4 นวัตกรรมเด่น ผลงานวิทยาลัยอาชีวศึกษาปัตตานี

วิทยาลัยอาชีวศึกษาปัตตานี สังกัดสถาบันการอาชีวศึกษาภาคใต้ 3 เปิดให้บริการความรู้แก่นักเรียน นักศึกษา ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และระดับปริญญาตรี (ทล.บ.) มาอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบัน วิทยาลัยอาชีวศึกษาปัตตานี อยู่ภายใต้การบริหารงานของ คุณวิทยา ตั่นยืนยง ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาปัตตานี เดินหน้าจัดการศึกษาและฝึกอบรมวิชาชีพให้มีคุณภาพมาตรฐาน สนองความต้องการของชุมชนและตลาดแรงงาน สร้างเครือข่ายความร่วมมือ ผลิตกำลังคน กับสถานประกอบการ องค์กรวิชาชีพ ทั้งภาครัฐและเอกชน สร้างผู้ประกอบการใหม่ให้สามารถพึ่งตนเองได้อย่างมีคุณภาพ ส่งเสริมการวิจัย สร้างนวัตกรรม พัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อการประกอบอาชีพ โดยผลิตกำลังคนด้านวิชาชีพสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ทีมนักศึกษาเจ้าของผลงาน “ตูเลแป้งข้าวมะจานูพร้อมไก่กอและสเปรด” 

โลชั่นบำรุงผิว สูตรน้ำมันเมล็ดยางพารา

ในยุคโควิด 2019 หลายคนมีปัญหาสภาพผิว โดยเฉพาะผิวบริเวณมือที่เกิดการแห้งกร้านเนื่องจากล้างมือบ่อยและใช้แอลกอฮอล์เจลหลายๆ ครั้งใน 1 วัน ทำให้มือเป็นขุยแห้งและขาดความชุ่มชื้น วิทยาลัยอาชีวศึกษาปัตตานีจึงได้นำเมล็ดยางพาราซึ่งเป็นวัตถุดิบเหลือทิ้งในท้องถิ่นมาสร้างมูลค่าเพิ่ม ในรูปแบบ “ครีมบำรุงผิวมือจากน้ำมันเมล็ดยางพารา” ในรูปแบบเจลเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น โดยใช้กรรมวิธีการสกัดที่ไม่ทำลายสารสำคัญ

น้ำมันเมล็ดยางพารามีกรดไขมันที่เป็นประโยชน์ สามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง คือ linoleic, linolenic และ oleic acid ในปริมาณสูง กรดไขมันทั้งสองชนิดนี้ มีคุณสมบัติช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิว ต่อต้านการอักเสบ นอกจากนี้ มีการวิเคราะห์คุณสมบัติทางเคมีและทางกายภาพของน้ำมันเมล็ดยางพาราพบว่า น้ำมันเมล็ดยางพารามีค่า saponification value อยู่ที่ประมาณ 180-190 mgKOH/g ใกล้เคียงกับค่าของน้ำมันพืชโดยทั่วไป แสดงให้เห็นว่าน้ำมันเมล็ดยางพารามีคุณสมบัติเหมาะสมที่สามารถพัฒนาเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสบู่และแชมพูต่อไปได้

ผลงาน “ตูเลแป้งข้าวมะจานูพร้อมไก่กอและสเปรด”

ผู้วิจัยยังศึกษาฤทธิ์ในการต่อต้านอนุมูลอิสระของน้ำมันเมล็ดยางพาราพบว่า มีค่าอยู่ในระดับที่ดีเมื่อเทียบกับ standard รวมถึงทดสอบความเป็นพิษของน้ำมันเมล็ดยางพาราต่อเซลล์ human dermal skin fibroblast พบว่า มีความปลอดภัยต่อเซลล์ดังกล่าว ทำให้สามารถนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางได้ จึงเป็นที่มาของโครงการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ครีมบำรุงผิวมือจากน้ำมันเมล็ดยางพารา โดยใช้กระบวนการออกแบบเชิงวิศวกรรมตามแนวคิดสะเต็มศึกษา ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาผิวมือได้และยังสามารถต่อยอดขยายผลในเชิงพาณิชย์สู่อุตสาหกรรมเครื่องสำอางที่มีมูลค่าได้

เมื่อต้องการใช้งาน แค่หยดครีมลงบนฝ่ามือและนวดครีมให้ทั่วผิวมือ จะช่วยทำให้ผิวมือสดใสและชุ่มชื้น วิธีเก็บรักษา แค่หลีกเลี่ยงการเก็บในที่ร้อน ชื้น หรือใกล้บริเวณสารเคมี ครีมบำรุงผิวมือจากน้ำมันเมล็ดยางพารา R-PARA ขนาด 50 กรัม จำหน่ายในราคา 59 บาท ผู้สนใจสามารถสั่งซื้อได้ที่เบอร์โทร. 087-295-9644

ครีมบำรุงผิวมือจากน้ำมันเมล็ดยางพารา

น้ำพริกลูกหยีแห้ง

วิทยาลัยอาชีวศึกษาปัตตานี ได้พัฒนาสูตรจากน้ำพริกแห้ง ด้วยการนำ “ลูกหยี” ซึ่งเป็นวัตถุดิบท้องถิ่นประจำจังหวัดปัตตานี โดดเด่นในเรื่องคุณภาพและรสชาติแบบไทยแท้ ผ่านการพัฒนากระบวนการผลิตและยกระดับคุณภาพด้านผลิตภัณฑ์ ทำให้น้ำพริกลูกหยีแห้งสามารถคงรสชาติที่ได้มาตรฐาน ดีต่อสุขภาพได้นานถึง 2 เดือน ที่อุณหภูมิปกติ ปราศจากการใช้วัตถุกันเสียหรือสารปรุงแต่งกลิ่นรส และมีการพัฒนาด้านบรรจุภัณฑ์ เน้นรูปแบบที่สะดวกต่อการพกพา เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

น้ำพริกลูกหยีแห้ง ประกอบด้วย ปลาคั่ว 38% กระเทียม 11% หอมแดง 11% ลูกหยี 1.5% น้ำปลา 11% น้ำตาลทราย 8% น้ำตาลปี๊บ 5% พริกขี้หนูแห้ง 3% ตะไคร้ 1% เกลือ 0.5% น้ำพริกลูกหยีแห้ง ตราครัวอาชีวะ อร่อย ถูกปาก จนต้องบอกต่อ วิธีรับประทานให้อร่อย เพียงแค่นำน้ำพริกลูกหยีแห้งคลุกกับข้าวสวย ข้าวเหนียว ซูชิ/ข้าวปั้น จิ้มผักสด ผักลวกต่างๆ หลังเปิดบริโภคแล้ว ควรปิดฝาให้สนิทเก็บไว้ในตู้เย็น และควรบริโภคให้หมดภายใน 60 วัน สินค้ามีจำหน่าย 2 รูปแบบ คือ รสเผ็ดมาก และรสเผ็ดน้อย ขายในราคา กล่องละ 45 บาท

น้ำพริกลูกหยีแห้ง อร่อย ถูกปาก

โรตีกรอบ อร่อย

อีกหนึ่งสินค้าขายดีของวิทยาลัยอาชีวศึกษาปัตตานี คือ โรตีกรอบ ตราครัวอาชีวะ ซึ่งพัฒนาสูตรจากโรตีจานา ซึ่งเป็นอาหารว่างท้องถิ่นประจำจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านการพัฒนากระบวนการผลิตและยกระดับคุณภาพด้านผลิตภัณฑ์ ทำให้โรตีกรอบสามารถคงความกรอบได้นานถึง 2 เดือน ที่อุณหภูมิปกติ ไม่อมน้ำมัน ปราศจากการใช้วัตถุกันเสียหรือสารปรุงแต่งกลิ่นรส และมีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง

ทีมนักศึกษากับผลงานน้ำพริกลูกหยีแห้ง

แป้งข้าวมะจานูพร้อมไก่กอและสเปรด

จังหวัดปัตตานีมีข้าวพันธุ์พื้นเมืองคือ “มะจานู” ปลูกกันมากในพื้นที่อําเภอมายอและอำเภอไม้แก่น ข้าวพันธุ์นี้มีลักษณะเด่นคือมีปริมาณอะมิโลสที่สูง ทำให้ข้าวดูดน้ำได้น้อย เมื่อหุงสุกจะได้ข้าวสุกที่ค่อนข้างแข็งและร่วน ความนิยมบริโภคของคนในพื้นที่จึงค่อนข้างน้อย ส่วน “ไก่กอและ” หรือ “ฆอและ” เป็นอาหารพื้นเมืองของชาวไทยมุสลิมที่ได้รับความนิยมบริโภคสูง ผลิตจากเนื้อไก่ กะทิ เครื่องแกง และเครื่องปรุงรสต่างๆ ปัจจุบันพบว่า ไก่กอและมียอดขายลดลง เนื่องจากผู้ผลิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและไม่มีการสืบทอดภูมิปัญญา ประกอบกับอายุการเก็บรักษาสั้น

โรตีกรอบ อร่อย เก็บได้นานกว่า 2 เดือน

คณะผู้วิจัย วิทยาลัยอาชีวศึกษาปัตตานี จึงมีแนวคิดนำวัตถุดิบข้าวพันธุ์พื้นเมือง ผสมผสานกับภูมิปัญญาการทำไก่กอและ ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีใหม่ โดยนำข้าวมะจานูมาผ่านกระบวนการแปรรูปปรับคุณภาพของข้าว เกิดกระบวนการดัดแปรทางกายภาพ ได้เป็นแป้งข้าวมะจานูที่มีค่า GI ลดลง โดยนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ 2 ชนิด คือ ผลิตภัณฑ์ตูเล หรือคุกกี้ มีลักษณะเป็นแผ่นบาง กรอบ และนำไปพัฒนาให้เป็นแป้งพรีเจลาติไนซ์ เพื่อให้มีคุณสมบัติเป็นสารทดแทนไขมันได้ (Fat replacer) ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไก่กอและสเปรด

ผลิตภัณฑ์ตูเลแป้งข้าวมะจานูพร้อมไก่กอและสเปรดที่พัฒนาขึ้นนี้ สามารถนำไปใช้ประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงพาณิชย์ให้กับผลผลิตในชุมชนท้องถิ่น ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในสังคมให้ดีขึ้น ผลงานชิ้นนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศ สุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษา ระดับชาติ ประจำปีการศึกษา 2564 ประเภทที่ 3 สิ่งประดิษฐ์ด้านผลิตภัณฑ์อาหารไทย

โรตีกรอบ ตราครัวอาชีวะ มีหลากหลายรสชาติ

เนื่องจากนวัตกรรมชิ้นนี้มีจุดเด่นสำคัญคือ ผลิตภัณฑ์ตูเลแป้งข้าวมะจานู โดยการนำแป้งข้าวมะจานูดัชนีน้ำตาลลดลงทดแทนแป้งสาลี (Gluten substitutes) จนเป็นผลิตภัณฑ์ตูเลที่มีปริมาณกลูเตนลดลง สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับผลิตภัณฑ์จากข้าว เผยแพร่แนวทางการใช้ประโยชน์จากข้าวที่เป็นพืชพื้นเมืองของจังหวัดปัตตานี

ส่วนผลิตภัณฑ์ไก่กอและสเปรด ที่นำแป้งพรีเจลาติไนซ์จากแป้งข้าวมะจานูดัชนีน้ำตาลลดลงทดแทนการใช้เนยสด (Fat replacer) จนเป็นผลิตภัณฑ์สเปรดที่มีไขมันต่ำ เป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับผลิตภัณฑ์จากไก่กอและ เผยแพร่แนวทางการบริโภคด้วยการประยุกต์เป็นผลิตภัณฑ์อาหารสากล ผลงานชิ้นนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์การต่อยอดธุรกิจ โดยการจัดทำแผนธุรกิจที่มีจุดแข็ง เป็นนวัตกรรมอาหารท้องถิ่นในรูปแบบฟิวชั่น

คุณวิทยา ตั่นยืนยง ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาปัตตานี

หากใครสนใจอยากลิ้มลองความอร่อยของผลิตภัณฑ์อาหาร ตราครัวอาชีวะ ของวิทยาลัยอาชีวศึกษาปัตตานี ติดต่อไปได้ที่ เลขที่ 10 ถนนหนองจิก ตำบลสะบารัง อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี 94000 หรือทาง Facebook : ครัวอาชีวะ วอศ.ปัตตานี เบอร์โทร. 073-333-000 ต่อ 605

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบข่าวจากประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา FB : อาชีวะ Marketplace และ FB : วิทยาลัยอาชีวศึกษาปัตตานี