เครือข่ายปาล์มน้ำมันยั่งยืนแชร์ไอเดียยกระดับธุรกิจน้ำมันปาล์มสู่ตลาดโลก

กรุงเทพ 29 มิถุนายน 2566:  องค์กรเจรจาระหว่างประเทศว่าด้วยปาล์มน้ำมัน (RSPO) ร่วมกับ เครือข่ายปาล์มน้ำมันยั่งยืนประเทศไทย ( TSPOA) จัดเสวนาปาล์มน้ำมันยั่งยืนประเทศไทย ณ โรงแรมพูลแมน บางกอก จี ภายในงานมีกลุ่มผู้ประกอบการ ตัวแทนเกษตรกรและนักวิชาการเข้าร่วมแสดงความมุ่งมั่นเพื่อยกระดับระดับอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันไทยและการผลักดันตลาดปาล์มน้ำยั่งยืนในเวทีโลกมากกว่า 100 คน

ภาคเช้าเป็นกิจกรรมเวทีเสวนาในหัวข้อ “การยกระดับ – รับมือ ต่อตลาดโลก ของผู้นำธุรกิจน้ำมันปาล์มยั่งยืนของไทย”  ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย คุณกฤษฎา ประเสริฐสุขโข กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน)  คุณอรพรรณ มั่งมีศรี ผู้อำนวยการสำนักระบบมาตรฐานสากล บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) คุณศาณินทร์ ตริยานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท น้ำมันพืชปทุม จำกัด คุณชุติมา พรรณธา ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อจัดจ้าง บริษัท ไทย กูลิโกะ และคุณนันทินี รายละเอียด ผู้สื่อข่าวสายเศรษฐกิจ สถานีโทรทัศน์ Thai PBS ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการเวทีเสวนา

คุณกฤษฎา ประเสริฐสุขโข กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน)หรือ GGC  ซึ่งเป็นผู้ผลิตไบโอดีเซล และ โอลีโอเคมี ในประเทศไทย กล่าวว่า  บริษัทมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้เกษตรกรไทยปลูกปาล์มอย่างยั่งยืน ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมการสร้างบรรทัดฐานการปลูกปาล์มในประเทศไทยทั้งระบบและยกระดับมาตรฐานปาล์มไทยสู่เวทีสากล  ทั้งนี้ มองว่า การผลิตน้ำมันปาล์มที่ยั่งยืน (RSPO) ยังมีโอกาสเติบโตได้ต่อเนื่องในอนาคต เพราะสินค้าเป็นที่ต้องการทั้งตลาดในประเทศและส่งออก รวมทั้งสามารถพัฒนาในธุรกิจเชื้อเพลิงชีวภาพขั้นสูง คือ น้ำมันอากาศยานชีวภาพ (Biojet fuel) เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในอนาคต

คุณอรพรรณ มั่งมีศรี ผู้อำนวยการสำนักระบบมาตรฐานสากล บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า  ซีพีเอฟตระหนักถึงความสำคัญของกระบวนการผลิตสินค้าที่ยั่งยืน ควบคู่กับการผลิตอาหารที่มีคุณภาพ ขณะเดียวกันซีพีเอฟมีนโยบายปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่า โดยกำหนดเป้าหมายการจัดซื้อวัตถุดิบเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตอาหารสัตว์รวมทั้งโรงงานอาหารแปรรูป เพื่อผลิตอาหารที่มีคุณภาพสูง ได้มาตรฐานสูง ควบคู่กับการมีส่วนร่วมสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม

ซีพีเอฟมีนโยบายจัดซื้อวัตถุดิบประเภท ข้าวโพด ปลาป่น น้ำมันปาล์ม ถั่วเหลือง และมันสำปะหลัง ต้องมาจากแหล่งผลิตที่ปราศจากการตัดไม้ทำลายป่า และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้100%  ภายในปี 2573  สำหรับ การจัดหาน้ำมันปาล์มในปี 2565  ที่ผ่านมา ซีพีเอฟสามารถจัดหาน้ำมันปาล์มที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้อย่างเป็นระบบ และผ่านการรับรองมาตรฐานการผลิตน้ำมันปาล์มที่ยั่งยืน (RSPO) ร้อยละ 79 เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหารประเภทอาหารทอด ป้อนตลาดส่งออก ในกลุ่มประเทศอียูและสหรัฐอเมริกา ส่วนน้ำมันปาล์มที่ผ่านการใช้แล้วในโรงงานอาหารแปรรูป ถูกนำมาใช้ในโครงการผลิตไบโอดีเซล สำหรับใช้กับพาหนะในโรงงาน ลดปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลของโรงงานแปรรูป และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่บรรยากาศ

คุณชุติมา พรรณธา ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อจัดจ้าง บริษัท ไทย กูลิโกะ กล่าวว่า บริษัท กูลิโกะ ถือกำเนิดในประเทศญี่ปุ่น เมื่อ 101 ปีที่แล้ว จากแนวคิดเรื่อง “ขนมเสริมสุขภาพ” ที่จะช่วย “พัฒนาสมรรถภาพทางกายของผู้คนด้วยผลิตภัณฑ์อาหาร” โดยกูลิโกะตั้งใจที่จะผลิตขนมหรืออาหารที่อร่อยแต่ยังคงไว้ซึ่งคุณประโยชน์ที่ดีต่อสุขภาพ  บริษัทได้ขยายกิจการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเมื่อ 52 ปีที่แล้ว ปัจจุบัน สินค้าหลักในขณะนี้ ได้แก่ กลุ่มขนม ไอศกรีม และสินค้าใหม่คือ นมอัลมอนด์  อร่อย ดื่มง่าย มีประโยชน์ต่อสุขภาพ

บริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะผลิตสินค้าโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นสำคัญให้สมกับที่ผู้บริโภคได้มอบความไว้วางใจให้กับบริษัทเสมอมา  ควบคู่กับการมีส่วนร่วมสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยใช้น้ำมันปาล์มที่ผ่านการรับรองมาตรฐานการผลิตน้ำมันปาล์มที่ยั่งยืน (RSPO) ในการผลิตขนมโกลิโกะ พร้อมตีตราสัญญลักษณ์ RSPO บนกล่องบรรจุภัณฑ์ ส่งขายในประเทศและต่างประเทศตั้งแต่ปี 2021

คุณศาณินทร์ ตริยานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท น้ำมันพืชปทุม จำกัด กล่าวว่า น้ำมันปาล์มเป็นวัตถุดิบขั้นต้นของอุตสาหกรรมต่อเนื่องมากมาย สินค้าของเราเป็นที่ต้องการทั้งในประเทศและส่งออก  ลูกค้าต่างประเทศบอกผมว่า เขาเชื่อมั่น การผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน (RSPO) ของไทย เพราะสวนปาล์มน้ำมันส่วนใหญ่ผลิตโดยเกษตรกรรายย่อย และไทยไม่มีพื้นที่ป่าให้บุกรุกทำลาย การขับเคลื่อนการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน (RSPO) ของไทยสู่เวทีตลาดโลก ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยเริ่มต้นจากการสร้างภาพลักษณ์สินค้าน้ำมันปาล์ม RSPO ให้เป็นที่รู้จักและรับรู้ในเวทีตลาดโลกในวงกว้างมากขึ้น

เกี่ยวกับเครีอข่ายปาล์มน้ำมันยั่งยืนประเทศไทย

เครือข่ายปาล์มน้ำมันยั่งยืนประเทศไทย ( Thailand Alliance for Sustainable Palm Oil : TASPO) ก่อตั้งเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2565 โดยเกิดจากการรวมตัวของ 5 องค์กรภาคีหลัก ที่เป็นผู้แทนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการผลิตและการใช้ประโยชน์ปาล์มน้ำมันของประเทศ ประกอบด้วย สภาเกษตรกรแห่งชาติ สมาคมโรงสกัดน้ำมันปาล์ม สมาคมโรงกลั่นน้ำมันปาล์ม สมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซล และสมาคมการค้าผู้ผลิตโอลิโอเคมี โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กรเจรจาระหว่างประเทศว่าด้วยน้ำมันยั่งยืน (Roundtable on Sustainable Palm Oil : RSPO) และ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย

เครือข่ายปาล์มน้ำมันยั่งยืนประเทศไทย มีเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคีผู้เกี่ยวข้องในระบบห่วงโซ่การผลิตปาล์มน้ำมัน ร่วมกันผนึกกำลังทุนหรือวามร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพและความเข้มแข็งของสมาชิกและเครือข่ายในการผลิตและใช้ประโยชน์ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มด้านการค้าและบริโภคที่ยั่งยืน เพื่อยืนยันว่า อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันไทยพร้อมก้าวเข้าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน SDG และโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของประเทศและตามกระแสโลก ตลอดจนเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม สร้างความสมดุลของระบบนิเวศและการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยมีทิศทางการดำเนินงาน ดังนี้

วิสัยทัศน์ : ส่งเสริมการผลิตและการใช้ประโยชน์ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มตลอดห่วงโช้อุปทานอย่างยั่งยืนตามมาตรฐานสากล

เป้าหมาย :  ยกระดับสู่มาตรฐานการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนให้เกิดความสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

พันธกิจ : ส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตและการใช้ประโยชน์ปาล์มน้ำมันที่ยั่งยืนในระบบ เพิ่มนวัตกรรมคุณค่า ขยายความร่วมมือให้เกิดเป็นวิถีของความยั่งยืน

วัตถุประสงค์ :

1)เพื่อส่งเสริม สนับสนุนการผลิตและการใช้ประโยชน์จากปาลัมน้ำมันที่ได้รับมาตรฐานการผลิตที่ยั่งยืนสร้างความสมดุลและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

2)เพื่อพัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรสมาชิกในการผลิตและใช้ประโยชน์ปาล์มน้ำมันที่ยั่งยืน

3) เพื่อเผยแพร่ ข้อมูล และองค์ความรู้ สร้างการรับรู้และความตระหนักในการผลิตและใช้ประโยชน์ปาล์มน้ำมันที่ยั่งยืน

4) เพื่อพัฒนาความร่วมมือและบทบาทการทำงานระหว่างภาคส่วนต่างๆ  ในการผลักดันนโยบายและกำหนดมาตรฐานการใช้ประโยชน์ปาล์มน้ำมันที่ยั่งยืนของประเทศไทยสู่สากล

5) เพื่อสนับสนุนการก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม นำไปสู่การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net Zero) จากกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่

เกี่ยวกับ RSPO

องค์กรเจรจาระหว่างประเทศด้านปาล์มน้ำมันยั่งยืน ( The Roundtable on Sustainable Palm Oil :  RSPO) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2547 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการปลูกและการใช้ผลิตภัณฑ์ปาล์มน้ำมันยั่งยืนที่ได้รับมาตรฐานสากลที่น่าเชื่อถือ ตลอดจนส่งเสริมการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน RSPO เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ไม่แสวงหาผลกำไร มีโครงสร้างสมาชิกที่ประกอบด้วยหลายส่วนในอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มน้ำมันอาทิ ผู้ผลิตปาล์มน้ำมัน ผู้แปรรูปหรือผู้ค้าน้ำมันปาล์ม ผู้ผลิตแปรรูปสินค้าอุปโภคบริโภค ผู้ค้าปลีก ธนาคารและนักลงทุน องค์กรพัฒนา เอกชนด้านสิ่งแวดล้อม หรือด้านสังคม หรือด้านการพัฒนา ตัวแทนจากหลายภาคส่วนนี้จะเป็นกระจกสะท้อนในโครงการสร้างบริหารของ RSPO เช่น ตัวแทนในคณะกรรมการ บริหารใหญ่คณะกรรมการบริหารและคณะทำงาน จะมีการคัดสรรจากแต่ละภาคส่วนในรูปแบบเดียวกัน RsPO ยึดหลักปรัชญาของ “โต๊ะกลม” ที่ให้ตัวแทนของแต่ละภาคส่วนมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน โดยเอื้ออำนวยให้ทุกภาคส่วนทำงานร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจที่เป็นฉันทามติและบรรลุวิสัยทัศน์ร่วมกันในการทำให้น้ำมันปาล์มยั่งยืนถือปฎิบัติเป็นบรรทัดฐาน

องค์กรเจรจาระหว่างประเทศด้านปาล์มน้ำมันยั่งยืน ( RSPO ) จดทะเบียนที่เมืองซูริค ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ที่ตั้งองค์กรอยู่ที่สำนักงานเลขานุการ ปัจจุบันอยู่ที่เมืองกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย และมีสำนักงานอยู่ที่จาการ์ต้า (อินโดนีเซีย) ลอนดอน (สหราชอาณาจักร) ซูเทอร์เมร์ (เนเธอแลนด์) และโบโกต้า (โคลัมเบีย )