“พลู” ผู้สูงอายุทำได้ ดูแลง่าย สร้างรายได้ประจำ

สวัสดีครับ สวัสดีผู้อ่านทุกท่าน ผมธนากร เที่ยงน้อย จำได้ว่าสมัยที่ผมยังเด็กเมื่อไหร่ได้กลับไปบ้านแม่คุณ (ยาย) ที่ประจวบฯ ผมจะต้องเข้าไปคลอเคลียขอแม่คุณตำหมากให้ แม่คุณของผมจะมีเชี่ยนหมากที่ใส่หมากแห้ง พลู ปูนแดง ยาเส้น เอาไว้พร้อมสรรพ หน้าที่ของผมคือเอาส่วนประกอบเหล่านั้นลงไปตำในครกไม้ที่มีสากเป็นแท่งเหล็ก ตำให้ละเอียด แล้วให้แม่คุณใช้ช้อนตักขึ้นมาเคี้ยว ภาพในอดีตกว่า 35 ปีที่แล้วยังชัดเจนในความจำ แต่โอกาสที่ผมจะได้สัมผัสหมาก พลู นั้นแทบจะหมดไปจนเมื่อผมได้ไปพบ ไปคุยกับคนปลูกพลูที่ทำให้รู้ว่าพืชชนิดนี้ยังมีราคา มีตลาดต้องการ ฉบับนี้จึงขอพาท่านไปพบพูดคุยกับเกษตรกรผู้ปลูกพลูกันครับ

ใบพลูที่ทำความสะอาดแล้วมาคัดขนาดและทำเป็นกำ

อายุ 77 ปี ยังดูแลสวนพลูได้สบาย

พาท่านมาพบกับ คุณเล็ก หรือ ป้าเล็ก สกุลทอง ที่บ้านเลขที่ 39/13 หมู่ที่ 5 ตำบลสามร้อยยอด อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ปีนี้ป้าเล็กอายุ 77 ปีแล้วครับ แต่ท่านยังกระฉับกระเฉง เดินเหินคล่องแคล่ว ป้าเล็กเล่าว่า ทำการเกษตรมาแล้วหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ จนเมื่ออายุมากขึ้นลูกหลานก็อยากให้หยุดอยู่เฉยๆ แต่เราก็คิดว่าจะนั่งๆ นอนๆ รอให้ลูกหลานมาเลี้ยงคงจะไม่ดี อะไรที่พอทำได้เลยทำเองทั้งหมด ตอนนี้เลยหันมาจริงจังกับการปลูกและดูแลพลูที่ปลูกเอาไว้หน้าบ้าน ใช้พื้นที่ปลูก 1 งานเศษๆ ถ้านับหลักพลูก็นับได้ 100 กว่าหลัก

ป้าเล็กปลูกพลูอย่างจริงจังมากว่า 3 ปีแล้ว เพราะมีพ่อค้ามารับซื้อตลอดเวลา และรับซื้อในราคาที่พอใจ จึงทำให้ป้าเล็กเริ่มขยับขยายพื้นที่ปลูกพลูเพิ่มมากขึ้น

ป้าเล็ก สกุลทอง คนขยันในวัย 77 ปี

เลือกปลูกพลูใบเหลือง

พลูสำหรับกินกับหมากในเมืองไทยนั้น เท่าที่ผมหาข้อมูลพบว่า มีการปลูกเชิงการค้าอยู่ 4 สายพันธุ์ คือ พลูเขียวพันธุ์ไทย พลูพันธุ์ภาคใต้ ซึ่งมีใบใหญ่สีเขียวเข้ม พลูใบเหลือง ใบมีขนาดเล็กกว่าพลูพันธุ์ภาคใต้ ใบมีสีเขียวอ่อน และพลูไต้หวัน ที่มีใบขนาดเล็ก ป้าเล็กเลือกที่จะปลูกพลูใบเหลือง

“เลือกปลูกพลูใบเหลืองเพราะในพื้นที่มีพลูพันธุ์นี้อยู่แล้วไม่ต้องไปหาพันธุ์ไกล การขยายพันธุ์พลูก็ทำได้ง่ายโดยการเด็ดยอดมาปักชำ เมื่อรากเจริญดีก็เอามาปลูกในพื้นที่ชื้นๆ หากเป็นพื้นที่ใต้ร่มไม้ใหญ่ยิ่งดี ตอนนี้ป้าเริ่มขยายพื้นที่ปลูกพลูเขียวพันธุ์ไทยมากขึ้นเพราะตลาดต้องการมากขึ้น”

การปลูกพลูของป้าเล็กจะปลูกใกล้ๆ กัน เพื่อให้ความชุ่มชื้นกระจายไปทั่วถึง และใช้หลักไม้ปักให้พลูเลื้อยขึ้นเกาะ เมื่อปลูกพลูไปได้ 7-8 เดือน จะสามารถเริ่มเก็บใบได้

พลูพันธุ์ใบเหลือง ให้ผลผลิตเก็บเกี่ยวได้เมื่อปลูกไปแล้ว 7-8 เดือน

ดูแลง่าย เก็บได้สัปดาห์ละ 10,000 ใบ

การดูแลสวนพลู ป้าเล็ก บอกว่า หากเป็นไปได้ควรรดน้ำวันละ 2 ครั้ง เช้า เย็น น้ำที่ป้ารดจะเป็นน้ำในหนองข้างบ้าน ไม่ใช้น้ำประปา ส่วนปุ๋ยจะให้ปุ๋ยสูตร16-16-16 ใส่ปีละ 2 ครั้ง กับปุ๋ยสูตร 46-0-0 ใส่ปีละ 2 ครั้ง นอกจากนั้นยังใส่ปุ๋ยคอก เป็นขี้แพะแห้งอีกปีละ 2 ครั้ง โรยใส่โคนต้น แต่ใส่ต้นละไม่มากนัก

ในส่วนของโรคและแมลงศัตรูของพลู ป้าเล็ก บอกว่า

“ใบพลูจะมีเชื้อราทำให้ใบจะเป็นจุดๆ ขายไม่ได้ ส่วนโรคอื่นๆ ยังไม่มี ส่วนแมลงศัตรูพลูเท่าที่ปลูกมาก็ยังไม่มีแมลงอะไรเข้าทำลายเลยไม่ต้องฉีดยากันโรคกันแมลง”

ส่วนการเก็บเกี่ยวผลผลิต ป้าเล็กจะเก็บใบพลูสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ครั้งละประมาณ 5,000 ใบ รวมแล้วเก็บใบพลูได้สัปดาห์ละ 10,000 ใบ จากพื้นที่ปลูกประมาณ 1 งานเศษๆ

 

การเก็บใบพลู จะต้องใช้ความชำนาญ

ป้าเล็ก เล่าว่า การเก็บพลูจะต้องใช้ความชำนาญ เราเลือกเก็บพลูโดยนับจากยอดลงมาเป็นใบที่ 3 จะเริ่มเก็บได้ ส่วนใบที่อยู่เหนือใบที่ 3 ถือว่ายังอ่อนเกินไปให้ปล่อยเอาไว้ ในการเด็ดหากไม่มีเครื่องมือเราจะใช้เล็บจิกไปที่ขั้วใบพลู ให้ขั้วใบหลุดติดมาด้วย หากมีเครื่องมือก็จะสะดวกสามารถเก็บได้เร็วขึ้น” ในการเก็บเกี่ยวใบพลูจะต้องคำนวณจำนวนใบที่เก็บได้ เพราะหากเก็บใบพลูมามากเกินความต้องการของแม่ค้าก็จะต้องทิ้งเพราะใบพลูเก็บไว้ได้แค่ 3-5 วันเท่านั้น

“ตอนนี้ป้าปลูกพลูอยู่ 100 กว่าหลัก การเก็บใบ 1 ครั้งจะตั้งเป้าว่าต้องได้ใบพลู 100 กำ กำละ 50 ใบ รวมเป็นเก็บใบพลูครั้งละ 5,000 ใบ 1 อาทิตย์เก็บได้ 2 ครั้งรวม 10,000 ใบ”

พลูพันธุ์ใบเหลือง ให้ผลผลิตเก็บเกี่ยวได้เมื่อปลูกไปแล้ว 7-8 เดือน

 

แม่ค้ารับซื้อถึงที่

ใบพลูที่เก็บได้ป้าเล็กจะเอามาทำความสะอาดและเรียงขนาดเพื่อมัดเป็นกำ

“พลูที่เก็บได้ต้องเอามาทำความสะอาด เช็ดดิน สิ่งสกปรกออก จากนั้นจะเรียงขนาดเพื่อทำเป็นกำโดยเรียงขนาดใบเล็กใบใหญ่คละกันไปแล้วมัดด้วยเชือกกล้วยหรือเชือกฟาง 1 กำ จะมี 50 ใบ หลังจากนั้นจะพรมน้ำเอาไว้ไม่ให้ใบพลูเหี่ยว รอให้แม่ค้ามารับไป”

แม่ค้าคนกลางจะมารับซื้อพลูจากป้าเล็กในราคากำละ 10 บาท ใน 1 สัปดาห์ ป้าเล็กจะมีรายได้จากการขายพลูประมาณ 2,000 บาท โดยแม่ค้าคนกลางจะเอาไปขายต่อในแหล่งที่มีแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านอาศัยอยู่เยอะ เช่น ชาวมอญ ชาวพม่า ที่นิยมกินหมาก พลู ในชีวิตประจำวัน นอกจากนั้น ป้าเล็กยังสามารถขายพลูให้กับแม่ค้าในพื้นที่ได้อีกด้วย

“นอกจากขายพลูให้กับแม่ค้าคนกลางแล้ว ยังมีแม่ค้าขายดอกไม้ในพื้นที่จะมารับซื้อใบพลูเพื่อนำไปมวนใส่ในถาดดอกไม้บูชาพระ โดยจะมาซื้อทุกวันโกนก่อนวันพระ”

การคัดแยก ทำความสะอาดและจัดกำใบพลู ใช้แรงงานพี่น้องลูกหลาน

 

อยู่ได้เพราะคู่แข่งน้อย ราคาดีขึ้น

ป้าเล็ก บอกว่า ตอนนี้พลูราคาดีขึ้น จากเดิมแม่ค้าคนกลางรับซื้อในราคากำละ 8 บาท ขยับมาเป็นกำละ 10 บาท เนื่องจากมีความต้องการพลูมากขึ้นและมีคนปลูกพลูน้อยลง บางบ้านอาจจะปลูกพลูเอาไว้ 4-5 หลัก ก็ไม่พอให้แม่ค้าวิ่งไปรับซื้อ ดังนั้น ตอนนี้จึงมีแม่ค้าคนกลางวิ่งมาหามารับซื้อพลูจากป้าเล็กมากขึ้นกว่าเดิม

“ตอนนี้ป้าก็ขยายพื้นที่ปลูกพลูเพิ่มไปเรื่อยๆ ทีละ 10-15 หลัก และเริ่มขยายพื้นที่การปลูกพลูเขียวพันธุ์ไทยมากขึ้นเพราะมีแม่ค้าขายดอกไม้มาซื้อมากขึ้น จุดเด่นของพลูเขียวพันธุ์ไทยที่แม่ค้าดอกไม้ชอบคือ พลูเขียวพันธุ์ไทยจะสามารถเก็บเอาไว้ได้นานกว่าพลูใบเหลือง แม่ค้าที่มวนพลูขายไปกับเครื่องบูชาพระจะชอบ”

ส่วนใบพลูที่มีตำหนิเล็กน้อยจากแมลงหรือจากการเก็บเกี่ยว หรือใบพลูที่มีขนาดเล็กผิดจากปกติ ป้าเล็กจะแยกออกไว้อีกกลุ่ม

“พลูพวกนี้จะเรียกว่า ขี้พลู เราจะแยกออกมาเก็บไว้เพื่อเอาไปแจกชาวบ้านที่เป็นคนเฒ่าคนแก่ หรือหากมีเยอะก็จะแถมให้กับแม่ค้าคนกลางที่มารับซื้อ”

พลูในสวนของป้าเล็ก ปลูกไว้ใต้ร่มไม้

 

สูงอายุทำได้

ก่อนจากกัน ป้าเล็กฝากบอกว่า การปลูกพลูสามารถสร้างรายได้ประจำได้เป็นอย่างดี แม้จะเป็นผู้สูงอายุก็ทำได้ไม่ยาก ที่สำคัญต้องดูความต้องการของพืชที่เราปลูกด้วย อย่างพลูเป็นพืชที่ชอบร่ม ชอบความชื้น แต่หากความชื้นมากไปก็ไม่ดี ต้องดูการเติบโต การแตกใบ ดูความชอบของพลูไปด้วยถึงจะปลูกได้ดี การดูแลเป็นสิ่งสำคัญ การรดน้ำใส่ปุ๋ยต้องทั่วถึง คนสูงอายุอย่างเราทำได้ แต่ต้องปลูกในปริมาณที่พอดี ไม่มากไม่น้อยเกินไป อะไรที่เหนือบ่ากว่าแรงก็อาจจะให้ลูกหลานมาช่วย อย่างเช่น การรดน้ำที่บางวันก็ต้องพึ่งพาให้ลูกมาช่วยปั๊มน้ำมารดให้ เพียงเท่านี้พลูก็สามารถสร้างรายได้ให้เราได้สบายๆ

ใครอยากคุย สอบถามเพิ่มเติมกับป้าเล็ก ติดต่อไปได้ที่เบอร์ 086-021-9966 ผมธนากร เที่ยงน้อย แล้วต้องขอลากันไปก่อน ขอให้โชคดี ไม่มีโรคกันทุกท่านทั่วหน้า สวัสดีครับ

 

เอกสารอ้างอิง www.rakbankerd.com

 

วันพฤหัสที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2565