เอสซีจี สานต่อที่พ่อทำ รวมพลังสร้างฝายชะลอน้ำ ขยายผลบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริทั่วไทย

นครศรีธรรมราช เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วย ธรรมชาติ ป่าไม้ และแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ สองข้างทางเต็มไปด้วยต้นไม้ที่เขียวขจี นครศรีธรรมราชเป็นจังหวัดที่มีฝนตกชุก หรือที่คนท้องถิ่นพูดกันจนชินปากว่า ฝน 8 แดด 4 หมายความว่าที่นีมีฤดูฝนถึงแปดเดือน ฝนแล้งเพียง 4 เดือน แต่ก็ต้องแปลกใจว่าจังหวัดนครศรีธรรมราช กลับประสบปัญหาภัยธรรมชาติ ยามฝนตกหนักก็เกิดอุทกภัย แต่เมื่อฝนตกน้อยเกิดแล้งน้ำไม่พอใช้พอกิน ด้วยปัญหาเหล่านี้ ทางเอสซีจี จึงได้เล็งเห็นความสำคัญ และเป็นห่วงพี่น้องชาวนครศรีธรรมราช จึงได้จัดกิจกรรม “รักษ์น้ำ The Journey สานต่อที่พ่อทำ สร้างฝายทั่วไทย” ขึ้นมา ที่อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช สนับสนุนชุมชนและเยาวชนคนรุ่นใหม่ นำการเรียนรู้จากชุมชนต้นแบบฝายชะลอน้ำตามแนวพระราชดำริมาขยายผลการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ของตนเองอย่างเหมาะสม สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนอย่างยั่งยืน รวมทั้งเป็นการริเริ่มการเตรียมความพร้อมรับปัญหาน้ำท่วมน้ำหลาก รวมถึงปัญหาน้ำแล้งในภาคใต้ซึ่งเริ่มเป็นปัญหาในพื้นที่แล้ว

นายอาสา สารสิน ประธานคณะกรรมการกิจการสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี กล่าวว่า “เอสซีจี ได้น้อมนำแนวพระราชดำริการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำมาดำเนินงานร่วมกับชุมชน ภายใต้โครงการ” “เอสซีจี รักษ์น้ำเพื่ออนาคต” ตั้งแต่ปี 2550 ช่วยแก้ปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วม และต่อยอดไปสู่การบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร ทำให้มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี ก่อเกิดอาชีพ สร้างรายได้ และความเข้มแข็งให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน”

นอกจากนี้ เอสซีจียังสานต่อโครงการ “เอสซีจี รักษ์น้ำเพื่ออนาคต” กับกิจกรรม “รักษ์น้ำ The Journey สานต่อที่พ่อทำ สร้างฝายทั่วไทย” ระยะที่ 2 เป็นการต่อยอดจากระยะที่ 1 ซึ่งนำแกนนำจากชุมชนและตัวแทนเยาวชนรุ่นใหม่ จากจังหวัดกาญจนบุรี นครศรีธรรมราช และขอนแก่น ไปเรียนรู้และเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ป่ารอบโรงงานบริษัทปูนซีเมนต์ไทย(ลำปาง) จำกัด และป่าของชุมชนโดยรอบโรงงาน อันเป็นผลมาจากการสร้างฝายชะลอน้ำ ได้ลงมือสร้างฝายชะลอน้ำ เพื่อนำประสบการณ์จริงและความรู้ที่ได้รับกลับไปใช้แก้ปัญหาการบริหารจัดการน้ำในชุมชนของตนเอง และสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้สู่สมาชิกในชุมชนได้

นายธรากร ธรรมกิจ (พี่หลวง) ตัวแทนชุมชนบ้านน้ำพุ ต.ถ้ำใหญ่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช เล่าให้ฟังว่า พื้นที่บ้านน้ำพุ นอกจากปัญหาน้ำท่วมน้ำหลาก ยังเริ่มจะประสบปัญหาน้ำแล้ง ประกอบกับอาชีพของชาวบ้านที่นี่ ปลูกยางกันเป็นส่วนใหญ่ ยางพาราเป็นพืชที่ใช้น้ำเยอะคิด 100 % คิดเป็นน้ำยางแค่ 30 % อีก 70 % เป็นน้ำ ดังนั้นเราจึงต้องเริ่มตระหนักและหาวิธีแก้ปัญหาเพื่อให้อยู่รอด อย่างเช่นการสร้างฝายชะลอน้ำ ซึ่งพื้นที่ตรงนี้คืออ่าวอีแกะ บ้านน้ำพุ ติดแนวเขาบรรทัด นับว่าเป็นพื้นที่สร้างฝายชะลอน้ำเป็นที่แรกของจังหวัดนครสีธรรมราช

พี่หลวงยังเล่าถึงแผนการดำเนินงานอีกว่า ตอนนี้ตนได้ตั้งเป้าการทำฝายชะลอน้ำจำนวน 100 ฝาย ณ ปัจจุบันทำได้ 20 ฝายแล้ว ซึ่งได้รับผลเป็นที่น่าพอใจ การสร้างฝายสามารถช่วยต่อชีวิตชาวบ้านได้ อย่างน้อยจากที่ต้องแล้งนาน 3 เดือน อาจจะเหลือแค่ 2 เดือน เพราะฝายได้ช่วยชะลอน้ำไว้ให้กินใช้ต่อเวลาได้ถึง 1 เดือน  ส่วนความร่วมมือ ก็ได้รับความร่วมมือค่อนข้างดี จะมีช่วงแรกๆ ที่โดนค้าน หรือบอกว่าเราบ้าบ้าง แต่ผมไม่ท้อ ผมใช้วิธีทำให้เห็น เมื่อยามเกิดปัญหา แล้วสิ่งที่เราทำไว้ได้ย้อนกลับมาช่วยพวกเขา เขาก็เริ่มเห็นคุณค่าในสิ่งที่เราทำ จึงเกิดการร่วมมือร่วมใจในการทำฝายต่อไป เพราะชาวบ้านเขารู้แล้วว่าสิ่งนี้ทำแล้วดี ช่วยชีวิตเขาได้จริงๆ

 

นายณฤภณ เพ็งเพ็ชร์ จิตอาสาจาก ม.วลัยลักษณ์ เยาวชนจิตอาสา ที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ได้บอกเล่าถึงความรู้สึกกับกิจกรรมในครั้งนี้ว่า ผมได้เล็งเห็นถึงคุณค่าและความสำคัญของน้ำมาโดยตลอด เพราะน้ำอยู่กับเราตั้งแต่ตอนตื่น “ตื่นเช้ามาก็ใช้น้ำในการปฎิบัตกิจวัตรประจำวัน เราใช้น้ำทั้งวัน” น้ำเป็นทรัพยากรที่มีค่า ถ้าไม่อนุรักษ์ หรือปล่อยให้ไหลลงสู่ทะเลโดยที่ไม่ได้ใช้หรือทำให้เกิดประโยชน์ ผมคิดว่ามันน่าเสียดาย ผมจึงคิดและพยายามหากิจกรรมเพื่อที่จะเข้าร่วมมาเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์น้ำ จนได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมสร้างฝายชะลอน้ำในครั้งนี้ การสร้างฝายชะละน้ำเป็นการลดปริมาณน้ำไหลทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ และนอกจากตัวผมเองแล้วยังมีเพื่อนที่มีจิตอาสาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้อีกกว่า 30 คน โดยใช้พื้นที่ในสื่อโซลเชี่ยวเป็นการชักชวนเพื่อนๆ พี่ๆ ที่อยากจะรักษาต้นน้ำลำธารไว้ แต่ไม่มีโอกาส ก็ให้มาร่วมกับเราได้

ทางด้านของ นายมูฮัมหมัดนัสรูณ เหลาเหม จิตอาสาจาก ม.ฟาฏอนี เล่าว่า จุดเริ่มคือในชีวิตประจำวันเราต้องใช้น้ำทุกวัน และได้เห็นพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวราชกาลที่ 9 ท่านทรงทำให้เราเห็นถึงความสำคัญของน้ำ “น้ำคือชีวิต” ดังนั้นเราจะนิ่งนอนใจได้อย่างไร ยิ่งตัวผมแล้ว ผมป็นมุสลิม ตามศาสนาต้องชำระร่างกายวันละ 5 ครั้ง ผมจึงอยากเป็นหนึ่งในส่วนที่จะช่วยในการรักษาต้นน้ำ และช่วยพัฒนาต่อยอดให้ดียิ่งขึ้น จนได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมสร้างฝายกับเอสซีจี ถือว่าเป็นการสารฝันของผมให้เป็นจริง และผมขอยืนยันว่าผมจะทำดีต่อไป ไม่ใช่เพื่อตัวผมอย่างเดียว แต่ถ้าทุกคนร่วมใจกันแล้ว เราจะไม่ประสบกับภาวะแห้งแล้งอีก นั้นก็หมายความถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พืชผลทางการเกษตรออกต้องตามฤดูกาล และสิ่งเหล่านี้ยังส่งผลไปถึงเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย