สู้ภัยแล้ง ด้วยแอปพลิเคชัน “เช็คแล้ง” คาดการณ์เสี่ยงภัยแล้งล่วงหน้า 4 เดือน

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) โดยเฉพาะภัยแล้ง ส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรของประเทศรุนแรงขึ้น สร้างความเสียหายต่อผลิตผลทางการเกษตร เศรษฐกิจระดับครัวเรือนและเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง การให้ความรู้แก่เกษตรกร สร้างความพร้อมในการรับมือภัยแล้ง จะช่วยลดความสูญเสียได้อย่างมาก

กรมส่งเสริมการเกษตรจึงร่วมกับ 6 หน่วยงานภาคี ได้แก่ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สำนักปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ดำเนินการจัดทำโครงการวิจัย ประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยพัฒนาต่อยอดเป็นแพลตฟอร์มติดตามพืชเกษตรรายแปลงจากภัยแล้ง ด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ หรือ แอปพลิเคชัน “เช็คแล้ง” ที่เกษตรกรสามารถติดตาม 1. สถานการณ์ภัยแล้ง ความเสียหายของพืช และความชื้นผิวดินรายแปลง และคาดการณ์สภาพอากาศล่วงหน้า 7 วัน 2. พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งรายจังหวัด รายลุ่มน้ำ และรายพื้นที่ชลประทาน 3. พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งรายเดือน และ 4. คาดการณ์ฝน/เสี่ยงภัยแล้งล่วงหน้า 4 เดือน

ทั้งนี้ เกษตรกรที่สนใจสามารถเลือกใช้งานแอปพลิเคชัน “เช็คแล้ง” ได้แล้วผ่านเว็บแอปพลิเคชัน (https://cropsdrought.gistda.or.th) และโมบายแอปพลิเคชัน (ระบบ AOS และ iOS) เพื่อใช้ประเมินสภาวะแห้งแล้งของพื้นที่การเกษตร ช่วยให้เกษตรกรสามารถวางแผนการเพาะปลูกในฤดูแล้ง วางแผนการสำรองน้ำใช้เพื่อการเพาะปลูกได้อย่างเพียงพอ และลดความเสียหายจากภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้น

นางอัญชลี สุวจิตตานนท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ผลจากการประเมินความเสียหายของพืชเกษตรรายแปลง (CDAI) พบว่า แบบจำลองสามารถบ่งชี้ความเสียหายของพืชจากภัยแล้งได้มากกว่าร้อยละ 75 โดยทดสอบกับแปลงที่เคยเสียหายในอดีต ในแปลงอ้อย มีความถูกต้อง (ร้อยละ 92.9) ข้าว (ร้อยละ 81.9) ข้าวโพด (ร้อยละ 77.7) และ มันสำปะหลัง (ร้อยละ 73.7) ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการนำร่อง การใช้แอปพลิเคชัน “เช็คแล้ง” ให้แก่เกษตรกรที่เป็น อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) เกษตรกรรุ่นใหม่ (YSF) และผู้นำชุมชน และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรเพื่อส่งเสริมการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศติดตามพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งและความเสียหายของพืชเกษตรรายแปลง ในพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ อุทัยธานี สุรินทร์ นครราชสีมา ร้อยเอ็ด สกลนคร กำแพงเพชร พิจิตร สุพรรณบุรี และนครสวรรค์