เปิดรายชื่อ 10 สายพันธุ์ข้าวใหม่ ผ่านรับรองกรมการข้าวแล้ว

กรมการข้าวคลอดข้าว 10 พันธุ์ใหม่ เฉลิมพระเกียรติ ร.10 เนื่องในโอกาสมหามงคล 72 พรรษา ครอบคลุมความหลากหลายสายพันธุ์ เพิ่มทางเลือกให้เกษตรกร

วันที่ 9 เมษายน 2567 นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยระหว่างเป็นประธานที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณารับรองพันธุ์ข้าว ว่าที่ประชุมมีมติรับรองข้าวพันธุ์ใหม่ 10 พันธุ์ เนื่องในโอกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 พระชนมพรรษา 72 พรรษา โดยมีข้าวหลายประเภท ประกอบด้วยข้าวขาวพื้นนุ่ม ข้าวขาวพื้นแข็ง ข้าวหอมไทย ข้าวเหนียว ข้าวญี่ปุ่น ข้าวพื้นเมือง และข้าวสาลี ซึ่งข้าวแต่ละประเภทจะมีจุดเด่นที่แตกต่างกันตามการนำไปใช้ประโยชน์ ได้แก่

กข99 (หอมคลองหลวง 72) กข26 (เชียงราย 72) กข103 (หอมชัยนาท 72) กข105 (เจ้าพระยา 72) กข107 (พิษณุโลก 72) กข109 (หอมพัทลุง 72) กข24 (สกลนคร 72) กขจ1 (วังทอง 72) กขส1 (สะเมิง 72) และ หอมหัวบอน35 (กระบี่ 72)

พันธุ์ กข99 (หอมคลองหลวง 72) เป็นข้าวเจ้าหอมพื้นนุ่ม ไม่ไวต่อช่วงแสง ผลผลิตสูง อายุเก็บเกี่ยว 115 วัน ประมาณ 113 เซนติเมตร ศักยภาพการให้ผลผลิต 957 กิโลกรัมต่อไร่ ข้าวสุกมีกลิ่นหอม เนื้อสัมผัสค่อนข้างเหนียวและนุ่ม มีปริมาณอะมิโลส 15.06 เปอร์เซ็นต์ อายุเก็บเกี่ยวสั้นกว่าพันธุ์ปทุมธานี 1 คุณภาพการสีดีมาก สามารถผลิตเป็นข้าวสาร 100 เปอร์เซ็นต์ ชั้น 1 ได้

พันธุ์ กข24 (สกลนคร 72) เป็นข้าวเหนียว ไวต่อช่วงแสง เก็บเกี่ยวช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ความสูงประมาณ 96 เซนติเมตร ลำต้นเตี้ย ต้านทานการหักล้ม ดีกว่าพันธุ์ กข6 และ กข18 ศักยภาพการให้
ผลผลิต 1,002 กิโลกรัมต่อไร่ ต้านทานต่อโรคไหม้ในระยะกล้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พันธุ์ กข26 (เชียงราย 72) เป็นข้าวเหนียว ไม่ไวต่อช่วงแสง อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 130 วัน ความสูงประมาณ 111 เซนติเมตร ศักยภาพการให้ผลผลิต 1,152 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์สันป่าตอง 1 อายุเก็บเกี่ยวสั้นกว่าพันธุ์สันป่าตอง 1 และ กข14 ประมาณ 5-6 วัน ต้านทานต่อโรคไหม้ระยะกล้าในภาคเหนือตอนบน

พันธุ์ กข103 (หอมชัยนาท 72) เป็นข้าวเจ้าหอม ไวต่อช่วงแสง อายุเบา ออกดอกช่วงประมาณกลางเดือนตุลาคม ศักยภาพให้ผลผลิต 875 กิโลกรัมต่อไร่ อะมิโลสต่ำ 17.3% คุณภาพการหุงต้มและรับประทานดี เมื่อหุงสุกแล้วได้ข้าวสวยนุ่ม เหนียว และมีกลิ่นหอม เมล็ดเรียวยาวมากกว่าพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 คุณภาพการสีดีมากสามารถผลิตเป็นข้าวสาร 100 เปอร์เซ็นต์ ชั้น 1 ได้

พันธุ์ กข105 (เจ้าพระยา 72) ข้าวเจ้าพื้นแข็ง ไม่ไวต่อช่วงแสง อายุเก็บเกี่ยว 100-110 วัน เมื่อปลูกโดย(หว่านน้ำตม) และ 110-116 วัน (ปักดำ) ต้นสูงประมาณ 112-122 เซนติเมตร ศักยภาพให้ผลผลิต 1,176 กิโลกรัมต่อไร่ ค่อนข้างต้านทานโรคขอบใบแห้งและเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ท้องไข่น้อย คุณภาพการสีดีมาก สามารถผลิตเป็นข้าวสาร 100 % ชั้น 1 ได้

พันธุ์ กข107 (พิษณุโลก 72) เป็นข้าวเจ้าพื้นแข็ง ไม่ไวต่อช่วงแสง อายุเก็บเกี่ยวสั้นเฉลี่ย 107 วัน (ฤดูนาปี) และ 108 วัน (ฤดูนาปรัง) เมื่อปลูกโดยวิธีปักดำ ศักยภาพให้ผลผลิต 1,070 กิโลกรัมต่อไร่ เป็นข้าวเจ้าพื้นแข็งหอม ให้สาร 2AP เท่ากับ 0.61 ppm คุณภาพเมล็ดทางกายภาพดี ท้องไข่น้อย คุณภาพการสีดี สามารถสีเป็นข้าวสาร 100 เปอร์เซ็นต์ ชั้น 1 ได้ ค่อนข้างต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ทนน้ำท่วมฉับพลันปานกลาง

พันธุ์ กข109 (หอมพัทลุง 72) ข้าวเจ้าพื้นนุ่ม มีกลิ่นหอม ไม่ไวต่อช่วงแสง อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 102 วัน (หว่านน้ำตม) 112 วัน (ปักดำ) ความสูงประมาณ 113 เซนติเมตร ศักยภาพการให้ผลผลิตสูง 1,086 กิโลกรัมต่อไร่ คุณภาพการหุงต้มและรับประทานดี เมื่อหุงสุกแล้วข้าวสวยนุ่มเหนียว มีปริมาณอะมิโลส15.06 เปอร์เซ็นต์ และมีกลิ่นหอม คุณภาพการขัดสีดีมาก ได้ข้าวเต็มเมล็ด และต้นข้าว 51.8 เปอร์เซ็นต์ และเป็นท้องไข่น้อย

พันธุ์ หอมหัวบอน35 (กระบี่ 72) เป็นข้าวไร่ ไวต่อช่วงแสง อายุวันออกดอก 50 เปอร์เซ็นต์ ช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ความสูงประมาณ 147 เซนติเมตร เป็นข้าวที่มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง ข้าวหุงสุกมีกลิ่นหอมเหมือนเผือก (2AP = 1.46 ppm) มีคุณภาพการหุงต้มและรับประทานดี มีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย คือ Gamma Oryzanol และ Total antioxidant ค่อนข้างสูง ค่อนข้างต้านทานโรคไหม้ใน ระยะกล้า

พันธุ์ กขจ1 (วังทอง 72) เป็นข้าวเจ้าจาปอนิกา ไม่ไวต่อช่วงแสง อายุเก็บเกี่ยว 98-113 วัน (ฤดูนาปี) และ 105-123 วัน (ฤดูนาปรัง) เมื่อปลูกโดยวิธีปักดำ สูงประมาณ 93 เซนติเมตร ศักยภาพการให้ผลผลิต 953 กิโลกรัมต่อไร่ ท้องไข่น้อยกว่าพันธุ์ ก.วก.1 และ ก.วก.2 คุณภาพการสีดีมาก คุณภาพการหุงต้มและรับประทานดี เนื้อสัมผัสข้าวสุกนุ่ม ต้านทานต่อโรคไหม้ได้ดีกว่าพันธุ์ ก.วก.1 และ ก.วก.2

พันธุ์ กขส1 (สะเมิง 72) ข้าวสาลี อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 89 วัน ต้นสูงประมาณ 90 เซนติเมตร ศักยภาพให้ผลผลิต 569 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์สะเมิง 2 และฝาง 60 คุณภาพของแป้งเหมาะสมสำหรับทำขนมปัง

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ https://www.prachachat.net/economy/news-1539814