ชู ‘นครสวรรค์โมเดล’ ธ.ก.ส.หนุนเกษตรกรยึดต้นแบบสหกรณ์ สร้างความเข้มแข็ง – ยกระดับรายได้อย่างยั่งยืน

ธ.ก.ส. ใช้กระบวนการสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. (สกต.) ยกระดับรายได้เกษตรกร ผ่านสกต. ทั่วประเทศ 75 แห่ง ทำธุรกิจรวบรวมและรักษาเสถียรภาพ ราคาผลผลิตมูลค่ารวมกว่า 10,170 ล้านบาท เล็งนำต้นแบบ ความสำเร็จ “นครสวรรค์โมเดล” ในโครงการจัดการข้าวเพื่อยกระดับรายได้ชาวนาด้วยระบบสหกรณ์ สร้างความเป็นธรรมและความยั่งยืนให้กับเกษตรกรชาวนาทั่วประเทศ

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.ขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรผ่านสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. (สกต.) ทั่วประเทศ 75 แห่ง โดยในปีที่ผ่านมา สามารถเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการรวบรวม แปรรูป เก็บรักษาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตเกษตรกรที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา กาแฟ และผลไม้ มูลค่าการรวบรวม 10,169.64 ล้านบาท

สำหรับนครสวรรค์โมเดล หรือ โครงการจัดการข้าวเพื่อยกระดับรายได้ชาวนาอย่างยั่งยืนด้วยระบบสหกรณ์เป็นโครงการที่ ธ.ก.ส. และสกต.นครสวรรค์ ประสานความร่วมมือกับ สำนักงานสหกรณ์จังหวัด หอการค้าจังหวัด สำนักงานพาณิชย์จังหวัด เกษตรกรผู้ปลูกข้าวและโรงสี โดยใช้กลไกสหกรณ์รวมกันซื้อรวมกันขาย เชื่อมโยงการผลิตและการตลาดอย่างครบวงจร โดยการสร้างมูลค่าเพิ่มตลาดข้าวพร้อมแบ่งปันผลประโยชน์ที่เป็นธรรม ก่อให้เกิดความเข้มแข็งและความยั่งยืนให้สมาชิกด้วยกระบวนการสหกรณ์ สมาชิกมีส่วนร่วมตั้งแต่การพัฒนาพันธุ์ข้าว การดูแลผลผลิตให้มีคุณภาพ สามารถกำหนดราคาได้ นอกเหนือจากการสนับสนุนสินเชื่อตลอดห่วงโซ่มูลค่าเพิ่มของข้าวแล้ว ธ.ก.ส.ยังสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยในโครงการ เพื่อให้การดำเนินการในทุกขั้นตอนรวดเร็วถูกต้อง

ซึ่งจากการดำเนินงานโครงการฯ ในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยเห็นได้จากจำนวนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ปริมาณข้าวเปลือก มูลค่าข้าวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี

นอกจากนี้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการยังได้รับประโยชน์จากต้นทุนการผลิตที่ลดลง เนื่องจากกระบวนการรวมกลุ่มในรูปแบบสหกรณ์ผ่าน สกต.นครสวรรค์ ช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองในการซื้อปัจจัยการผลิต ชี้นำราคาผลผลิตในตลาดจากการรวบรวมผลผลิตของสมาชิกและนำกำไรสุทธิที่ได้จากการดำเนินงานในแต่ละปีมาปันผลให้กับสมาชิก ผลพลอยได้จากการสีแปร เช่น แกลบ รำ ข้าวท่อนและปลายข้าว สามารถนำมาขายและเฉลี่ยคืนเงินปันผลให้กับสมาชิกโครงการทุกราย

“ธ.ก.ส. พร้อมที่จะยกระดับนครสวรรค์โมเดลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งบูรณาการโครงการของรัฐบาล เช่น โครงการเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อลดต้นทุนการผลิตข้าว เพิ่มผลผลิตต่อไร่ และการขยายความร่วมมือเพื่อสนับสนุนด้านการตลาดในรูปแบบเครือข่ายประชารัฐ และพร้อมนำนครสวรรค์โมเดลที่เป็นระบบการบริหารจัดการข้าวตลอดห่วงโซ่อุปทานที่ออกแบบมาให้เป็นระบบเกื้อกูล แบ่งปันที่เป็นธรรม ผ่านกระบวนการสหกรณ์ และเครือข่ายประชารัฐไปขยายผลกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในพื้นที่อื่น ๆ เพื่อแก้ปัญหาการจัดการข้าวและยกระดับรายได้ของเกษตรกรอย่างยั่งยืนต่อไป” นายอภิรมย์กล่าว