เชลล์ชูยางมะตอยรักษ์โลก ส่ง 3 สูตรพรีเมี่ยมเข้าตลาด

เชลล์ รุกตลาดยางมะตอยรักษ์โลก ส่ง 3 สูตรพรีเมี่ยมทำตลาด ล่าสุดคิดค้นสูตร EAP ยางมะตอยลดใช้สารเคมี เผยเตรียมวิจัยผลิตภัณฑ์ใหม่ “ยางมะตอยเรืองแสง” ทำถนน-อุโมงค์ที่มืด คาดปีนี้งานก่อสร้างถนนกรมทางหลวง-ทางหลวงชนบท ทำยอดขายโต 10%

นายประวิทย์ เจีย ผู้จัดการใหญ่ธุรกิจยางมะตอย ไทย ลาว กัมพูชา และพม่า บริษัท เชลล์ แห่งประเทศไทย จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงธุรกิจยางมะตอยว่า ในปีนี้เชลล์จะเข้ามาทำการตลาดในส่วนของยางมะตอยเกรด พรีเมี่ยมมากขึ้น ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการวิจัยและพัฒนาจากศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีมะตอย (Shell Solution Center) ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 3 ชนิด คือ 1. ยางมะตอยผสมอุ่น (Warm Mix Asphalt) ซึ่งเป็นยางมะตอยที่ลดอุณหภูมิความร้อน เพื่อความสะดวกและรวดเร็วสำหรับหน้างานปูราดยางมะตอย เพื่อให้สามารถเปิดเส้นทางการจราจรได้เร็วขึ้น 2. ยางมะตอยลดกลิ่น (Bitufresh Asphalt) สูตรนี้จะช่วยลดผลกระทบเรื่องกลิ่นได้ และ 3. ยางมะตอยที่มีน้ำเป็นส่วนผสมแทนการใช้สารโซลเวนต์ (Emulsified Asphalt Prime-EAP) ที่เป็นเคมีช่วยลดการใช้สารเคมี และช่วยให้ยางมะตอยซึมสู่ชั้นพื้นทาง และแห้งตัวเร็วขึ้น ทั้งนี้ EAP กำลังจะเตรียมทำตลาดใน 1-2 เดือนข้างหน้า ขณะนี้ได้ยื่นขอมาตรฐานและขั้นตอนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐทั้งหมด และเตรียมที่จะนำเสนอโปรดักต์ใหม่นี้ให้กับลูกค้าที่สนใจ ที่ผ่านมา EAP ทำให้เชลล์ได้รับรางวัลจาก Official Site of the International Road Federation

นอกจากนี้ เชลล์อยู่ระหว่างวิจัยและพัฒนาต่อยอดทำผลิตภัณฑ์ “ยางมะตอยเรืองแสง” ซึ่งมีคุณสมบัติเก็บแสงในช่วงเวลากลางวัน และเวลากลางคืนจะปล่อยแสงคล้ายพรายน้ำออกมา ซึ่งจะช่วยให้ทัศนวิสัยของผู้ใช้ถนนดีขึ้น โดยเฉพาะในเส้นทางที่เป็นถนนอุโมงค์มืด

“ปัจจุบันเชลล์มีการทำการตลาดในส่วนของยางมะตอยพื้นฐาน (Asphalt Cement-AC) ที่ได้มาจากกระบวนการกลั่น และถือเป็นตลาดใหญ่มีการใช้ค่อนข้างมากคิดเป็น ร้อยละ 80 ในขณะที่ยางมะตอยเกรดพรีเมี่ยมมีการใช้อยู่ ร้อยละ 20 แต่มีราคาสูงกว่ายางมะตอยพื้นฐานตั้งแต่ ร้อยละ 20 จนถึง ร้อยละ 100 จึงถือเป็นตลาดที่น่าสนใจสำหรับเชลล์ ทั้งนี้ ธุรกิจยางมะตอยของเชลล์นับเป็น 1 ใน 8 ธุรกิจที่บริษัทแม่ยังคงให้ความสำคัญต่อเนื่องจากการที่สนับสนุนงบฯ การวิจัยและพัฒนาค่อนข้างสูงในแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท”

นายประวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับยางมะตอยเกรดพรีเมี่ยมที่ทำการตลาดไปก่อนหน้านี้ คือ ยางมะตอยผสมน้ำยางพาราสด ร้อยละ 5 ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทนทานต่อการกดทับได้มากขึ้น ซึ่งเป็นนโยบายของภาครัฐที่ต้องการสนับสนุนให้มีการใช้ยางพารามากขึ้นในช่วงที่ราคาตกต่ำ ทั้งนี้ ปัจจุบันความต้องการใช้ยางมะตอยของประเทศไทยอยู่ที่ 1.3 ล้านตัน ในขณะที่โรงกลั่นในประเทศมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 1.4 ล้านตัน

สำหรับระดับราคายางมะตอยขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันดิบ และความต้องการใช้และการผลิตในขณะนั้นว่าเป็นอย่างไร โดยปกติความต้องการใช้ยางมะตอยสูงสุดจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนเมษายน และความต้องการส่วนใหญ่มาจากโครงการทำถนนของกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท คิดเป็นร้อยละ 100 หรือคิดเป็นมูลค่าอยู่ที่ 1.2 แสนล้านบาท (รวมถึงการก่อสร้างสะพาน และอื่นๆ) ซึ่งเชลล์จะขายยางมะตอยโดยผ่านบริษัทที่ชนะการประมูลโครงการสร้างหรือขยายถนนในแต่ละปี คาดว่าปีนี้ธุรกิจยางมะตอยของเชลล์จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2559 ประมาณ ร้อยละ 10

ส่วนฐานการผลิตยางมะตอยของเชลล์ในไทยนั้น ยังส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าในไทยที่เข้าไปรับงานก่อสร้างถนนเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะใน สปป.ลาว และเมียนมา เป็นต้น ขณะนี้กำลังผลิตของโรงงานยางมะตอยอยู่ที่ประมาณ 200,000 ตัน/ปี และคาดว่าจะมีการขยายกำลังผลิตได้ต่อเนื่องตามความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นได้ในอนาคต

อนึ่ง บริษัท เชลล์ โดยเฉพาะบริษัทแม่นั้น ถือเป็นผู้ผลิตยางมะตอยที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยมีผลงาน อย่างเช่น การทำรันเวย์ให้กับสนามบินชางงี ประเทศสิงคโปร์ รวมถึงรันเวย์สนามบินประเทศดูไบ ในส่วนของเชลล์ในไทยมีสนามบินสุวรรณภูมิ โดยเชลล์มีสถาบันวิจัยและพัฒนารวม 3 แห่ง คือ ในประเทศฝรั่งเศส เมืองฮิวสตัน สหรัฐอเมริกา และที่กรุงเทพฯ

ขอบคุณข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ