ที่มา | ภูมิปัญญาไทย |
---|---|
ผู้เขียน | สาวบางแค 22 |
เผยแพร่ |
ทฤษฎีแพทย์แผนไทยเชื่อว่าคนเราเกิดมาในร่างกายที่ประกอบด้วยธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ และการใช้รสอาหารมาช่วยปรับสมดุลของร่างกายที่เกิดจากภาวะธาตุเสียสมดุล เป็นหนทางหนึ่งในการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมได้ด้วยตนเอง
ตามทฤษฎีการแพทย์ไทยนั้น แต่ละคนจะมีธาตุหลักเป็นธาตุประจำตัวที่เรียกว่า “ธาตุเจ้าเรือน” ซึ่งมี 2 ลักษณะคือ ธาตุเจ้าเรือนที่เป็นไปตามวัน เดือน ปีเกิด และธาตุเจ้าเรือนปัจจุบัน พิจารณาจาก บุคลิก ลักษณะอุปนิสัย
การแบ่งออกธาตุตามวัน/เดือน/ปีเกิด สามารถแบ่งได้ดังนี้
1. ธาตุดิน คือ ผู้ที่เกิดในเดือนตุลาคม/พฤศจิกายน/ธันวาคม
2. ธาตุน้ำ (เสมหะ) คือ ผู้ที่เกิดในเดือนกรกฎาคม/สิงหาคม/กันยายน
3. ธาตุลม (วาตะ) คือ ผู้ที่เกิดในเดือนเมษายน/พฤษภาคม/มิถุนายน
4. ธาตุไฟ (ปิตตะ) คือ ผู้ที่เกิดในเดือนมกราคม/กุมภาพันธ์/มีนาคม
ช่วงหน้าร้อนที่อากาศร้อนจัด ความสมดุลของธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม และธาตุไฟ ในร่างกายบกพร่อง โดยเฉพาะคนธาตุไฟและคนธาตุน้ำ มีความเสี่ยง เสียสมดุลร่างกายมากกว่าธาตุอื่น เกิดความเจ็บป่วยได้ง่าย คนธาตุน้ำช่วงหน้าร้อนจะทำให้น้ำในร่างกายแห้ง ส่งผลให้ท้องผูก ร้อนใน หน้าร้อนธาตุไฟจะมาก ถ้าจะดับร้อน ก็ต้องรับประทานอาหารที่มีรสขม รสจืด และรสเย็น จะเป็นพืชผักหรือผลไม้ก็ได้ นำมาปรุงเป็นอาหารหรือเครื่องดื่ม เพื่อให้เหมาะกับอากาศในช่วงหน้าร้อน
หากใครอยากมีสุขภาพแข็งแรงตลอดช่วงฤดูร้อน ขอแนะนำให้รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเน้นเมนูพืชผักและผลไม้ที่มีฤทธิ์เย็นเป็นหลักเมนูอาหารคลายร้อนที่แนะนำ ได้แก่ มะระทรงเครื่อง มะระมีสรรพคุณที่สำคัญคือเป็นยาดับร้อนถอนพิษไข้แก้กระหาย บรรเทาอาการร้อนใน แก้อักเสบ เจ็บคอ แกงเลียงกุ้ง อาหารพื้นบ้านที่ประกอบด้วยผักต่างๆ เช่น ใบตำลึง ใบแมงลัก บวบ น้ำเต้า เห็ดฟาง กระชาย ผักเหล่านี้เป็นผักที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย แกงเลียงกุ้งร้อนๆ สามารถขับเหงื่อช่วยให้ร่างกาย เบาสบาย อาหารประเภทแกงจืด อาจเป็นแกงจืดฟักเขียว แกงจืดตำลึง แกงจืดมะระยัดไส้ แกงขี้เหล็ก เป็นต้น ถือว่าเหมาะกับอากาศในช่วงหน้าร้อน เป็นต้น
สำหรับเมนูของหวาน ได้แก่ เฉาก๊วย ที่มีน้ำเชื่อมใสๆ ใส่น้ำแข็งกินตอนอากาศร้อนๆ แก้กระหาย รักษาอาการปวดหัว เจริญอาหาร เป็นยาระบาย ช่วยย่อย สละลอยแก้ว แช่เย็นๆ ทำให้ชุ่มคอแก้กระหายน้ำได้ดี และลดอาการเจ็บคอ เครื่องดื่มสมุนไพร ได้แก่ น้ำย่านาง ใบย่านางมีฤทธิ์เย็น จึงใช้ใบย่านางปรับสมดุล น้ำบัวบก แก้ร้อนในกระหายน้ำ ลดอาการปวดศีรษะข้างเดียว บำรุงสมอง บำรุงหัวใจ น้ำกระเจี๊ยบ สรรพคุณช่วยรักษาอาการร้อนในภายในช่องปาก ลดความดันโลหิต น้ำตรีผลา เป็นยาปรับธาตุในหน้าร้อน มีสรรพคุณช่วยรักษาความสมดุลธาตุทั้ง 4 ของร่างกาย น้ำใบเตย ช่วยบำรุงหัวใจ ช่วยลดอาการกระหายน้ำ ทำให้ชุ่มชื่น น้ำมะนาว ช่วยย่อยอาหาร ป้องกันท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้ไอ ขับเสมหะ น้ำมะพร้าว ช่วยลดอุณหภูมิของร่างกาย คลายความร้อนดับกระหาย