มาตรฐานข้าวหนึ่งเดียวของโลก

ฉันมีโอกาสได้ทำงานร่วมกับหลายหน่วยงานในการคัดเลือกองค์กรที่ทำงานด้านอาหารทั่วโลก เพื่อคัดเลือกให้ได้รับรางวัล Food Planet Prize

ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้หน่วยงานที่ทำงานด้านอาหารที่เป็นมิตรต่อโลก คือเน้นเรื่องอาหาร ขณะเดียวกัน ก็ต้องปกป้องโลกด้วย ซึ่งก็นับว่าลำบากอยู่ เพราะอาหารก็จำเป็น แต่การผลิตอาหารก็ทำให้โลกร้อนขึ้นทุกวัน

Food Planet Prize เป็นรางวัลที่นับว่าใหญ่ที่สุดในวงการ รางวัลชนะเลิศได้เงินถึง 2 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 60 ล้านบาท มีโครงการต่างๆ ทั่วโลกส่งผลงานของตนเองเข้าชิงรางวัลอย่างจริงจัง

ที่ฉันจะเอามาเล่าคือหนึ่งโครงการที่เฉียดรางวัลชนะเลิศนั้นตั้งอยู่ในประเทศไทย ทำงานเกี่ยวกับข้าว ซึ่งเป็นอาหารหลักของเรา โครงการนี้เข้ารอบสุดท้ายมาแล้วสองปีติดต่อกัน แต่น่าเสียดายที่ไปแพ้ในรอบชนะเลิศ แต่ก็มีรายละเอียดที่เราควรเอามาเล่าสู่กันฟัง ฉันนี่ถ้าไม่ได้ทำงานกับเขาในโครงการนี้ ก็คงไม่รู้ว่าเรามีเรื่องอะไรดีๆ แบบนี้ในบ้านเราด้วย

มันเริ่มต้นจากความจริงที่ว่าข้าวเป็นพืชที่ใช้น้ำมากที่สุด ในขณะที่ประชากรครึ่งหนึ่งของโลกกินข้าวเป็นอาหารหลัก ทำอย่างไรจะมีข้าวเพียงพอแก่คนครึ่งโลกในขณะที่น้ำก็หายากขึ้นทุกวัน?

ฉันได้คุยกับพี่สาวชาวนาที่อุบลราชธานี ชื่อ พี่บรรจง ปานอินทร์ วัย 50 ปีกลางๆ เป็นย่าของหลานน่ารักสองคน มีนาที่ตกทอดมาแต่บรรพบุรุษอยู่สิบกว่าไร่ ขายข้าวได้ปีละห้าหมื่นกว่าบาท ซึ่งนับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับรายได้เฉลี่ยของคนไทยปีละสามแสนบาท พี่บรรจงต้องหางานอื่นประทังร่วมไปด้วย

ทั้งโลกนี้มีชาวนา 144 ล้านคน ช่วยกันผลิตข้าวได้ 729 ล้านตันเพื่อเลี้ยงประชากรเกือบครึ่งโลก ข้อมูลของสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI) บอกว่า ถ้าจะให้พอเพียงต่อการเลี้ยงประชากรโลกที่จะเพิ่มขึ้น ชาวนาจะต้องผลิตข้าวเพิ่มขึ้นอีก 25% หรือไปให้ถึง 1 พันล้านตันให้ได้ภายในปี 2539

มันไม่ง่ายแน่นอน เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้โลกเจอปัญหาขาดแคลนน้ำ แล้วน้ำก็เป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับข้าว และต้องใช้มากเสียด้วย

ข้าวเป็นหนึ่งในพืชที่กระหายน้ำมากที่สุดในโลก ต้องใช้น้ำมากถึง 2,500 ลิตรต่อการผลิตข้าว 1 กิโลกรัม เป็นการใช้น้ำมากกว่าการผลิตข้าวสาลีถึงสองเท่าและมากกว่าข้าวโพดห้าเท่า หนึ่งในสามของชลประทานน้ำจืดของโลกถูกส่งไปเลี้ยงนาข้าว

และน้ำก็น้อยลงเรื่อยๆ อย่างที่พี่บรรจงบอก “ฝนตกน้อยลงเรื่อยๆ เราก็ต้องทำนากันไปทั้งๆ ที่น้ำไม่พอ ไม่งั้นก็ไม่รู้จะทำอะไร” พี่บรรจงบอกด้วยว่าผลผลิตลดลงเรื่อยๆ และบางปีที่แล้งมากๆ ข้าวก็แห้งตายเกือบหมด

จนมีคนมาแนะนำให้รู้จักมาตรฐานการผลิตข้าวแบบยั่งยืน (Sustainable Rice Platform หรือ SRP) ที่เน้นสร้างผลผลิตข้าวที่ยั่งยืน ทนแล้ง คุณภาพสูง และใช้ทรัพยากรน้อยลง มันไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ที่ต้องใช้เงินตรามากมาย แต่เปลี่ยนวิธีทำนา วิธีจัดการในไร่นา ให้เป็นมิตรต่อโลกมากที่สุดและรับผิดชอบต่อโลกมากที่สุด

ฟังดูง่าย แต่จะได้จริงหรือ?

มาฟังเรื่องการสร้างมาตรฐานการผลิตข้าวรายแรกของโลก อย่างที่ฉันบอกไปแล้วว่าอยู่ที่เมืองไทยนี่เอง

สำนักงานเลขาธิการ SRP ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ก่อตั้งเมื่อปี 2554 โดย สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI) และโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) และองค์กรวิจัยและภาคเอกชนกว่า 100 ราย SRP ถูกประกาศเป็นมาตรฐานข้าวฉบับแรกของโลก ซึ่งน่าแปลกเพราะข้าวเป็นอาหารหลักของคนทั้งโลก แต่เพิ่งมีการประกาศมาตรฐาน ในขณะที่กาแฟหรือฝ้าย มีการประกาศมาตรฐานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมาเป็นสิบปีแล้ว

ด๊อกเตอร์วิน เอลอิส (Wyn Ellis) ผู้อำนวยการบริหารของ SRP บอกฉันว่า อาจเพราะกาแฟและฝ้ายมีราคาแพง คนมองเป็นพืชระดับสูง จึงให้ความสนใจมากกว่า “ในทางกลับกัน ข้าวถูกมองว่าเป็นพืชที่ไม่สำคัญ คนกินข้าวคือคนจน คนปลูกข้าวก็จนไม่มีความรู้  ข้าวจึงถูกมองข้ามไปแม้ว่าข้าวจะมีผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนมากกว่า เพราะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า ข้าวสามารถทำร้ายโลกได้ในขณะที่ตัวมันเองก็ตกเป็นเหยื่อของภาวะโลกร้อน”

พื้นที่ปลูกข้าวขนาด 6 ไร่ หากทำนาโดยใช้น้ำท่วมขังและใส่ปุ๋ยเคมีเป็นประจำ จะปล่อยก๊าซมีเทนมากถึง 300 กิโลกรัม

จะแก้ไขได้ ก็ต่อเมื่อห่วงโซ่การผลิตของข้าวต้องได้รับการออกแบบใหม่ตั้งแต่ต้นจนจบ

มาตรฐาน SRP ครอบคลุม 8 ด้าน แบ่งออกเป็น 41 ข้อบ่งชี้ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการปลูกและเก็บเกี่ยวข้าวอย่างยั่งยืน เกษตรกรจะได้รับคำแนะนำในทุกด้านตั้งแต่การจัดการไร่นา การเตรียมการก่อนการเพาะปลูก ไปจนถึงการใช้น้ำ การจัดการธาตุอาหาร และการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน การเก็บเกี่ยว และการเก็บรักษาหลังการเก็บเกี่ยว

คุณธนู ธัญหากิจ ผู้ดูแลเกษตรกรเกือบ 150 รายที่ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านดอนหมู จังหวัดอุบลราชธานี ได้นำมาตรฐาน SRP มาใช้ในปี 2561 บอกว่า ได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ “เอาแค่การหยอดเมล็ดปลูก แทนการหว่านทั่วทุ่งเหมือนแต่ก่อน ก็ช่วยเราประหยัดค่าเมล็ดพันธุ์ได้แล้ว 80% ประหยัดค่าใช้จ่ายโดยรวมได้ 60% และแทนที่จะปล่อยน้ำท่วมนาตลอดทั้งเดือน เราใช้วิธีปล่อยน้ำสลับแห้ง ประหยัดน้ำได้ 50% เราใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่คัดเลือกมาให้เหมาะกับสภาพดินของเรา ใช้ปุ๋ยที่ผลิตเอง กำหนดปริมาณเองตามสภาพดินของเรา ไม่ต้องเสียเงินไปกับปุ๋ยที่เราไม่รู้จัก ตอนนี้เรามีเงินเหลือในกระเป๋าแล้ว”

มาตรฐานข้าวนี้ยังครอบคลุมเกณฑ์ด้านสุขภาพและความปลอดภัยสำหรับเกษตรกร การกำหนดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล การจัดเก็บและกำจัดสารกำจัดศัตรูพืชและสารเคมี มันเหมือนจะยุ่งยาก แต่เกษตรกรมีสิทธิ์เลือกว่าตัวเองจะทำตามตัวชี้วัดตัวใดก่อนหลัง ตัวไหนพร้อมทำไม่พร้อมทำ แล้วได้คะแนนไปเท่าที่ตัวเองทำ แข่งกับตัวเอง

ตัวอย่างเช่น ถ้าไม่ใช้ยาฆ่าแมลงจะได้ 2 คะแนน ถ้าใช้ยาฆ่าแมลงแต่ปฏิบัติตามแนวทาง SRP ก็จะได้ 1 คะแนน แต่ถ้าใช้ยาฆ่าแมลงโดยไม่มีหลักการและไม่ได้รับการฝึกอบรมมาก่อน จะได้ศูนย์

จากนั้นจะมีการประเมินตนเอง และประเมินภายในกลุ่ม เกษตรกรที่ได้คะแนน 33 จาก 100 คะแนน จะถูกจัดเป็นเกษตรกรที่ “เดินหน้าสู่มาตรฐานข้าวอย่างยั่งยืน” ผู้ที่ได้รับ 90 คะแนนขึ้นไปจะได้รับมาตรฐาน “ข้าวยั่งยืน” นำไปใช้กับผลผลิตของตัวเองได้ ข้าวที่ได้มาตรฐานนี้นอกจากจะได้รับการยอมรับว่าเป็นมิตรต่อโลกแล้ว ราคาขายยังดีกว่า

ปี 2565 ปีเดียว SRP มอบมาตรฐานนี้ให้แก่ข้าวเปลือกกว่า 130,000 ตันในอินเดีย ปากีสถาน ไทย เวียดนาม เมียนมา และสเปน ในปีนี้ Ellis และเพื่อนร่วมงานของเขาตั้งใจที่จะเพิ่มจำนวนทั้งหมดเป็นสองเท่า

แต่งานของพวกเขาไม่ได้จบลงแค่ออกมาตรฐาน Ellis อธิบายว่า “เรามาที่นี่เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน”

อย่างที่บอก ถ้าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนก็ต้องทำงานทั้งระบบ นั่นหมายถึงว่าต้องหาตลาดให้เกษตรกรที่ทำตามมาตรฐานเหล่านี้ด้วย ไม่ใช่ผลิตข้าวดีออกมาอวดกันแล้วขายไม่ได้

ตอนนี้ข้าวที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน SRP มีวางจำหน่ายแล้วใน 20 ประเทศ เช่น เดนมาร์ก สหราชอาณาจักร เยอรมนี อิตาลี และสวิตเซอร์แลนด์

ฉันได้คุยกับ คุณ Shahid Tarer กรรมการผู้จัดการและซีอีโอของ Galaxy Rice ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกข้าวบาสมาตีรายใหญ่ที่สุดของปากีสถาน เขาจัดส่งข้าวที่ผ่านการตรวจสอบ SRP จำนวน 15,000 ตันไปยังตลาดยุโรปในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา หลังจากเรียนรู้มาตรฐาน SRP ครั้งแรกในปี 2558 ปัจจุบันมีเกษตรกรกว่า 600 ครอบครัวผลิตข้าวมาตรฐาน SRP ให้เขา

Loc Troi Group ผู้นำการค้าข้าวของเวียดนาม ก็เริ่มนำร่องมาตรฐาน SRP กับเกษตรกร 150 รายในปี 2559 จากนั้นได้ขยายเป็นเกษตรกร 3,500 รายทั่วสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงบนพื้นที่ ตอนนี้มีเกษตรกรหลายร้อยคนได้คะแนนเต็ม 100 คะแนนตามมาตฐาน SRP

“แต่ผู้บริโภคจำนวนน้อยมากที่รู้เรื่องข้าวยั่งยืน” Tran Nguyen Ha Trang รองผู้อำนวยการด้านวิจัย ของ Loc Troi Group บอกฉัน “การตรวจสอบและส่งเสริมตลาด SRP เป็นสิ่งสำคัญ ต้องจูงใจให้ผู้บริโภคเต็มใจที่จะจ่ายเงินแพงขึ้นสำหรับข้าวเพื่อสุขภาพที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน”

เริ่มช่วยชาวนา และช่วยโลก โดยการมองหามาตรฐาน SRP ในถุงข้าวกันได้นับแต่บัดนี้