“รู้ทันไข้หวัดนก บริโภคเนื้อไก่ไร้กังวล”

หลายครั้งเรามักได้ยินข่าวโรคไข้หวัดนกระบาดในหลายประเทศ ทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา แต่สำหรับประเทศไทยทั้งกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศอย่างเป็นทางการว่าประเทศไทยปลอดโรคไข้หวัดนกมาตั้งแต่ ปี 2549

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยยังคงติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์โรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ประชาชนมั่นใจเรื่องความปลอดภัยทั้งด้านสุขภาพและอาหาร

ไข้หวัดนกมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Avian influenza จัดอยู่ในบัญชีหมายเลข 1 ขององค์การโรคระบาดสัตว์นานาชาติ (OIE) ไข้หวัดนกมักมีการระบาดในช่วงฤดูหนาว เนื่องจากมีสภาพแวดล้อมเหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อไวรัส

ยิ่งในปัจจุบันสภาพอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงบ่อย เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว เดี๋ยวฝน เป็นผลทำให้สัตว์ปีกเกิดความเครียด ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำ อ่อนแอ และง่ายต่อการติดเชื้อ จึงอาจเป็นสาเหตุทำให้โรคไข้หวัดนกสามารถแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว แต่ในเรื่องนี้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยไม่ได้นิ่งนอนใจ และมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง

ท่านทราบหรือไม่ว่า โรคไข้หวัดนกเป็นโรคระบาดที่ยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันโรค แต่มีมาตรการการป้องกันและเฝ้าระวังไข้หวัดนก โดยเริ่มต้นตั้งแต่ในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกที่มีระบบการป้องกันโรคที่ดี (Biosecurity) การส่งเสริมให้ผู้เลี้ยงไก่พัฒนาเข้าสู่ระบบมาตรฐานฟาร์ม (Good Agricultural Practice : GAP) มีมาตรฐานต่างๆ (Good  Manufacturing Practice) เข้าควบคุมในโรงฆ่าไก่ โรคตัดแต่งไก่ และทุกขั้นตอนการผลิตของสินค้า

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันและเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดที่จะเกิดขึ้น ผลิตภัณฑ์จากเนื้อไก่ของผู้ผลิตรายใหญ่ ซึ่งผ่านกระบวนการผลิตที่มีมาตรฐานรองรับตลาดห่วงโซ่ มาจากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่า สามารถรับประทานผลิตภัณฑ์จากเนื้อไก่ที่ปลอดภัยไร้กังวลได้ เราในฐานะที่เป็นผู้บริโภคควรมีวิธีรับมือป้องกันเช่นกัน เช่น

  1. 1. ควรเลือกซื้อเนื้อไก่หรือไข่จากแหล่งที่น่าเชื่อถือ สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาได้
  2. ควรบริโภคเนื้อไก่และไข่ที่ผ่านการปรุงสุกเสมอ เพื่อให้ความร้อนได้ทำลายเชื้อโรคเหล่านั้น
  3. หมั่นล้างมือเป็นประจำเพื่อฆ่าเชื้อโรค และสามารถป้องกันการติดเชื้อได้
  4. ดูแลสุขภาพร่างกายของตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ
  5. ไม่ควรนำสัตว์ปีกที่ป่วยตายมาบริโภคเด็ดขาด ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาตรวจสอบ
  6. เฝ้าระวังการระบาดโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกที่เลี้ยงอยู่ตามบ้านเรือน
  7. ไม่ควรสัมผัสสัตว์ป่วยหรือตายด้วยมือเปล่า ควรสวมถุงมือแทน
  8. หากพบว่าตัวเองมีไข้สูง และเคยสัมผัสสัตว์ปีกมา ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเราจะอยู่ในสถานการณ์ที่มีโรคไข้หวักนกแพร่ระบาดหรือไม่ก็ตาม เราสามารถป้องกันและลดความเสี่ยงได้โดยการปฏิบัติตามคำแนะนำที่กล่าวไว้ข้างต้น ติดตามรับฟังข่าวการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกอย่างใกล้ชิด หีกเลี่ยงการเดินทางเข้าในพื้นที่นั้นๆ เพียงเท่านี้โรคไข้หวัดนกก็ไม่สามารถเข้ามาทำอันตรายเราได้

 

ขอบคุณข้อมูลจาก ผศ.ดร. ศศิธร นาคทอง

ห้องปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาผลิตผลจากสัตว์

ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม

www.cpfworldwide.com