ม.มหิดล ศึกษาบทบาท “ล่ามทางการแพทย์” ช่วยเหลือแรงงานอพยพและชาวต่างชาติที่ทำงานในไทย ช่วงวิกฤต COVID-19

อาจารย์ ดร.กรญาณ์ เตชะวงค์เสถียร ประธานศูนย์การแปลและบริการด้านภาษาและอาจารย์ประจำหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาและการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย (RILCA) มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ อาจารย์ ดร.ณรงเดช พันธะพุมมี ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรเดียวกัน ศึกษาบทบาทของล่ามทางการแพทย์ และแนวทางการส่งเสริมการใช้ล่ามทางการแพทย์ เพื่อทำหน้าที่ “หมอภาษาและวัฒนธรรม” ผ่านงานวิจัย เรื่อง “ข้ามกำแพงทางภาษาในวิกฤตโรคระบาด: บทบาทการแปลและการล่ามช่วงภาวะ COVID-19 ในประเทศไทย”

ที่ผ่านมา อาจารย์ ดร.กรญาณ์ เตชะวงค์เสถียร ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมวิทยาการแปล และ อาจารย์ ดร.ณรงเดช พันธะพุมมี ได้ศึกษาบทบาทของล่ามทางการแพทย์ และแนวทางการส่งเสริมการใช้ล่ามทางการแพทย์ โดยใช้บริบทของสังคมและวัฒนธรรม ที่ผสมผสานกับทักษะของ “การสื่อสารสุขภาวะ” เพื่อให้ล่ามทำหน้าที่ “หมอภาษาและวัฒนธรรม” ให้ความรู้เรื่อง COVID-19 ไปสู่แรงงานอพยพ รวมถึงชาวต่างชาติที่พำนักในประเทศไทยอย่างเต็มที่

มีหลายคำในช่วงวิกฤต COVID-19 ที่ผ่านมา ที่ล่ามทางการแพทย์จะต้องอธิบายให้แรงงานอพยพ รวมถึงชาวต่างชาติที่พำนักในประเทศไทยเกิดความเข้าใจ ท่ามกลางความตื่นตระหนกเนื่องจากเป็นวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝันพร้อมกันทั่วโลก อาทิ “Quarantine” หรือ “การกักโรค” และ “Home Isolation” หรือ “การกักโรคที่บ้าน” ฯลฯ หรือแม้แต่การทำความเข้าใจกับการแบ่งระดับการติดเชื้อและการป่วยด้วย COVID-19 ตามลักษณะของสีต่างๆ ซึ่งแสดงถึงความรุนแรงจากน้อยไปหามาก ตั้งแต่ “สีเขียว” “สีเหลือง” ไปจนถึง “สีแดง” เป็นต้น

จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ล่ามทางการแพทย์จะต้องสื่อความหมายด้วยความระมัดระวัง เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการ และอยู่กันในสังคมด้วยความเข้าใจและปลอดภัย โดยจะรอให้ “ด่านหน้า” ซึ่งได้แก่ แพทย์และพยาบาล ซึ่งต้องปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้ป่วยเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว มาคอยตอบคำถามเฉพาะรายโดยละเอียดคงไม่ได้

แม้สถานการณ์ COVID-19 ในปัจจุบันจะบรรเทาเบาบางและผู้คนส่วนใหญ่เริ่มกลับไปใช้ชีวิตวิถีใหม่กันแล้ว แต่มหาวิทยาลัยมหิดลก็ยังคงพร้อมทำหน้าที่ศึกษาบทบาทของล่ามทางการแพทย์ และแนวทางการส่งเสริมการใช้ล่ามทางการแพทย์ เพื่อให้ล่ามทำหน้าที่ “หมอภาษาและวัฒนธรรม” ต่อไป

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th

……………………………………….

สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิงก์ https://shorturl.asia/0zJwQ – Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354