“สวนตาลณรงค์” ตาลโตนดแท้ แห่งเมืองเพชรบุรี

ต้นตาล หรือ ตาลโตนด หรือ โหนด ในภาษาใต้ เป็นพันธุ์ไม้ปาล์มขนาดใหญ่ สกุล Borassus ในวงศ์ปาล์ม Arecaceae เป็นปาล์มที่แข็งแรงมากชนิดหนึ่ง และเป็นปาล์มที่แยกเพศกันอยู่คนละต้น มีความสูงถึง 40 เมตร และโตวัดผ่ากลางประมาณ 60 เซนติเมตร

คุณณรงค์ ภู่เงิน เจ้าของ “สวนตาลณรงค์”

ลักษณะลำต้น จะเป็นเสี้ยนสีดำแข็งมากแต่ไส้กลางลำต้นอ่อน บริเวณโคนต้นจะมีรากเป็นกลุ่มใหญ่ ใบเหมือนพัดขนาดใหญ่ กว้าง 1-1.5 เมตร มีก้านเป็นทางยาว 1-2 เมตร ขอบของทางของก้านทั้งสองข้างมีหนามเหมือนฟันเลื่อยสีดำแข็งๆ และคมมาก โคนก้านแยกออกจากกันคล้ายคีมเหล็กโอบหุ้มลำต้นไว้

น้ำตาลปึกแท้จากสวน

ช่อดอกเพศผู้ ใหญ่ รวมกันเป็นกลุ่มคล้ายนิ้วมือ เรียกว่านิ้วตาล แต่ละนิ้วยาวประมาณ 40 เซนติเมตร และโตวัดผ่ากลางประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร โคนกลุ่มช่อจะมีก้าน ช่อรวมและมีกาบแข็งๆ หลายกาบหุ้มโคนก้านช่ออีกทีหนึ่ง ช่อดอกเพศเมียก็คล้ายๆ กัน แต่นิ้วจะเป็นปุ่มปม ปุ่มปมคือดอกที่ติดนิ้วตาล ดอกหนึ่งๆ โตวัดผ่ากลางประมาณ 2 เซนติเมตร และมีกาบแข็งๆ หุ้ม แต่ละดอก กาบนี้จะเติบโตไปเป็นหัวจุกลูกตาลอีกทีหนึ่ง ผลกลมหรือรูปทรงกระบอกสั้นๆ โตวัดผ่ากลางประมาณ 15 เซนติเมตร ผลเป็นเส้นใยแข็งเป็นมัน มักมีสีเหลืองแกมดำคล้ำเป็นมันหุ้มห่อเนื้อเยื่อสีเหลืองไว้ภายใน ผลหนึ่งๆ จะมีเมล็ดใหญ่แข็ง 1-3 เมล็ด

น้ำตาลสดแท้จากสวน

คุณณรงค์ ภู่เงิน อดีตข้าราชการทหารและเจ้าของ “สวนตาลณรงค์” ในพื้นที่ตำบลไร่มะขาม อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี แหล่งเรียนรู้ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับตาลโตนดแท้ 100% จากประสบการณ์ที่คร่ำหวอดในวงการการปลูกต้นตาลมานานกว่า 21 ปี แต่กว่าจะประสบความสำเร็จจนถึงวันนี้ได้ ต้องผ่านการลองผิดลองถูกอยู่หลายครั้ง ทั้งการปลูกกล้วยหอม มะม่วง จนมาถึงการปลูกต้นตาลในปัจจุบัน

ลูกตาลสดจากสวน

ด้านจุดเริ่มต้น คุณณรงค์ เล่าว่า เดิมทีที่บ้านมีอาชีพทำนาและขึ้นตาลอยู่แล้ว ก่อนจะปลูกตาลนั้น ทดลองปลูกพืชมาหลายชนิด เริ่มจากกล้วยหอมและมะม่วง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จตามที่คาดหวัง เพราะด้วยพื้นที่บริเวณที่ปลูกเป็นดินด่างและเค็ม ก่อนจะได้รับคำแนะนำจากทางคุณพ่อว่าให้ลองปลูกต้นตาล

น้ำตาลไซรัปลักษณะเดียวกับน้ำผึ้ง

“เราปลูกต้นตาลมา 21 ปี ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 2545 ที่บ้านมีที่อยู่แล้ว เป็นที่นา พื้นที่ที่เราปลูกตาลค่อนข้างที่จะเป็นด่าง เค็มนิดๆ ตอนแรกจะมีต้นไม้ที่ขึ้นสำหรับดินเค็ม ทางเพชรบุรี จะเป็นต้นหนามลอกข้อ เพราะต้นไม้ประเภทนี้เวลาขึ้น จะชอบขึ้นในดินเค็ม ต้นแฝกอีกอย่างหนึ่ง ครั้งแรกเราเริ่มปลูกกล้วยหอมก่อน แต่ก็ไม่ได้ผล เพราะอย่างที่บอกว่าเป็นดินที่ค่อนข้างจะเค็ม แล้วก็เปลี่ยนมาปลูกเป็นมะม่วงในพื้นที่ 5 ไร่ ปลูกอยู่ประมาณเกือบ 10 ปี ทำตามหลักวิชาการทั้งใส่ปุ๋ย ตัดแต่งใบแล้วก็จะบันทึกรายได้ของการทำมะม่วง ปรากฏว่าไม่ได้ผลเท่าที่ควร ก็เลยเปลี่ยนและหาว่าจะปลูกพืชอะไรที่มันยั่งยืน รวมถึงที่บ้านมีอาชีพทำนาและขึ้นตาลอยู่แล้ว ก็เลยได้คำแนะนำว่าน่าจะปลูกต้นตาลครับ จึงนำตาลมาลงปลูกแซมในป่ามะม่วง ซึ่งช่วงระยะเวลา 3-4 ปี ต้นตาลจะยังไม่ใหญ่ ลำต้นขนาดเท่าขวดน้ำอัดลม ความสูงประมาณ 1 เมตร สำหรับอายุของต้นตาลบางตำราบอกว่ามีอายุถึง 400 ปี”

การปลูกดูแลรักษาต้นตาลนั้น ไม่ได้ยากอย่างที่คิด มีวิธีการปลูกที่ง่าย ไม่ต้องการดูแลมาก โดยมีข้อดี 3 ข้อ ดังนี้

  1. น้ำท่วมไม่ตาย
  2. ไม่ต้องใส่ปุ๋ย
  3. ไม่ใช้สารเคมี

“ข้อดีของต้นตาลจะมีอยู่ 3 อย่าง คือ หนึ่งน้ำท่วม แช่น้ำไม่ตาย สองไม่ต้องใส่ปุ๋ย หรือจะใส่ก็ได้ ถ้าใส่ก็จะเป็นปุ๋ยคอก ปุ๋ยขี้วัว ขี้ไก่ครับ และสามไม่ต้องใช้ยาและสารเคมี ปลูกในสภาพพื้นที่ดินค่อนข้างเป็นด่าง เพราะเขาไม่ชอบดินเปรี้ยวหรือดินที่เป็นกรด ถามว่าดินด่างเราดูอย่างไร เราดูในพื้นที่ใกล้ๆ พื้นที่ก็ชะอำ หรือแหลมพรมเทพ ภูเก็ต ก็จะมีต้นตาลเป็นสัญลักษณ์ เพราะฉะนั้นพื้นที่พวกนี้จึงเป็นทะเล”

ขั้นตอนการแปรรูปตาลเพื่อทำน้ำตาลสดนั้น ใช้ระยะเวลาค่อนข้างนานหลายวัน เพราะด้วยขั้นตอนต่างๆ ระยะเวลา ความประณีตต่างๆ นั่นเอง

ด้านขั้นตอนการทำน้ำตาลสดและน้ำตาลปึกนั้น ทำมาจากปลีตาลตัวผู้ สามารถทำได้โดยการนวดให้เนื้อเยื่อมีบาดแผลและเกิดความช้ำ เนื้อเยื่อตาลที่ช้ำจะทำหน้าที่จ่ายน้ำตาลมาที่ปลายงวงของตาล โดยใช้ไม้ทาบสอดเข้าไปที่โคนงวงตาล จากนั้นกดให้ตึง ทำทีละครึ่งจนสุดนิ้วตาล ทำไปเรื่อยๆ ในลักษณะเดียวกันจนครบ ซึ่งใช้ระยะเวลาการนวดอยู่ที่ 3-4 วัน จากนั้นนำเชือกมามัดงวงตาลให้รวมกัน เพื่อจะสวมลงกระบอก แช่น้ำอีกประมาณ 3 วัน เมื่อครบ 3 วัน จึงนำออก ใช้มีดตาลปาดปลายนิ้วตาล ปล่อยให้น้ำตาลไหลลงกระบอกอีก 2 วัน

จากนั้นนำน้ำตาลสดที่ได้ไปผ่านการกรองและผ่านความร้อน เมื่อได้น้ำตาลสดมาแล้ว จะนำลงเทใส่ผ้าขาวบาง เพื่อกรองสิ่งสกปรกต่างๆ ออกจากน้ำตาลสดที่ได้ใส่ลงในกระทะ จากนั้นจะทำการต้มหรือเคี่ยวในกระทะเป็นเวลา 15-20 นาทีโดยประมาณ เพียงเท่านี้ก็จะได้น้ำตาลสดพร้อมดื่ม รสชาติดี แต่หากต้มไปอีกประมาณ 1-2 ชั่วโมง น้ำตาลสดก็จะเริ่มเหนียว หนืด จนกลายเป็นน้ำตาลปึกหรือน้ำตาลโตนดที่เราคุ้นเคยกันนั่นเอง

ผลตอบรับจากลูกค้า ต้องยอมรับว่าได้รับความสนใจจากลูกค้าทั้งขาจรและขาประจำ มีทั้งสั่งทางช่องทางออนไลน์ และเดินทางมายังภายในสวน เพราะหากมาในสวนช่วง 07.00 -11.00 น. จะได้ชมการสาธิตทำน้ำตาลโตนดแบบสดๆ ที่ในปัจจุบันหาดูได้ค่อนข้างยากอีกด้วย

สำหรับท่านใดที่สนใจเกี่ยวกับ “ตาล” สามารถติดต่อ คุณณรงค์ ภู่เงิน เจ้าของ “สวนตาลณรงค์” ในพื้นที่ตำบลไร่มะขาม อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี หรือทางเพจเฟซบุ๊ก  “สวนตาลณรงค์”  หรือทางเบอร์โทรศัพท์ 081-856-9672