ที่มา | เรื่องเล่า กศน. |
---|---|
ผู้เขียน | สาวบางแค 22 |
เผยแพร่ |
เมื่อเร็วๆ นี้ นายวัลลพ สงวนนาม เลขาธิการ กศน.ได้ลงพื้นที่จังหวัดนราธิวาส เพื่อมอบแนวทางการขับเคลื่อนการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเลขาธิการ กศน. ได้เน้นย้ำเรื่องการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่ “กศน.ปักหมุด” เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับคนพิการและผู้ด้อยโอกาส โครงการส่งเสริมโอกาสความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษา “พาน้องกลับมาเรียน” ศูนย์ความปลอดภัยกระทรวงศึกษาธิการ (MOE Safety Center)
ขณะเดียวกัน เน้นย้ำให้ความสำคัญของ “ศูนย์พัฒนาทักษะภาษาเพื่อการสื่อสาร” ซึ่งเป็นโครงการเร่งด่วนสำคัญของรัฐบาลในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเลขาธิการ กศน. ได้ให้ข้อเสนอแนะว่า ควรออกแบบกิจกรรมให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย สร้างความหลากหลาย เพื่อพัฒนาทักษะทางภาษาของกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่มได้
นอกจากนี้ เลขาธิการ กศน.เห็นชอบกับแนวทางของ นายอุดร สิทธิพาที ประธานกลุ่มสำนักงาน กศน.จังหวัดชายแดนใต้ ที่เสนอเรื่องการบูรณาการของหน่วยงานทางการศึกษา กศน. ได้แก่ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา และศูนย์ฝึกอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดน รวมทั้งภาคีเครือข่ายอื่นๆ ในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ของ กศน.ตำบล และสถาบันศึกษาปอเนาะ
สำนักงาน กศน.จังหวัดนราธิวาส
บริการการศึกษาเรียนรู้ตลอดชีวิต
กระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงาน สำนักงาน กศน.ด้านการจัดการศึกษาเรียนรู้ การศึกษาตามอัธยาศัย คือ พัฒนาแหล่งการเรียนรู้ที่มีบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการ อ่าน และพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในสังคม ให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและทั่วถึง เช่น พัฒนาห้องสมุดประชาชนทุกแห่งให้มีการบริการที่ทันสมัย ส่งเสริมและสนับสนุนอาสาสมัครส่งเสริมการอ่าน การสร้างเครือข่ายส่งเสริมการอ่าน จัดหน่วยบริการเคลื่อนที่พร้อมอุปกรณ์เพื่อจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ที่หลากหลายให้กับประชาชนในพื้นที่ต่างๆ อย่างทั่วถึง สม่ำเสมอ รวมทั้งเสริมความพร้อมในด้านบุคลากร สื่อ อุปกรณ์เพื่อสนับสนุนการอ่านและการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการอ่านที่หลากหลาย
สำนักงาน กศน.จังหวัดนราธิวาสและสถานศึกษาในสังกัด ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนากลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชนที่ขาดโอกาส พลาดโอกาส และด้อยโอกาส ให้ได้ รับการศึกษา เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเรียนรู้ โดยเฉพาะขับเคลื่อนส่งเสริมการอ่านในทุกระดับโดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมและขับเคลื่อนโดยประชารัฐ ขับเคลื่อนการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านทุกรูปแบบ มุ่งผลลัพธ์ให้เกิดพฤติกรรมมีนิสัยรักการอ่านในพื้นที่ และช่วยให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ การพัฒนาความคิดที่เป็นระบบ พัฒนาจิตใจ จินตนาการ และก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ นำไปสู่การเรียนรู้อย่างยั่งยืน
ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่ากลุ่มเป้าหมายต้องการให้จัดโครงการในลักษณะนี้อีกเพราะเป็นประโยชน์ในการนำไปพัฒนาตนเอง จึงได้ดำเนินการจัดโครงการกิจกรรมห้องสมุดเคลื่อนที่จังหวัดนราธิวาส เพื่อให้มีสื่อและกิจกรรมที่เหมาะสมกับผู้รับบริการต่อการส่งเสริมการอ่านทุกรูปแบบ และบรรณารักษ์หรือเจ้าหน้าที่ห้องสมุด จัดทำสื่อส่งเสริมการอ่านเหมาะสมกับผู้รับบริการ
ส่งเสริมการใช้ภาษาไทย เพื่อการสื่อสาร
จังหวัดนราธิวาส ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่นับถือศาสนาอิสลาม มีขนบธรรมเนียมประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ เช่น การแต่งกาย การใช้ภาษาในการสื่อสาร เป็นต้น ประชาชนส่วนใหญ่ใช้ภาษามลายูถิ่นในการติดต่อสื่อสารในชีวิตประจำวัน เนื่องจากไม่สามารถสื่อสาร อ่าน เขียนภาษาไทยได้ ส่งผลให้เกิดความไม่เข้าใจในการติดต่อสื่อสารระหว่างประชาชนกับหน่วยงานราชการ เอกชน ร้านค้า ทำให้เกิดความไม่เข้าใจซึ่งกันและกันในการติดต่อสื่อสาร หากมีการสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน การประสานงานการติดต่อสื่อสารก็จะง่ายและสะดวกมากขึ้น อันจะส่งผลให้การอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์และสันติสุขในพื้นที่
สำนักงาน กศน. จังหวัดนราธิวาส ภายใต้การนำของ นายสุรสิทธิ์ สุดสาย ผู้อำนวยการ สำนักงาน กศน.จังหวัดนราธิวาส เห็นความสำคัญดังกล่าว จึงได้จัดโครงการส่งเสริมการรู้หนังสือขึ้น เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ที่เป็นผู้ไม่รู้หนังสือได้มีทักษะในการฟัง พูด อ่าน เขียนภาษาไทย สามารถใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสารในชีวิตประจำวันได้โดยใช้หลักสูตรการรู้หนังสือไทย พุทธศักราช 2557 ตามที่สำนักงาน กศน.จัดทำขึ้น โดยใช้ระยะเวลาในการเรียนการสอน จำนวน 200 ชั่วโมง เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้เรียนรู้การอ่าน เขียนภาษาไทยเพื่อการสื่อสารและใช้ในชีวิตประจำวันอย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลให้ผู้ไม่รู้หนังสือมีความรู้และใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสารและใช้ในชีวิตประจำวันอย่างถูกต้อง
จัดการศึกษาผู้พิการ-ผู้สูงวัย
มีอาชีพพึ่งพาตนเองได้
สำนักงาน กศน. จังหวัดนราธิวาส จัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตให้กับทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะคนพิการ ผู้สูงอายุ ที่สอดคล้องกับความต้องการจำเป็นของแต่ละบุคคล และมุ่งเน้นให้ทุกกลุ่มเป้าหมายมีทักษะการดำรงชีวิต ตลอดจนสามารถประกอบอาชีพพึ่งพาตนเองได้ มีความรู้ ความสามารถในการบริหารจัดการชีวิตของตนเองให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข สามารถเผชิญสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเตรียมพร้อมสำหรับการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของข่าวสารข้อมูลและเทคโนโลยีสมัยใหม่ในอนาคต
โดยจัดกิจกรรมที่มีเนื้อหาสำคัญต่างๆ เช่น การอบรมจิตอาสา การให้ความรู้เพื่อการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 การอบรมพัฒนาสุขภาพกายและสุขภาพจิต การอบรมคุณธรรมและจริยธรรม การป้องกันภัยยาเสพติด เพศศึกษา การปลูกฝังและการสร้างค่านิยมที่พึงประสงค์ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ผ่านการอบรมเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ อาทิ ค่ายพัฒนาทักษะชีวิต การจัดตั้งชมรม/ชุมนุม การอบรมส่งเสริมความสามารถพิเศษต่างๆ เป็นต้น
จัดตั้งศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน ระดับตำบล-อำเภอ
สำนักงาน กศน.จังหวัดนราธิวาส ส่งเสริมและสนับสนุนให้สถานศึกษาในสังกัด ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการ และนโยบายของสำนักงาน กศน. ในด้านการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพ โดยกำหนดให้สถานศึกษาในสังกัด จัดตั้งศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนระดับตำบล และระดับอำเภอ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการฝึก พัฒนา สาธิต และสร้างอาชีพของผู้เรียนและชุมชน โดยเน้นกระบวนการเรียนรู้ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งเป็นที่จัดเก็บแสดง รวมถึงการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาชีพของชุมชนอย่างเป็นระบบครบวงจรต่อไป
ทั้งนี้ สำนักงาน กศน.จังหวัดนราธิวาส ได้จัดตั้งอาคารศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน 1 วัน 1 อาชีพ สำนักงาน กศน.จังหวัดนราธิวาส บริเวณภายในสำนักงาน กศน.จังหวัดนราธิวาส เพื่อเป็นศูนย์กลางในการฝึก พัฒนาสาธิต และจัดเก็บแสดง รวมถึงการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาชีพของชุมชนในภาพรวมของจังหวัดนราธิวาส
ปรับปรุงห้องสมุดประชาชน
เป็นแหล่งเรียนรู้ นักศึกษา กศน.
การจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย มีบทบาทที่สำคัญในการจัดกิจกรรมการศึกษาให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยสอดคล้องกับความต้องการของคนในชุมชนและบริบทสภาพปัญหาของสังคม และวิถีชีวิตของคนในชุมชนตลอดจนให้ทันต่อเหตุการณ์ของสังคมยุคดิจิทัล ซึ่งเป็นสังคมแห่งข้อมูลสารสนเทศที่ทันสมัย
สำนักงาน กศน.จังหวัดนราธิวาส มีห้องสมุดประชาชน จำนวน 13 แห่ง เป็นแหล่งเรียนรู้ที่บริการให้กับนักศึกษา กศน. และประชาชนในชุมชน ปัจจุบัน ได้เปิดให้บริการเป็นเวลามามากกว่า 10 ปี ทำให้สื่อ หนังสือ และอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ทันสมัย เสื่อมสภาพไปตามอายุการใช้งาน และไม่เอื้อต่อการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านในห้องสมุดประชาชนที่จะเป็นแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับนักศึกษา กศน. และผู้มารับบริการในชุมชน
ดังนั้น สำนักงาน กศน.จังหวัดนราธิวาส จึงได้จัดโครงการพัฒนาปรับปรุงห้องสมุดประชาชน เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับนักศึกษา กศน. สำนักงาน กศน.จังหวัดนราธิวาส ขึ้น เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนจัดหาสื่อหนังสือ และวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านให้กับนักศึกษา กศน. และผู้มารับบริการได้อย่างทั่วถึง และเพื่อพัฒนาปรับปรุงห้องสมุดประชาชนให้เป็นศูนย์กลางในการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับนักศึกษา กศน. และผู้รับบริการในชุมชน
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบข่าว จาก กศน.อำเภอศรีสาคร สำนักงาน กศน.จังหวัดนราธิวาส