สำรวจชี้ผู้สูงวัยเงินไม่พอเกษียณ แนะเกษตรกร-อาชีพอิสระออม

นางพรอนงค์ บุษราตระกูล นักวิจัยคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงผลการวิจัยเกี่ยวกับระดับสินทรัพย์ และการออมขั้นต่ำที่ผู้เกษียณอายุพึงมีในช่วงวัยสูงอายุ ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2563 เนื่องจากประชากรผู้สูงอายุจะมีมากถึงกว่า 13 ล้านคน คิดเป็น 25% ของประชากรทั้งประเทศ หากผู้เกษียณและผู้สูงอายุไม่มีเงินออมเพียงพอต่อการดำรงชีพในอนาคต จะส่งผลให้เป็นภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาล โดยพบว่ากลุ่มตัวอย่างกว่า 56.5% มีรายได้เพียงพอสำหรับช่วงเกษียณอายุ ส่วนอีกเกือบ 40% ตอบว่าไม่เพียงพอ และเพียงพอเป็นบางครั้ง ซึ่งรายได้หลักช่วงเกษียณของผู้สูงอายุไทยยังคงมาจากเงินรายได้ของลูกหลาน

นางพรอนงค์ กล่าวว่า จากการวิจัยยังพบว่าประชากรไทยทั่วไปที่มีอายุ 22 ปีในปัจจุบัน และเป็นผู้ประกันตนในประกันสังคมเท่านั้น ถึงจะเพียงพอไม่ต้องออมเพิ่ม แต่หากไม่ได้อยู่ในประกันสังคม จะต้องออมเพิ่ม ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 2,000 บาท โดยเพิ่มการออมที่มีผลตอบแทนไม่ต่ำกว่า 3% ต่อปี ส่วนผู้ที่อายุมากขึ้น เช่น 33 ปีขึ้นไป แม้จะมีประกันสังคม ก็ต้องเพิ่มการออมไม่ต่ำกว่าเดือนละ 4,000 บาท เพิ่มการออมที่มีอัตราผลตอบแทนไม่ต่ำกว่า 3% ต่อปี แต่หากต้องการออมเพียงเดือนละ 2,000 บาท ต้องหาการออมที่มีผลตอบแทนไม่ต่ำกว่า 6% ต่อปี ดังนั้น หากยิ่งอายุสูงการวางแผนการลงทุนช่วงเกษียณ ต้องเน้นลงทุนที่สร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้นจะช่วยลดภาระการออมต่อเดือนได้

นางวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ กรรมการสมาคมนักวางแผนการเงินไทย กล่าวว่า จากผลสำรวจพบว่าคนไทยกว่า 70% มีเงินออมไม่เพียงพอสำหรับใช้ชีวิตหลังเกษียณอายุ เนื่องจากไม่เก็บออม และหวังพึ่งพาลูกหลาน และเงินจากการดูแลของภาครัฐ โดยยอมรับว่ามีความเป็นห่วงในกลุ่มอาชีพเกษตรกร และผู้มีอาชีพอิสระ เช่น พ่อค้าแม่ค้า ซึ่งจำเป็นต้องมีการออม พร้อมกับหาผลตอบแทนอื่นๆ แทนอัตราดอกเบี้ยการฝากเงินในธนาคารเพียงอย่างเดียว

 

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน