“ข้าวโป่งบ้านทุ่งรี” สินค้า OTOP งานสร้างรายได้เสริมหลังทำนา ของเกษตรกรบ้านทุ่งรี โคราช

“ข้าวโป่ง” เป็นขนมพื้นบ้านภาคอีสาน นิยมในฤดูหนาวหลังจากเกี่ยวข้าวเสร็จ ในแต่ละพื้นที่ก็จะมีสูตรขั้นตอนการทำที่ไม่เหมือนกัน โดยสูตรทั่วไป ที่เริ่มจากนำข้าวเหนียวที่นึ่งสุกแล้วไปตำด้วยครกกระเดื่อง เมื่อละเอียดแล้วจะเอาใบตดหมูตดหมาหรือย่านพาโหมขยี้กับน้ำแล้วสลัดใส่ครก เพื่อให้ข้าวเหนียวจับตัวกันดี นำน้ำอ้อยโขลกแล้วตำผสมลงในครกจนเหนียวได้ที่ นำน้ำมันหมูทามือแล้วปั้นข้าวเหนียวเป็นก้อนผสมกับไข่แดง กดก้อนข้าวเหนียวที่ปั้นให้เป็นแผ่นบางๆ แล้ววางบนใบตองที่ทาน้ำมันหมู แล้วตากแดดให้แห้ง เมื่อจะรับประทานจึงเอามาย่างให้สุก นี่เป็นเพียงอีกหนึ่งวิธีการทำข้าวโป่ง ทีนี้ตามมาล้วงเคล็ดลับการทำข้าวโป่งของพี่น้องเกษตรกรชาวโคราชกันบ้าง ว่าสูตรการทำข้าวโป่งของคนโคราชจะมีวิธีอย่างไรบ้าง จนก้าวไปสู่การเป็นผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP ประจำตำบลวังหินได้สำเร็จ

คุณสมพร สรสิทธิ์ หรือ พี่รัง ประธานกลุ่มทำขนมบ้านทุ่งรี

คุณสมพร สรสิทธิ์ หรือ พี่รัง อยู่บ้านเลขที่ 92 หมู่ที่ 7 บ้านทุ่งรี ตำบลวังหิน อำเภอโนนแดง จังหวัดนครราชสีมา ดีเอ็นเอลูกหลานชาวนาเต็มร้อย จากเดิมที่พ่อกับแม่เป็นเกษตรกรปลูกพืชเชิงเดี่ยว ทำนาเพียงอย่างเดียว มีรายได้ไม่มั่นคง อาศัยความเป็นเกษตรรุ่นใหม่เข้ามาต่อยอดสร้างรายได้ ในแง่ของการแปรรูปผลิตภัณฑ์และทำการตลาดออนไลน์ ทำให้พ่อแม่ คนในครอบครัว และคนในชุมชนได้กลับมายิ้มได้อีกครั้ง

นึ่งข้าวเหนียวให้สุก

พี่รัง เล่าถึงจุดเริ่มต้นการเป็นเกษตรกรว่า เมื่อก่อนตนเองก็ทำงานเป็นลูกจ้างประจำทั่วไป จนมาถึงจุดอิ่มตัว อยากกลับบ้านไปอยู่กับพ่อกับแม่ ประกอบกับที่บ้านมีรากฐานเป็นเกษตรกรมีไร่นาไว้รองรับอยู่แล้ว จึงตัดสินใจกลับมาต่อยอดงานเกษตรของที่บ้านให้ดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา ด้วยการปรับเปลี่ยนพื้นที่จากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว มาปลูกพืชผสมผสาน ยึดหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ มีการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน ตามอัตราส่วน 30 : 30 : 30 : 10 ลดพื้นที่ปลูกข้าวเหลือ 1 แปลง ส่วนพื้นที่ที่เหลือแบ่งพื้นที่เลี้ยงสัตว์ ขุดบ่อเลี้ยงปลา สร้างรายได้หมุนเวียน รวมถึงการต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มจากต้นทุนเดิมที่มีอยู่คือข้าว ด้วยการนำมาแปรรูปทำข้าวโป่ง พัฒนาสู่การรวมกลุ่มและทำตลาดออนไลน์ สามารถสร้างรายได้เสริมหลังว่างจากการทำนาให้กับคนในครอบครัวและคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี

ตำด้วยครกกระเดื่อง

ประวัติความเป็นมาของกลุ่มทำขนมบ้านทุ่งรี

หากจะถามถึงประวัติความเป็นมาของการรวมกลุ่มทำข้าวโป่งบ้านทุ่งรี พี่รัง เล่าให้ฟังว่า การทำข้าวโป่งถือเป็นภูมิปัญญามรดกตกทอดกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ เป็นวิถีที่เห็นตั้งแต่เล็กจนโต ทั้งเห็นพ่อกับแม่และคนในหมู่บ้านนั่งทำข้าวโป่ง เมื่อตอนหลังว่างจากการทำนา แต่จะทำกันในรูปแบบบ้านใครบ้านมัน ทำกันเอง ขายกันเอง ตนเองจึงได้เข้ามาจัดระบบใหม่ ด้วยการเรียกคนในหมู่บ้านมาปรึกษาหารือเกี่ยวกับการรวมกลุ่ม พร้อมบอกถึงข้อดีของการรวมกลุ่มว่าดีกว่าการทำคนเดียวอย่างไร ซึ่งพี่น้องคนในหมู่บ้านก็เห็นด้วย การจัดตั้งกลุ่มทำขนมทุ่งรีจึงเกิดขึ้น จากการนำองค์ความรู้ที่ได้เข้าร่วมอบรมโครงการยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์เมื่อปี 2563 มาปรับประยุกต์ใช้ เพราะในการอบรมจะมีการแลกเปลี่ยนความคิดกับพี่น้องยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ในหลายหัวข้อ แต่ที่ชอบและเป็นสิ่งที่นำมาปรับใช้ได้กับที่กลุ่มคือ 1. การปรับเปลี่ยนแนวคิดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว หันมาปลูกพืชผสมผสาน ที่ในสมัยก่อนอาจจะเป็นในรูปแบบทำนาแล้วขายข้าวเปลือกเพียงอย่างเดียว แต่ที่นี่ทำให้ได้เปลี่ยนความคิดให้มีมุมมองที่กว้างขึ้น เช่น หากเป็นในช่วงที่ข้าวราคาถูก ขายข้าวเปลือกไม่ได้ราคา เราก็เอาข้าวเปลือกมาสีแล้วแพ็กซีลสุญญากาศขายเป็นกิโลกรัม และอีกส่วนนำมาแปรรูปสร้างมูลค่าทำข้าวโป่ง 2. การตลาด ทำยังไงให้ผลิตภัณฑ์ของเราติดตลาด รู้จักกันในวงกว้าง และก็นำข้อมูลจากที่ได้รับมาจากการอบรมมาปรับใช้ในกลุ่ม จนสามารถพัฒนาสำเร็จเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ประจำตำบล โดยปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 24 คน ตนเองดำรงตำแหน่งเป็นประธานกลุ่ม

ใส่ส่วนผสมเครื่องปรุงตำผสมลงในครกจนเหนียวได้ที่

“การรวมกลุ่มทำขนมบ้านทุ่งรีขึ้นมา ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะเรามีการวางแผนทั้งการผลิตและการตลาดที่เหนียวแน่นมากขึ้น มีการแบ่งการทำงานอย่างชัดเจนไม่มีใครเหนื่อยมากไปกว่ากัน คือที่กลุ่มจะแบ่งแยกเป็นฝ่าย กลุ่มนี่อยู่ฝ่ายผลิตก็ให้ผลิตไป ส่วนฝ่ายขายก็ให้ขายไป จะไม่ให้คนคนเดียวทั้งผลิตและขาย ถือเป็นการกระจายความเหนื่อย ส่วนเรื่องของการลงทุนและเงินปันผล เราจะให้สมาชิกลงหุ้น แล้วนำเงินส่วนนี้ไปซื้อวัตถุดิบอุปกรณ์ในส่วนที่ไม่สามารถผลิตเองได้ เช่น เครื่องปรุงรสต่างๆ แต่ส่วนของไข่ไก่และมะพร้าว สมาชิกกลุ่มจะเลี้ยงเองหรือเป็นการอุดหนุนกันภายหมู่บ้าน โดยจะมีการปันผลกำไรให้กับสมาชิกทุกปี และในทุกเดือนจะมีการแจกแจงรายละเอียดรายรับ รายจ่าย และกำไร อย่างชัดเจน ชาวบ้านก็แฮปปี้และมีกำลังใจทำในทุกวัน”

ในระหว่างการตำข้าวจะใส่น้ำใบเตยลงไปผสมเพื่อให้เกิดสีธรรมชาติ
น้ำแตงโม ให้เกิดสีธรรมชาติ

กว่าจะเป็นข้าวโป่งบ้านทุ่งรี
ผลิตภัณฑ์
OTOP ประจำตำบล

พี่รัง บอกว่า ก่อนอื่นต้องขอเท้าความก่อนว่า ข้าวโป่งเปรียบได้เสมือนกับขนมรับประทานเล่นของคนอีสาน ไม่ว่าจะไปตามหมู่บ้านไหน หรือตลาด ตามงานวัด งานรื่นเริงต่างๆ ก็จะเห็นคนถือถุงข้าวโป่งกันคนละถุงสองถุง เพื่อนำไปเป็นของรับประทานเล่นตอนดูการแสดง หรือถ้าเปรียบกับสมัยนี้ ข้าวโป่งก็เหมือนกับป๊อปคอร์นที่เด็กรุ่นใหม่หิ้วไปรับประทานในโรงหนัง

ตำจนได้ที่ นำแป้งมาใส่ในกระติกเตรียมกดเป็นแผ่น

ส่วนขั้นตอนกว่าจะมาเป็นข้าวโป่งได้นั้น ต้องบอกก่อนว่าในแต่ละพื้นที่ก็จะมีสูตรการทำที่ไม่เหมือนกัน บางที่แตกต่างกันที่ส่วนผสม บางที่แตกต่างกันที่เครื่องจักรและอุปกรณ์ในการทำ แต่กลุ่มของเราจะทำแบบดั้งเดิม คือใช้แรงงานคนทุกขั้นตอน ตำข้าวด้วยครกกระเดื่อง ซึ่งข้อแตกต่างระหว่างการใช้เครื่อง กับใช้แรงงานคนทำ จะต่างกันตรงที่ขั้นตอนการผสมวัตถุดิบ หากใช้เครื่องในการตีแป้งและวัตถุดิบเทกเจอร์ของแป้งและความเข้ากันของส่วนผสม จะไม่ละเอียดและหอมเท่ากับการทำด้วยมือ

แท่นกดแผ่นภูมิปัญญาชาวบ้าน
ฝ่ายผลิตช่วยกันแข็งขัน

ขั้นตอนการทำข้าวโป่งบ้านทุ่งรี

  1. นำข้าวเหนียวมาแช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน
  2. จากนั้นนำข้าวเหนียวที่แช่ไว้ไปนึ่ง พอข้าวสุกได้ที่นำไปตำในครกกระเดื่อง ในระหว่างการตำข้าวจะมีการใส่น้ำใบเตยหรือน้ำแตงโมลงไปเพื่อแต่งสีและให้ได้กลิ่นหอมอ่อนๆ จากสีธรรมชาติ ใช้เวลาในการตำนานประมาณ 20 นาที หรือตำจนกว่าข้าวจะละเอียด (ในอัตราข้าวเหนียวที่นึ่งสุกแล้วประมาณ 3-5 กิโลกรัมต่อครก)
  3. เมื่อตำข้าวจนละเอียดแล้ว นำวัตถุดิบที่เตรียมไว้คือ 1. น้ำตาลทรายขาว 1 กิโลกรัม 2. งาดำ 2 ช้อนโต๊ะ 3. กะทิสด 1 กล่อง 4. ไข่ไก่ 2 ฟอง เพื่อเพิ่มความหอม หรือถ้าลูกค้าท่านใดอยากได้ความหอมมันเป็นพิเศษ ก็จะขูดเนื้อมะพร้าวอ่อนใส่ลงไปให้ด้วย เพื่อให้ได้รสชาติความหอม มัน มากขึ้น
  4. จากนั้นตำส่วนผสมให้เข้ากัน ตำจนเหนียวได้ที่ (โดยวิธีการสังเกตแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน จะทำด้วยวิธีการใช้มือดึงแป้งเพื่อทดสอบความเหนียวว่าเหมาะสำหรับการนำไปกดลงเป็นแผ่นหรือยัง ถ้าแป้งได้ที่แล้ว นำแป้งออกจากครกมาใส่ในกระติกน้ำทั่วไป แล้วหยิบเป็นก้อนนำไปกดลงแม่พิมพ์ในขนาดตามต้องการ)
  5. หลังกดแป้งให้เป็นแผ่นเสร็จแล้ว นำไปเรียงบนตะแกรงแล้วนำไปตากแดดทิ้งไว้ประมาณ 5-6 ชั่วโมง (โดยตากไม่ต้องแห้งมาก เพราะถ้าตากแห้งจนเกินไปเมื่อนำไปย่างแผ่นแป้งจะไม่พองออก)

จัดวางบนตะแกรงแล้วนำไปตากแดด

ลูกค้าข้าวโป่งมีอยู่ทั่วประเทศ

เจ้าของบอกว่า สำหรับข้าวโป่งบ้านทุ่งรี จะทำขายออกเป็น 2 ประเภทด้วยกัน คือ

  1. ขายแบบแผ่นสด ไว้สำหรับพ่อค้ารับไปย่างขายต่อ รวมถึงผู้บริโภคทั่วไปที่ชอบซื้อไปย่างรับประทานเองที่บ้าน โดยตลาดขายแผ่นสดจะเป็นลูกค้าออนไลน์ ผ่านสื่อโซเชียลเฟซบุ๊ก มีกลุ่มลูกค้าจะมาจากทั่วทุกภาค รวมถึงจากการบอกปากต่อปาก มีออร์เดอร์แผ่นสดเข้ามาทุกวัน วันละ 200-300 แผ่น ขายในราคาแผ่นละ 5 บาท
  2. ขายแบบย่างแล้วพร้อมรับประทาน กลุ่มลูกค้าตรงนี้จะอยู่ที่ตลาด งานวัด งานเทศน์มหาชาติ งานรื่นเริง งานที่มีเวทีการแสดงต่างๆ จะขายได้ดีมาก ยกตัวอย่าง ในช่วงที่มีงานวัด ทีมงานขนไปขายกัน 100 ถุง ขายหมดในเวลาไม่ถึงชั่วโมง ถือเป็นอาชีพเสริมที่ดีมากๆ ช่วยให้ทุกคนในหมู่บ้านอยู่รอดได้ในช่วงวิกฤตราคาข้าวตกต่ำ รวมถึงในอนาคตกำลังต่อยอดพาชาวบ้านสีข้าวขายเอง ในตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงการดำเนินงาน
ฝ่ายย่างรุ่นเก๋า
จัดใส่ถุง 3 แผ่น 20 บาท
ฝ่ายขายเตรียมพร้อม

ฝากถึงเกษตรกร เริ่มต้นจากสิ่งที่มีอยู่ใกล้ตัว

“อยากจะแนะนำสำหรับเกษตรกรทุกท่านที่กำลังประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ ให้หันกลับมาเริ่มต้นดูว่าในท้องถิ่นของเรา แต่ละบ้าน แต่ละอำเภอ เขาทำอาชีพอะไรหลังว่างจากการทำนา ทำสวน อย่างในโซนของพี่ พี่มีวัตถุดิบเป็นข้าว เมื่อเราขายข้าวเปลือกแล้วมันไม่ได้ราคา เราก็ทำเกษตรแบบอินทรีย์ สีข้าวขายเอง แล้วเราจะได้มูลค่าเพิ่ม จากที่ว่าเราขายข้าวเปลือกได้กิโลกรัมละ 6-7 บาท พอมาเป็นรูปแบบของข้าวสารมูลค่าก็จะเพิ่มขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 40 บาท เราก็มีกำไรเพิ่มขึ้นมา แล้วทีนี้ชาวนาก็ไม่ต้องทำเกษตรแบบโบราณ ที่พึ่งแต่สารเคมี เราก็เลี้ยงวัวเลี้ยงควาย แล้วเอาขี้วัวไปใส่เป็นปุ๋ยอินทรีย์ และจากที่เคยเผาตอซัง ก็ไม่ต้องเผา เปลี่ยนมาไถกลบให้มันเป็นปุ๋ย ช่วยลดต้นทุนการผลิตไปได้ด้วย เพราะปุ๋ยเคมีสมัยนี้ราคาแพงมาก ตอนนี้พี่ก็ทำนาอินทรีย์ แต่ทำไม่เยอะ เพราะการทำสวนของที่เราจะยึดหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ ทำสวนให้เป็นแหล่งอาหารครบวงจร” พี่รัง กล่าวทิ้งท้าย

แยกกันไปขายตามจุดต่างๆ
ข้าวโป่งพร้อมรับประทานแผ่นเล็ก สำหรับจัดเบรกหรือซื้อเป็นของฝาก

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือสนใจซื้อข้าวโป่งบ้านทุ่งรี สามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทร. 062-151-6828