตรกรที่ปลูกพืชผสมผสานในสวนยาง มีรายได้ต่อเดือนเพิ่มขึ้นแตะหลักหมื่นบาทต่อไร่ เกษตรกรรายหนึ่งมีพื้นที่ปลูกยาง 3-4 ไร่ ปลูกผักเหมียงหรือใบเหลียงเป็นพืชร่วมยาง เก็บผักเหมียงขายได้กิโลกรัมละ 80 บาท เก็บผักเหมียงขายได้ทุกสัปดาห์ จะมีรายได้ต่อเดือนกว่าแสนบาท จึงอยากชักชวนเกษตรกรชาวสวนยางใช้พื้นที่ว่างในสวนยางให้เกิดประโยชน์ โดยนำมาปลูกพืชเลี้ยงสัตว์แบบผสมผสาน เพื่อเป็นแหล่งอาหารในครัวเรือน และเป็นรายได้เสริมสำหรับเลี้ยงดูครอบครัวอีกทางหนึ่ง” นายสุรศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ กยท. จัดงานมหกรรมยางพารา 2564 “นครฯ แห่งนวัตกรรมยางพารา” ขึ้น เพื่อนำเสนอไอเดียสร้างสรรค์สร้างมูลค่าเพิ่มยางพาราในรูปแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ รวมทั้งชี้แนะนำช่องทางสร้างอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางพาราเกิดความเข้มแข็ง สามารถก้าวข้ามวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญไปด้วยกัน เพราะ กยท. จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ศรีตรัง โชว์แอปฯ “STA Friends”

รวมทุกข้อมูลน่ารู้การทำสวนยาง

หนึ่งในบู๊ธที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้เข้าชมงาน คือ บู๊ธของ บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) สาขาทุ่งสง ที่มาแนะนำแอปพลิเคชั่น “STA Friends” หรือ “ศรีตรัง เพื่อนชาวสวน” ที่มีเกษตรกรสวนยาง ประชาชนทั่วไป และนักเรียนนักศึกษา ให้ความสนใจ สอบถาม และดาวน์โหลดไปใช้เป็นจำนวนมาก

นายธีรวุฒิ ศรีทองกุล ผู้จัดการโรงงาน ศรีตรังฯ สาขาทุ่งสง กล่าวว่า จุดเด่นของแอปฯ นี้ อยู่ที่การให้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ในวงการยางพาราทั้งในไทยและต่างประเทศแบบเจาะลึก อาทิ ข้อมูลซื้อขายยางพารา ทำให้ชาวสวนยางเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง โปร่งใสในทันที สามารถตรวจสอบได้ทุกเวลา ซึ่งยุติธรรมต่อการทำธุรกิจ ช่วยให้ผู้ใช้งานและคู่ค้าทางธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน นอกจากนี้ ยังใช้ง่าย เข้าใจง่าย และมีความปลอดภัยสูงอีกด้วย

“แอปฯ STA Friends มีเป้าหมายช่วยขับเคลื่อน ยกระดับไทยให้เป็นฮับยางพาราระดับโลก เปิดให้ดาวน์โหลดและใช้บริการมา 4 ปีแล้ว ซึ่งศรีตรังได้ปรับปรุงและพัฒนาแอปฯ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ชาวสวนยางได้ประโยชน์มากที่สุด ทำให้ยอดผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในอนาคตจะมีการเพิ่มฟีเจอร์เด่นๆ ทำให้ผู้ใช้งานไม่เพียงเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเท่านั้น แต่ยังสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการทำสวนยาง และต่อยอดมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ได้ด้วย” นายธีรวุฒิ กล่าว

ประชันนกกรงหัวจุกสุดมัน แจกรางวัลไม่อั้น

นอกจากจัดเต็มสาระความรู้เรื่องยางพารา มหกรรมยางพารา 2564 ยังมีกิจกรรมสร้างสีสันและความเพลิดเพลินให้ผู้เข้าชมงานได้ร่วมลุ้นร่วมเชียร์ไปด้วยกัน อย่าง การจัดแข่งขันนกกรงหัวจุก ซึ่งในวันที่ 10 เมษายน จัดประกวด 2 สาขา ได้แก่ สาขาเจ้าเสียงทอง 60 นก ในช่วงเช้า และสาขาสากลดาวรุ่ง 60 นก ในช่วงบ่าย ตามด้วยพิธีมอบรางวัลแก่ผู้ชนะเลิศ และรางวัลอื่นๆ รวมแล้วถึง 42 รางวัล

ผู้ชนะสาขาเจ้าเสียงทอง ตกเป็นของทีม “ขุนพลปากพนัง” เจ้าของกรงหมายเลข 31 โดย นายเดชฤทธิ์ ซ้านลิ้ม ตัวแทนทีมขุนพลปากพนัง กล่าวว่า ประทับใจมากๆ กับรางวัลที่ได้ หลังจากชวดรางวัลชนะเลิศมาหลายครั้งด้วยเหตุผลหลายประการ แต่การแข่งขันครั้งนี้สามารถทำผลงานน่าประทับใจได้ตั้งแต่ต้น ถือเป็นความสำเร็จที่น่ายินดี เป้าหมายจากนี้จะนำนกกรงหัวจุกไปประกวด ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และหวังว่าจะทำให้ผู้คนสนใจแวดวงการแข่งขันนกกรงหัวจุกมากขึ้นต่อไป

ขณะที่ผู้ชนะการแข่งขันในสาขาสากลดาวรุ่ง 60 นก ตกเป็นของทีม “อัศวินเสียงทอง” เจ้าของกรงหมายเลข 45 โดย นายณัฐ จันดี ตัวแทนทีมอัศวินเสียงทอง กล่าวว่า ยินดีมากกับชัยชนะครั้งนี้ ซึ่งต้องให้เครดิตนกที่พาทีมชนะเลิศในครั้งนี้ นั่นคือ “คุณห้อย” ซึ่งช่วยให้ทีมชนะมา 8 ไฟต์ติดๆ กัน จาก 8 จังหวัด เพราะเป็นนกที่มีพรสวรรค์ ปากเบา สำนวนดี และที่สำคัญคือ “ริก” เป็นอาชีพ ซึ่งเป็นแต้มต่อมากๆ ที่ช่วยให้ทีมได้แชมป์

ตัวแทนทีมอัศวินเสียงทอง กล่าวถึงเคล็ดลับการคว้าชัยชนะครั้งนี้ว่า มาจากการเลี้ยงนกกรงหัวจุกให้สมบูรณ์ ดูแลนกอย่างเต็มที่ และถ้าทำได้ ที่เหลือตอนแข่งขัน “คุณห้อย” ก็จะจัดการต่อ และไม่ทำให้ผิดหวัง

“หวังว่าคุณห้อยจะเอาชนะในการแข่งขันครั้งต่อๆ ไปได้เช่นกัน และหวังว่า จะทำให้ผู้คนได้รู้จักความสนุกในการแข่งขันนกกรงหัวจุกมากขึ้นในอนาคต” นายณัฐ เผย