พบปลาพญานาค ตัวแรกของไทย นักวิชาการระบุ เพราะกระแสน้ำที่เปลี่ยน ไม่เกี่ยวอาเพศ

จังหวัดสตูลพบปลาพญานาค หรือ ออร์ฟิช ยาว 2.4 เมตร ตัวแรกของไทย นักวิชาการระบุปัจจัยเกิดจากกระแสน้ำที่เปลี่ยน ความเชื่ออาเพศไม่เกี่ยว พร้อมส่งพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติศึกษาต่อ

สำนักงานประมงจังหวัดสตูล นักวิชาการประมงปฏิบัติการ สำนักงานประมงจังหวัดสตูล พร้อมเจ้าหน้าที่ นำปลาออร์ฟิช หรือที่ชาวบ้านปลาพญานาค หรือปลาริบบิ้น ตัวแรกของประเทศไทยพบที่บริเวณเกาะอาดัง และเกาะลิบง ขณะที่ติดเรืออวนดำชาวประมง ก.เทพเจริญพร 15 เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2567 โดยชาวประมงที่พบเห็นว่าเป็นปลาที่แปลกและหายาก จึงมอบให้กับทางประมงจังหวัดสตูล

เจ้าหน้าที่ประมงจังหวัดสตูล นำมาตรวจสอบพบว่าปลาออร์ฟิชหรือปลาพญานาค มีความยาวถึง 2 เมตร 40 เซนติเมตร เป็นขนาดไม่โตเต็มวัย จัดเป็นปลาที่มีกระดูกสันหลังยาวที่สุดในโลก ถ้าโตเต็มวัยจะยาวถึง 11 เมตร กว้างประมาณ 1 คืบ ลำตัวไม่พบบาดแผล โดยมีครีบเป็นสีแดงอมชมพูยาวตลอดทั้งตัว มีหนวดยาว ลำตัวยาว มีเกล็ดสีเงิน ครีบสีแดงที่หัว จึงเป็นสัตว์น้ำที่หาชมได้ยาก มักจะอาศัยอยู่ในทะเลน้ำลึกระดับ 1,000 เมตรขึ้นไป

นางสาวอภิรดี ณ ไพรี นักวิชาการประมงปฏิบัติการ สำนักงานประมงจังหวัดสตูล กล่าวว่า ปลาออร์ฟิชหลังได้รับมาจากชาวประมงเตรียมนำส่งพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เพื่อไว้ให้รุ่นหลังได้ศึกษา เพราะเชื่อว่าเป็นครั้งแรกที่พบในไทยโดยชาวประมง ซึ่งชาวประมงอาจจะเคยเจอแล้วแต่เขาอาจไม่ทราบอาจจะคิดว่าเป็น ปลาดาบ สำหรับปลาออร์ฟิช หรือที่บ้านๆ เรียกปลาพญานาค หรือปลาริบบิ้น มีลักษณะการว่ายจะพลิ้วๆ ไปมา จะเจอในทะเลน้ำลึก 1,000 เมตรขึ้นไป

การพบในทะเลอันดามัน จังหวัดสตูลในครั้งนี้ ไม่ได้มีการบ่งชี้อะไร ตามความเชื่อบ้างว่าเจอชายฝั่งจะเจอภัยพิบัติหรืออาเพศ เป็นความเชื่อเฉยๆ แต่ทางวิทยาศาสตร์เป็นการอพยพอย่างถิ่นฐาน อาจเนื่องจากกระแสน้ำที่เปลี่ยนไป

ปลาออร์ฟิช หรือปลาพญานาค พบเห็นได้ยากมาก แต่ก็มีผู้พบเห็นเป็นระยะในหลายพื้นที่ ตั้งแต่ชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของออสเตรเลีย เรื่อยไปจนถึงทะเลนอกชายฝั่งเม็กซิโก และแถบหมู่เกาะเบอร์มิวดา ส่วนใหญ่มักถูกคลื่นซัดออกมาเกยหาดหลังเกิดพายุ หรือไม่ก็เกิดอาการผิดปกติขึ้นกับปลา เช่น ป่วย หรือใกล้ตาย น้อยครั้งที่จะมีการพบเห็นขณะมีชีวิตอยู่ ซึ่งปลาชนิดนี้กินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร ไม่เป็นอันตรายและไม่ทำร้ายมนุษย์

ด้าน ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายหลังการพบปลาชนิดดังกล่าวว่า ปลาตัวนี้ติดอวนล้อมปลากลางน้ำทะเล ในฝั่งทะเลอันดามันครับ ไม่เกี่ยวอะไรกับแผ่นดินไหว สึนามิที่ญี่ปุ่น

ที่บอกว่า การเจอปลาออร์ฟิช แปลว่า จะเกิดแผ่นดินไหวนั้น เป็นแค่ความเชื่อตามๆ กันมาครับ (จริงๆ ส่วนใหญ่ที่เจอมันขึ้นมาผิวน้ำ ก็เพราะมันป่วยหรือใกล้ตาย)

คาดว่าครั้งนี้ที่มันมาใกล้ทางฝั่งไทย เพราะน้ำทะเลมหาสมุทรอินเดียมีการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำเกิดขึ้นครับ เรียกว่า ปรากฏการณ์ Indian Ocean Dipole (IOD) ทำให้มหาสมุทรอินเดียบริเวณเขตศูนย์สูตร มีอุณหภูมิผิวน้ำทะเลเย็นผิดปกติ