“เห็ดแครง” สารอาหารสูง เพาะง่าย 2 สัปดาห์ ให้ผลผลิต เก็บขายได้ 200-250 บาท/กก.

เห็ดแครง หรือ เห็ดตีนตุ๊กแก มีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไป ภาคเหนือ เรียก เห็ดแก้น เห็ดตามด ภาคใต้ เรียก เห็ดยาง เพราะพื้นที่ทางภาคใต้นั้นสามารถพบเห็ดชนิดนี้ได้บนไม้ยางพารา ส่วนภาคกลางนั้นเรียกว่า เห็ดมะม่วง เนื่องจากขึ้นอยู่บนไม้มะม่วง เห็ดแครงเป็นเห็ดที่ขึ้นอยู่ได้ทั่วไปสามารถงอกได้ตลอดทั้งปีขึ้นอยู่กับวัสดุหลายชนิด เช่น ท่อนไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ ใบหญ้า สามารถเก็บรวบรวมเห็ดชนิดนี้มาทานได้

ปัจจุบัน ผลผลิตจากเห็ดแครงสามารถเก็บรักษาผลผลิตได้นานขึ้น หากยังไม่ได้นำไปประกอบอาหาร อย่างเช่น นำมาทำการบรรจุผลิตภัณฑ์ให้เป็นแบบสุญญากาศ ทำให้เห็ดแครงสามารถมีอายุการเก็บรักษาได้ถึง 1 เดือน ซึ่งเห็ดแครงสามารถวางแผนการผลิตได้อย่างชัดเจนในการกำหนดปริมาณสินค้าที่จะออกสู่ท้องตลาดแต่ละครั้ง จึงทำให้ไม่มีเรื่องของการล้นตลาดอย่างแน่นอน

อาจารย์บรรลุ บุญรอด ผู้เชี่ยวชาญการเพาะเห็ดแครง ให้ข้อมูลว่า เห็ดแครงมีวิธีการเพาะเหมือนเห็ดทั่วไป เพียงแต่มีการปรับสูตรในการเพาะที่แตกต่างออกไป เมื่อทำก้อนเชื้อเห็ดเสร็จแล้วเห็นเชื้อเดินเต็มถุง ในระยะเวลาไม่กี่วันก็จะมีดอกเห็ดออกมาให้เห็น จนสามารถเก็บจำหน่ายได้ ซึ่งอายุการเก็บเกี่ยวของเห็ดแครงมีอายุที่สั้นเมื่อเทียบกับเห็ดอื่นๆ และที่สำคัญเห็ดแครงยังมีการใช้ต้นทุนต่ำ ทำให้เมื่อจำหน่ายสามารถมีรายได้กลับคืนมาได้อย่างแน่นอน

โดยสูตรอาหารทำก้อนเชื้อเห็ดแครง มีดังนี้

  1. ขี้เลื่อย 100 กิโลกรัม
  2. รำละเอียด 50 กิโลกรัม
  3. ภูไมท์ 2 กิโลกรัม
  4. ดีเกลือ 200 กรัม
  5. น้ำสะอาด ใช้ปรับความชื้น 70-75 เปอร์เซ็นต์

ขั้นตอนการผลิตก้อนเชื้อเห็ด

1. เตรียมส่วนผสม ในอัตราส่วนตามสูตรจนได้ปริมาณตามต้องการ จากนั้นใช้พลั่วหรือเครื่องผสมคลุกเคล้าส่วนผสมให้เข้ากัน

2. เติมน้ำลงไปในขี้เลื่อย ผสมพร้อมกับคลุกเคล้าให้เข้ากันอีกครั้ง ผสมน้ำให้มีความชื้น ประมาณ 70-75 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นทดสอบความชื้นของส่วนผสมดูว่าเหมาะสมหรือยัง โดยใช้มือกำแล้วบีบขี้เลื่อยผสม ถ้าหากมีน้ำไหลออกมาทางง่ามมือแสดงว่าส่วนผสมมีความชื้นมากเกินไป แต่ถ้าในขณะที่บีบไม่มีน้ำไหลออกมาทางง่ามมือ และเมื่อแบมือออกขี้เลื่อยผสมแตกออกเป็นชิ้นๆ แสดงว่าส่วนผสมแห้งเกินไป ซึ่งระดับความชื้นที่เหมาะสมคือ ในขณะที่ใช้มือกำและบีบส่วนผสมน้ำจะไม่ไหลออกมาทางง่ามมือ และเมื่อแบมือออกส่วนผสมจะยังจับกันเป็นก้อน

3. บรรจุขี้เลื่อยที่ผสมเสร็จแล้วใส่ถุงพลาสติก บรรจุให้มีน้ำหนัก ประมาณ 600 กรัม ถุงพลาสติกที่ใช้ทำก้อนเชื้อเห็ดนิยมให้ถุงพลาสติกทนร้อน ขนาด 6.5×10 นิ้ว

4. อัดขี้เลื้อยผสมให้แน่นพอสมควร จากนั้นดึงปากถุงพลาสติกให้ตึง รวบปากถุงไล่อากาศออก แล้วจึงใส่คอขวดพลาสติก แล้วพับปากถุงพาดคอขวดลงมารัดด้วยหนังยาง อุดด้วยจุกสำลีแล้วนำไปนึ่งเพื่อฆ่าเชื้อต่อไป

หลังจากทำก้อนเชื้อเห็ดเรียบร้อยแล้ว ควรนึ่งก้อนเชื้อทันทีในวันเดียวกัน ซึ่งการเก็บเชื้อค้างคืนจะทำให้รำละเอียดในก้อนเชื้อบูด เพราะมีความชื้นและเกิดแก๊สขึ้นในก้อนเชื้อ การนึ่งฆ่าก้อนเชื้อเห็ดก็มีจุดประสงค์เพื่อกำจัดเชื้อรา แมลง และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่เป็นศัตรูเห็ด เป็นวิธีการฆ่าเชื้อแบบพาสเจอไรเซชั่น โดยนำไปนึ่งในหม้อแรงดันหรือหม้อลูกทุ่ง ที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 3-4 ชั่วโมง แล้วจึงพักให้เย็นลง นำเข้าห้องเขี่ยเชื้อโดยเร็ว ไม่ควรทิ้งไว้เกิน 24 ชั่วโมง เพราะจะเกิดการปนเปื้อนจากเชื้อราชนิดอื่นๆ

จากนั้น นำก้อนเชื้อที่เขี่ยเชื้อเห็ดแครงแล้ว เก็บในโรงเรือนสำหรับบ่มเชื้อทันที ซึ่งภายในโรงเรือนต้องมีความสะอาดไม่สะสมโรค สามารถป้องกันแดด ลม และฝน ได้เป็นอย่างดี สามารถเก็บรักษาความชื้นและถ่ายเทอากาศภายในโรงเรือนได้สะดวก และที่สำคัญต้องมืด มิเช่นนั้นแสงจะเป็นตัวกระตุ้นให้เส้นใยสร้างดอก อุณหภูมิที่เหมาะสมกับการบ่มเชื้อ ควรอยู่ที่ 28-32 องศาเซลเซียส หลังจากพักบ่มไว้ 15-20 วัน เส้นใยสีขาวจะเจริญเต็มถุง พร้อมให้นำไปเปิดดอกได้

การเปิดดอกเห็ดแครงนั้น จะนำก้อนเชื้อเห็ดมาไว้ภายในโรงเรือน ที่ควรมีขนาด 4 เมตร ยาว 8 เมตร และสูง 2.50 เมตร โดยวางก้อนเชื้อเห็ดบนชั้น โดยเปิดฝาจุกพลาสติกออก รัดปากถุงด้วยเชือกฟางให้แน่น พร้อมทั้งกรีดด้านข้างก้อนเชื้อเห็ดให้ทะลุตามแนวเอียง 45 องศา ถุงละ 4-6 รอบ ในช่วงนี้ให้รดน้ำสะอาดลงที่พื้นและผนัง เพื่อเพิ่มความชื้นภายในโรงเรือน และเมื่อมองเห็นว่าเส้นใยบริเวณรอยกรีดสมานกันดีจะใช้เวลาประมาณ 3 วัน แล้วจึงรดน้ำที่ก้อนเชื้อเห็ดโดยใช้หัวฉีดเจทสเปรย์ หากไม่สะดวกให้ใช้ถังฉีดพ่นปุ๋ยหรือสารเคมี (แต่ต้องล้างให้สะอาด) แทน

จากนั้นรักษาอุณหภูมิภายในโรงเรือนไว้ที่ 30-35 องศาเซลเซียส และความชื้นสัมพัทธ์ที่ 85 เปอร์เซ็นต์ เพราะจะทำให้ดอกเห็ดเจริญเติบโตได้ดี หลังจากที่ฉีดพ่นน้ำทุกวันจนครบ 7 วัน ดอกเห็ดแครงก็จะโตพอที่จะเก็บเกี่ยวได้ วิธีการตัดจะใช้มีดคมๆ เฉือนตรงโคนดอกเห็ดที่บานเต็มที่ ซึ่งการเก็บผลผลิตในรุ่นแรก จะให้ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 80-120 กรัมต่อเห็ด 1 ก้อน หลังจากเก็บผลผลิตรุ่นแรกแล้ว ประมาณ 6-7 วัน ก็จะสามารถเก็บ รุ่นที่ 2 มีผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 20-30 กรัม ตามลำดับ ดังนั้น เห็ดแครง 1 ก้อน (600 กรัม) จะให้ผลผลิตประมาณ 100-150 กรัม

การนำเห็ดแครงเพื่อนำไปประกอบอาหารว่า เห็ดแครงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่ไม่นิยมทานเนื้อสัตว์ ก็สามารถนำเห็ดแครงไปประกอบอาหารแทนการปรุงจากเนื้อสัตว์ได้ เพราะในเห็ดแครงมีโปรตีนสูง แถมเมื่อนำไปประกอบอาหารสามารถทำได้หลากหลายเมนู เช่น แกง ห่อหมก ตลอดไปจนถึงเมนูทอดมันเห็ดแครงโดยขึ้นอยู่กับท้องถิ่นนั้นๆ ว่าจะรังสรรค์เมนูในรูปแบบใด

ราคาเห็ดแครงที่จำหน่ายตามท้องตลาด ก็สามารถทำตลาดได้หลากหลาย อย่างผู้ที่มาฝึกอบรมกับศูนย์ของเรา พอกลับไปทำเป็นอาชีพเอง เขาก็สามารถจำหน่ายได้ราคา ตั้งแต่ 200-400 บาทต่อกิโลกรัม จากจำนวนการลงทุนและผลตอบแทนที่ได้ ก็ถือว่าเห็ดแครงเป็นอีกหนึ่งผลผลิตที่น่าสนใจ เพราะในอนาคตเราเองก็จะมีการต่อยอดมากขึ้น นำมาแปรรูปหลากหลาย ก็จะยิ่งช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับเห็ดแครงได้ดียิ่งขึ้น ทำให้เกิดรายได้กับเกษตรกรผู้เพาะได้อย่างยั่งยืน

สำหรับผู้ที่สนใจอยากจะฝึกการเพาะเห็ดแครง สามารถติดต่อขอฝึกอบรมได้ที่ ศูนย์การเรียนรู้การเพาะเห็ดแครง อ.ต.ก. จังหวัดสงขลา หรือติดต่อทางหมายเลขโทรศัพท์ 074-330-241-3 โดยทางศูนย์จะมีการฝึกอบรมให้ฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น และท่านใดสนใจซื้อเห็ดแครงเพื่อนำไปประกอบอาหารเองที่บ้าน หรือจะเป็นสินค้ากับข้าวสำเร็จรูปที่พร้อมทานได้ทันที ก็สามารถไปเลือกซื้อสินค้าได้ที่ ตลาด อ.ต.ก. เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร โทรศัพท์ 02-790-4545