ปั้นออร์แกนิกวัลเลย์ชัยภูมิ เพิ่มมูลค่าเกษตรชิงตลาด7.2หมื่นล.

แปลงเพาะพันธุ์ข้าว

“อภิรดี” ตั้งเป้าปั้น 4 หมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ชิงแชร์ตลาดอินทรีย์ 72,000 ล้านบาท นำร่องชัยภูมิ “ออร์แกนิก วัลเลย์” แห่งแรกของไทย เดินหน้าตั้งสหพันธ์เกษตรอินทรีย์ สร้างเครือข่าย CLMVT หนุนผ้าไหมออร์แกนิกบุกตลาดญี่ปุ่น-ยุโรป

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำคณะลงพื้นที่หารือร่วมกับภาคเอกชนและกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อินทรีย์ อ.หนองบัวแดง และ อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ เพื่อติดตามการดำเนินงานเกษตรอินทรีย์ของชุมชน ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาตลาดสินค้าอินทรีย์ ปี 2560-2564 ซึ่งได้จัดทำโครงการส่งเสริมและพัฒนาจัดตั้งหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ หรือ Organic Village เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการแปรรูป และเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ให้กับชุมชน และเพิ่มช่องทางการจำหน่ายและขยายตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ ซึ่งในปีนี้มีเป้าหมายดำเนินการ 4 หมู่บ้านในจังหวัดนครพนม ชัยภูมิ ลพบุรี และเชียงใหม่ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ดำเนินการไปแล้ว 4 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่บ้านริมสีม่วง ต.ริมสีม่วง อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ หมู่บ้านทัพไทย ต.ทมอ อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ หมู่บ้านโสกขุมปูน ต.นาโส่ อ.กุดชุม จ.ยโสธร และหมู่บ้านห้วยพูล จ.นครปฐม

“ได้หารือกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถึงแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ ซึ่งจะต้องใช้เวลา 3-5 ปี ให้มีช่องทางการตลาด กระทรวงพาณิชย์รับหน้าที่ดูแลด้านการตลาดให้ ซึ่งได้หารือกับกลุ่มผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) ยืนยันว่า สินค้าเกษตรอินทรีย์เป็นที่ต้องการของตลาด นอกจากนี้กระทรวงยังผลักดันให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางเกษตรอินทรีย์ของอาเซียน เพราะสินค้าไทยมีศักยภาพ มีความหลากหลาย โดยจะสร้างเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ในกลุ่มประเทศ CLMVT” นางอภิรดีกล่าว

พร้อมกันนี้ เตรียมจัดตั้งสหพันธ์เกษตรอินทรีย์อาเซียน (ASEAN Organic Federation) และจัดประชุมขึ้นเป็นครั้งแรกภายในงาน Organic & Natural Expo ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 ก.ค. 2560 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมุ่งหวังให้สหพันธ์ดังกล่าวเป็นเวทีในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการผลิต และการตลาดเกษตรอินทรีย์ระหว่างผู้ผลิต และผู้ประกอบการในอาเซียน ในส่วนของตลาดต่างประเทศ กระทรวงได้สร้างเครือข่ายออร์แกนิกร่วมกับสมาคมการค้าออร์แกนิกของสหรัฐ การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าออร์แกนิกระดับโลก เช่น ANUGA BioFach และ All Things Organic เป็นต้น

โดยปัจจุบันตลาดเกษตรอินทรีย์โลกมีมูลค่า 72,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 2.3 ล้านล้านบาท ขยายตัวปีละ 20% ในส่วนมูลค่าตลาดเกษตรอินทรีย์ไทย มีมูลค่า 2,300 ล้านบาท และมีอัตราการเติบโตประมาณ 10% ต่อปี และส่งออกได้ปีละไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท

ด้านนายวรวัฒน์ บุญหลาย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมดิฟูดส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทประกันราคารับซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์กับเกษตรกรสมาชิก 9 จังหวัด ที่เข้าร่วมโครงการโดยให้ราคาสูงกว่าปกติ 60% เช่น ข้าวหอมมะลิ ซื้อในราคา กก.ละ 15 บาทจากราคาตลาด กก.ละ 9 บาท เพื่อนำไปทำผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งขณะนี้มีตลาดรองรับและมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในยุโรป และสหรัฐ ซึ่งประชาชนเริ่มให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยในอาหารมากยิ่งขึ้น

นายธีระ ฉันทสวัสดิ์ อาจารย์จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ผู้เชี่ยวชาญสินค้าแฟชั่นและสินค้าไลฟ์สไตล์ในการออกแบบที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า ผ้าฝ้ายและผ้าไหมออร์แกนิกเป็นที่นิยมมากขึ้นในตลาดญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป สินค้ากลุ่มนี้สามารถทำรายได้มากขึ้น 20-30% ไทยจะต้องเร่งพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันในด้านการออกแบบ หนีคู่แข่งสำคัญ คือ เวียดนาม ที่สามารถผลิตสินค้าคุณภาพและราคาใกล้เคียงกับไทย

“เบื้องต้นเริ่มให้ชาวบ้านย้อมสีผ้าให้ได้ตามเทรนด์ที่ตลาดต้องการในปีนี้ซึ่งจะเน้นเป็นสีพาสเทลน้ำเงิน คราม จากนั้นจะออกแบบผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกาย และของใช้ในบ้านที่เรียบง่าย สามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวันได้ แต่เพิ่มความพิถีพิถันในการตัดเย็บ สร้างแบรนด์และเรื่องราวเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการ 6 เดือนต่อซีซั่น”

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การตั้งเป็น Organic Village ต้องมีเกษตรกรไม่ต่ำกว่า 50% ของครัวเรือนทั้งหมดที่เข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ กลุ่มนี้จะได้รับการผลักดันให้เกิดการรวมตัวเป็นเกษตรแปลงใหญ่ เชื่อมโยงการตลาดกับการท่องเที่ยว

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์