เครื่องปอกเปลือกมะม่วงดอง เพื่ออุตสาหกรรมแปรรูปมะม่วง ปอกได้ 72.21 กิโลกรัมต่อชั่วโมง

มะม่วงเป็นผลไม้ที่นิยมปลูกกันมากในทุกภาคของประเทศไทย และคนไทยส่วนใหญ่รู้จักการแปรรูป มะม่วงสดด้วยการดอง เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาได้นาน ทั้งนี้ ต้องผ่านการดองที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค จากนั้นจึงนำมาทำการแปรรูปปอกเปลือกออกแล้วนำไปแช่อิ่มหรือปรุงแต่งรสแล้วบรรจุผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่าย

ซึ่งขั้นตอนการปอกเปลือกนั้นถือว่าเป็นหนึ่งในกระบวนการแปรรูปผลไม้ที่ส่งผลต่อคุณภาพผลิตภัณฑ์และใช้แรงงานมาก นอกจากนี้ ยังประสบปัญหาขาดแคลนเครื่องจักรกลที่ใช้ปอกอีกด้วย ประกอบกับ ผลมะม่วงของไทยมีรูปทรงรีมากกว่าสายพันธุ์ต่างประเทศที่มีรูปทรงผลค่อนข้างกลม จึงเป็นปัญหาอุปสรรคทางธุรกิจและปัญหาเชิงเทคนิคที่ต้องพัฒนาเครื่องปอกและทดลองหาเงื่อนไขการทำงานของเครื่องปอกให้สามารถปอกเปลือกได้สมบูรณ์มากที่สุด

ที่ผ่านมาผู้ประกอบการมีการประยุกต์ใช้เครื่องปอกเปลือกผลผลิตทางการเกษตรในรูปแบบต่างๆ นำมาใช้งาน เช่น การปอกเปลือกฟักทองโดยการขัดผิว เครื่องปอกเปลือกมันฝรั่ง การปอกมันฝรั่งจะหมุนแยกเปลือกออกจากกัน โดยการขัดถูพ่นน้ำให้เปลือกออกจากถังพร้อมกับการไหลของน้ำ ประสิทธิภาพการปอกเปลือกและการสูญเสียเปลือกที่ 7 เปอร์เซ็นต์ 8 เปอร์เซ็นต์ และ 6 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ สามารถปอกได้ 100 กิโลกรัมต่อชั่วโมง

ทีมนักวิจัยของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เล็งเห็นปัญหาดังกล่าวจึงออกแบบ “เครื่องปอกเปลือกมะม่วงดองแบบเพลาหมุนผล” ที่สามารถปอกเปลือกมะม่วงดองได้ มีความสม่ำเสมอของผลผลิตหลังปอก โดยมีเงื่อนไขที่เหมาะสมที่ความเร็วรอบเพลาหมุนจับผลมะม่วงดอง 100 rpm และความเร็วรอบของชุดเพลาเกลียวเลื่อนชุดใบมีดที่ 190 rpm ให้เปอร์เซ็นต์ของเปลือกที่ปอกได้สูง 97.10 เปอร์เซ็นต์ ให้อัตราการทำงานสูง 72.21 กิโลกรัมต่อชั่วโมง มีเปอร์เซ็นต์การสูญเสียจากการปอกเปลือก 6.23 เปอร์เซ็นต์ ความลึกของเปลือกที่ปอกได้ 0.87 mm และความกว้างของเปลือกที่ปอกได้ที่ 5.40 mm สามารถเพิ่มกำลังในการผลิตทดแทนแรงงานที่ไม่มีทักษะการปอกเปลือกมะม่วงดองได้ ซึ่งให้อัตราการทำงานที่มากกว่าแรงงานคนทั่วไปที่ทำได้ 13.91 กิโลกรัมต่อชั่วโมง แต่ให้อัตราการทำงานที่น้อยกว่าการปอกด้วยแรงงานคนที่มีความชำนาญในการปอกเปลือกที่ทำได้ 77.58 กิโลกรัมต่อชั่วโมง

ล่าสุด เครื่องปอกเปลือกมะม่วงดองแบบเพลาหมุนผล ได้รับ “รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1” และ “รางวัล Popular Vote” ในการประกวดเครื่องจักรกลเกษตร งานเกษตรแฟร์ ซึ่ง ภาควิชาเกษตรกลวิธาน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดประกวดในช่วงงานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2567 ระหว่างวันที่ 2-10 กุมภาพันธ์ 2567 ได้รับมอบเงินรางวัล พร้อมประกาศนียบัตร จาก ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567